เนื่องด้วยวันพยาบาลสากล (International Nurses Day) ประจำปี 2565 คณะพยาบาลศาสตร์ (School of Nursing) สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้ร่วมแชร์องค์ความรู้ผ่านการบรรยายพิเศษ ในงานประชุมวิชาการหัวข้อ “ก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงการเป็นพยาบาลผู้ประกอบการยุคใหม่ โอกาส และทางเลือก” จัดโดย สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมกับ คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่องวิชาชีพพยาบาล ชูเกียรติคุณงามความดีในหน้าที่และวิชาชีพอันเป็นประโยชน์อย่างมากต่อมนุษย์ และรำลึกถึง “มิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล” ผู้ให้กำเนิดประวัติการพยาบาลสากล อีกทั้งเพื่อเผยแพร่ความรู้ ความสำคัญของวิชาชีพพยาบาลแก่สาธารณะ แนวทางและความก้าวหน้า สมรรถนะของพยาบาลวิชาชีพ ที่สอดคล้องไปกับยุคแห่งนวัตกรรม เทคโนโลยี เสริมด้วยแนวคิด แนวทางในการสร้างโอกาสด้านการประกอบอาชีพอิสระ ธุรกิจด้านสุขภาพ อันเป็นทางเลือกหนึ่งต่อยอดทักษะทางวิชาการและวิชาชีพ ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการ โอกาสนี้ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิแวดวงพยาบาล และธุรกิจสุขภาพ ร่วมเป็นวิทยากรพิเศษคับคั่ง อาทิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันทนา ถิ่นกาญจน์ คณบดี สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี,ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล รองอธิการบดี ฝ่ายวิทยาศาสตร์สุขภาพ และ รักษาการคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์, ศาสตราจารย์ ดร. อารีวรรณ กลั่นกลิ่น รักษาการผู้อำนวยการงานวิจัยและนวัตกรรม และอาจารย์ประจำ คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และ ดร.จิรารัตน์ จันทวัชรากร รองผู้อำนวยสำนักบริการวิชาการ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านค้าปลีก สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ผ่านรูปแบบการสัมมนาออนไลน์ (ZOOM) โดยมีผู้เข้าสัมมนาเกือบ 300 คน จากหน่วยงานสาธารณสุข สถานพยาบาล วิทยากรพยาบาลที่เป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ และหน่วยงานด้านสุขภาพจากทั่วประเทศ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ซึ่งตรงกับวันพยาบาลสากลของทุกปี
ในการประชุมวิชาการได้กล่าวถึงคลื่นของดิสรัปชัน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การเกิดโรคระบาด ทำให้เกิดองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านสุขภาพรูปแบบใหม่ ทิศทางและโอกาสในการประกอบอาชีพอิสระจึงหลากหลายขึ้น ดังนั้นบุคลากรทางการพยาบาล จะเตรียมปรับตัวอย่างไรให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงนี้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันทนา ถิ่นกาญจน์ คณบดีสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี สุรนารี กล่าวในการบรรยายความรู้หัวข้อ การพยาบาลในยุค 5G ว่า “ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทด้านสุขภาพมากขึ้น อาทิ การวินิจฉัยโรค การดูแลผู้สูงอายุ งานวิจัย การอบรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วย ที่จะช่วยลดเวลา ลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง ลดความเสี่ยงการติดเชื้อ มีความยืดหยุ่น ทำให้การผิดนัดน้อยลง หรือพื้นที่ห่างไกลจะได้รับการบริการที่สะดวกขึ้น ในต่างประเทศมีการใช้เทเลเฮลท์ (Telehealth) เพื่อดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงการให้คำปรึกษาผ่านแอปพลิเคชัน หรือการใช้ระบบ Home Visit เยี่ยมผู้ป่วย จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่าเทคโนโลยีสุขภาพนั้นสำคัญ หากสถาบันการศึกษาเตรียมคนให้พร้อมตั้งแต่เริ่มต้น ก็จะสามารถปรับใช้กับการดูแลผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย สะดวกมากขึ้น อีกทั้งผู้รับบริการก็จะเกิดความพึงพอใจ”
ทางด้าน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล รองอธิการบดี ฝ่ายวิทยาศาสตร์สุขภาพ และ รักษาการคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวนำถึงวันพยาบาลสากลว่า มีความสำคัญอย่างยิ่ง นับเป็นโอกาสดียิ่งที่คณะพยาบาลศาสตร์ พีไอเอ็ม ได้จัดงานร่วมกับ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อขอบคุณพยาบาลวิชาชีพทุกคน โดยปีนี้มีคำขวัญว่า “A Voice to Lead – Invest in Nursing and respect rights to secure global health” (พลังพยาบาลเพื่อสิทธิและความมั่นคงของสุขภาพประชาคมโลก) จากนั้นเข้าสู่การบรรยายในหัวข้อ การเป็นพยาบาลผู้ประกอบการอิสระ โอกาส และทางเลือกของพยาบาลผู้ประกอบการอิสระ ว่าจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรมีความก้าวหน้า สาธารณสุขมีการพัฒนามากขึ้น อัตราการเกิดและอัตราการตายลดลง ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น จึงทำให้เกิดโอกาสและความท้าทายมากมาย ทำให้พยาบาลมีบทบาทสูงขึ้น รวมถึงการเกิดเฮลท์แคร์ ดิสรัปชั่น สถานการณ์โควิด พยาบาลก็ยังมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ถึงจะมีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ยังไม่สามารถทดแทนพยาบาลได้ ดังนั้นบทบาทใหม่ของพยาบาลในยุคดิสรัปชัน นอกเหนือจากประกอบงานวิชาชีพพยาบาลแล้วยังสามารถทำอาชีพอิสระอื่นๆ ได้ เช่น นักวิจัย นักวิชาการ หรือแม้กระทั่งผู้ประกอบการอิสระด้านสุขภาพ การเป็นเจ้าของธุรกิจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สร้างอาชีพ และคุณค่าให้กับวิชาชีพพยาบาล ซึ่งการมีความรู้ความสามารถของธุรกิจที่สนใจแล้ว ยังต้องอาศัยสมรรถนะที่พึงประสงค์ได้แก่ สมรรถนะด้านวิชาชีพ สมรรถนะด้านบริหารองค์กร สมรรถนะด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และสมรรถนะส่วนบุคคล ทั้งยังเสริมความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงของโลก & Healthcare Disruption และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเป็นพยาบาลผู้ประกอบการอิสระด้านสุขภาพ ให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เห็นโอกาส และเป็นแนวทางใช้วางแผนธุรกิจด้านนี้ได้แม่นยำมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์ ดร. อารีวรรณ กลั่นกลิ่น รักษาการผู้อำนวยการงานวิจัยและนวัตกรรม และอาจารย์ประจำ คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวถึง ก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงการเป็นพยาบาลยุคใหม่ แนวทางการประกอบการธุรกิจด้านสุขภาพมีแนวโน้มที่ดี มีการเติบโตมากขึ้น เช่น ธุรกิจสถานบริการผู้สูงอายุ ธุรกิจสถานบริการดูแลเด็ก ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจด้านความงาม ถือเป็นอีกความท้าทายของวิชาชีพพยาบาลยุคใหม่ ที่ต้องใช้ความรู้และทักษะทางพยาบาล ตลอดจนการวิเคราะห์สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางด้านสุขภาพ การวางแผนธุรกิจ ประยุกต์ให้เหมาะสมกับความสามารถของตนเอง
ดร.จิรารัตน์ จันทวัชรากร รองผู้อำนวยสำนักบริการวิชาการ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านค้าปลีก สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ให้ความรู้เกี่ยวกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของตลาดธุรกิจ แนวคิด และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเป็นผู้ประกอบการ “ก่อนเริ่มธุรกิจต้องเริ่มจากการประเมินตนเองก่อนว่าชอบอะไร มีไอเดียอย่างไร แล้วจึงวางแผน วางคอนเซ็ปท์ของตัวสินค้าหรือบริการ รวมทั้งคำนึงปัจจัยการทำธุรกิจ เช่น ต้นทุน รายได้ เครือข่าย และช่องทางต่างๆ จึงจะสามารถเริ่มต้นธุรกิจ จากนั้นค่อยๆ พัฒนาธุรกิจให้ต่อเนื่อง พร้อมแนะองค์ความรู้อื่นๆ อาทิ หลักการบริหาร คุณลักษณะของผู้ประกอบการ การวิเคราะห์ปัญหาและโอกาสของผู้ประกอบการ และแนวโน้มของการเป็นผู้ประกอบการในอนาคต เพื่อช่วยเสริมทักษะ และเตรียมความพร้อมให้กับพยาบาลได้ต่อยอดในสายอาชีพอื่นๆ”
สำหรับลำดับสุดท้ายของการสัมมนาคือการอภิปรายประสบการณ์การทำธุรกิจด้านสุขภาพ 3 มุม จาก 3 เจ้าของสถานประกอบการ ได้แก่ พว.อรนันท์ อุดมภาพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบทเทอร์ เฮลท์แคร์ โซลูชั่นส์ จำกัด ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ นวศรีเนอร์สซิ่งโฮม, คุณศศิวิมล สิงหเนตร Foundation & Happy Director มีสุข โซไซตี้ บริษัท มีสุข (ประเทศไทย) อสังหาริมทรัพย์เพื่อผู้สูงอายุ และเนิร์สซิ่งโฮม และดร.สิปปสินี บาเรย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบาเรย์เวลเนส (Ba-Rhey Academy) โรงเรียนสอนนวด สปา เพื่อสุขภาพ แชร์ความท้าทายที่เปลี่ยนจากพยาบาลสู่การเป็นผู้ประกอบการ โดยแนะให้ผู้ที่อยากเริ่มต้นธุรกิจ ลงทุนด้วยการศึกษาหาความรู้ ฝึกฝนทักษะใหม่เพิ่มเติม มีความเข้าใจธุรกิจอย่างถ่องแท้ สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ และประกอบอาชีพอยู่ในจรรยาบรรณของพยาบาล รู้เท่าทันกฎหมาย พร้อมเผยเคล็ดลับความสำเร็จคือการทำงานร่วมกับอีกหลายๆ อาชีพ ให้มองทุกคนเป็นฟันเฟืองสำคัญขององค์กร ต้องพึ่งพาอาศัยความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่ายเพื่อคุณภาพของการบริการ ปิดท้ายด้วยการฝากถึงระบบการศึกษาที่ต้องช่วยหาตัวตนของนักศึกษาด้วยว่าชอบอะไร มีการวางอนาคตไว้อย่างไร ต้องช่วยดึงความสนใจของเขาออกมา ผลักดันให้ได้ค้นหาโอกาส เรียนรู้กับประสบการณ์อื่นๆ ที่มากกว่าในห้องเรียน
โดยสรุปพยาบาลเปรียบเสมือนหัวใจของการดูแลสุขภาพ จำเป็นต้องพัฒนาตนเองทั้งความรู้และทักษะการบริหารจัดการด้านต่างๆ ตลอดจนการวางแผนชีวิต เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์อุตสาหกรรมสุขภาพที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ การประกอบอาชีพอิสระหรือการเป็นผู้ประกอบการอย่างมีความสุข จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจวางแผนชีวิตรองรับเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต