ธุรกิจขนส่ง-คลังสินค้าแช่แข็ง ขึ้นแท่นดาวรุ่ง รายได้รวมทะลุหมื่นล้าน 3 ปีติด

กรมพัฒน์เผยอานิสงส์ส่งออกสินค้าแช่แข็งไทยโตต่อเนื่อง ดันธุรกิจขนส่งและคลังสินค้าแช่แข็งของไทยโตสวนกระแสราคาน้ำมันผันผวน รายได้รวมทะลุ 1 หมื่นล้านบาทต่อเนื่อง 3 ปี ขึ้นแท่นธุรกิจดาวเด่นที่ผู้ประกอบการทั้งไทยและเทศสนใจลงทุนลำดับต้น ๆ

สินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา (ปี 2563-2564) ประเทศไทยมีการส่งออกผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และอาหารทะเลแช่แข็ง มูลค่าสูงถึง 2.10 แสนล้านบาท และ 2.78 แสนล้านบาท ตามลำดับ รวมทั้ง ไตรมาสแรกของปี 2565 (มกราคม – มีนาคม) มีมูลค่า 3.82 หมื่นล้านบาท ตัวเลขการส่งออกสินค้าดังกล่าวที่เพิ่มสูงขึ้น ช่วยผลักดันให้ธุรกิจขนส่งและคลังสินค้าแช่แข็งของไทยเติบโตขึ้นตามไปด้วย

สินิตย์ เลิศไกร
สินิตย์ เลิศไกร

โดยธุรกิจขนส่งและคลังสินค้าแช่แข็งมีรายได้รวมเพิ่มสูงขึ้นเกิน 1 หมื่นล้านบาท ต่อเนื่องกัน 3 ปี คือ ปี 2561 มีรายได้รวม 1.04 หมื่นล้านบาท (กำไรสุทธิ 5.88 ร้อยล้านบาท) ปี 2562 จำนวน 1.19 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 14.76%) (กำไรสุทธิ 6.09 ร้อยล้านบาท) และ ปี 2563 จำนวน 1.25 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 4.53%) (กำไรสุทธิ 7.98 ร้อยล้านบาท)

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2565) มีธุรกิจขนส่งและคลังสินค้าแช่แข็งที่ดำเนินกิจการอยู่ จำนวนทั้งสิ้น 376 ราย คิดเป็น 0.05% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ มูลค่าทุน 1.18 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.06% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) มากที่สุด จำนวน 322 ราย (85.63%) ธุรกิจขนาดกลาง (M) จำนวน 48 ราย (12.77%) และธุรกิจขนาดใหญ่ (L) จำนวน 6 ราย (1.60%)

ธุรกิจขนส่งและคลังสินค้าแช่แข็ง ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของคนไทย มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 1.10 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 93.40% ของการลงทุนในธุรกิจทั้งหมด ขณะที่การลงทุนจากต่างชาติสูงสุด คือ ญี่ปุ่น มูลค่า 5.99 ร้อยล้านบาท (5.08%) รองลงมา คือ จีน มูลค่า 8.34 สิบล้านบาท (0.71%) มาเลเซีย มูลค่า 6.14 สิบล้านบาท (0.52%) และอื่น ๆ มูลค่า 3.45 สิบล้านบาท (0.29%)

ช่วงระหว่าง ปี 2561 – 2565 มีจำนวนธุรกิจขนส่งและคลังสินค้าแช่แข็งจัดตั้งใหม่ คือ ปี 2561 จัดตั้งจำนวน 32 ราย ทุน 1.32 ร้อยล้านบาท ปี 2562 จำนวน 27 ราย ทุน 0.66 ร้อยล้านบาท ปี 2563 จำนวน 31 ราย ทุน 1.93 ร้อยล้านบาท ปี 2564 จำนวน 48 ราย ทุน 1.23 ร้อยล้านบาท และ ปี 2565 (มกราคม-เมษายน) จำนวน 24 ราย ทุน 2.78 สิบล้านบาท

เมื่อพิจารณาจำนวนการจัดตั้งของธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจขนส่งและคลังสินค้าแช่แข็ง คือ ธุรกิจผลิตภัณฑ์ปลา สัตว์น้ำ ผัก ผลไม้ และอาหารปรุงสำเร็จแช่แข็ง มีแนวโน้มเติบโตเช่นกัน โดยในปี 2564 มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจ 50 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 42.86% การเติบโตของธุรกิจผลิตภัณฑ์ปลา สัตว์น้ำ ผัก ผลไม้ และอาหารปรุงสำเร็จแช่แข็ง ถือเป็นปัจจัยบวกที่จะส่งผลให้ธุรกิจขนส่งและคลังสินค้าแช่แข็งเติบโตด้วยเช่นกัน

ธุรกิจขนส่ง-แช่แข็งขึ้นแท่นดาวรุ่ง

ธุรกิจขนส่งและคลังสินค้าแช่แข็ง ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นผลมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การทำงานที่บ้าน (Wok from Home) ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาเลือกซื้ออาหารแช่แข็งเพื่อนำไปปรุงอาหารรับประทานที่บ้านมากขึ้น เนื่องจากมีความสะดวก สามารถเก็บรักษาได้นาน และลดความเสี่ยงจากการไปซื้อของสดในพื้นที่แออัด อีกทั้ง ผู้ประกอบการหลายรายหันมาออกผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง หรืออาหารแช่แข็งพร้อมทานมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป สะท้อนให้เห็นถึงโอกาส ความท้าทาย และความต้องการบริการในด้านการขนส่งและคลังสินค้าแช่แข็ง

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ