ภาพโดย Bellergy RC จาก Pixabay
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมของการหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – สหราชอาณาจักร ครั้งที่ 4 (4th Session of Thailand – United Kingdom Strategic Dialogue: SD) ซึ่งจะมีการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร โดยสหราชอาณาจักรเป็นเจ้าภาพ
สำหรับร่างแถลงการณ์ร่วมฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง ในการส่งเสริมและขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศในสาขาต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน อาทิ
1. ด้านการต่างประเทศ อาทิ 1)จัดทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตระหว่างสองประเทศ 2)ประสานงานกันอย่างใกล้ชิดผ่านเวทีพหุภาคี
2. ด้านเศรษฐกิจ เช่น 1) ร่วมมือกันจัดการกับอุปสรรคทางการค้า 2) พัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางการค้าระดับสูง (Enhanced Trade Partnership: ETP) ซึ่งเป็นการวางรากฐานสู่การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) และ 3) รับทราบแผนการขยายความร่วมมือทางวิชาการในสาขาการเงิน
3. ด้านความมั่นคง เช่น 1) จัดบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร 2) ความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงทางทะเลของทั้งสองประเทศ เพื่อปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยของท่าเรือพาณิชย์หลักของไทย
4. ด้านสาธารณสุข อาทิ พัฒนาข้อเสนอการจัดทำตราสารระหว่างประเทศว่าด้วยโรคระบาดผ่านกลไกการเจรจาระหว่างรัฐภายใต้องค์การอนามัยโลก และความร่วมมือด้านสาธารณสุขในสาขาต่าง ๆ
5. ด้านการศึกษา อาทิ ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนด้านการอุดมศึกษา โดยแลกเปลี่ยนการวิจัยระหว่างกัน
6. ด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ 1) ร่วมกันหาแนวทางจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) 2) สหราชอาณาจักรสนับสนุนไทยในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2065
7. ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและดิจิทัล อาทิ สนับสนุนความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาคเอกชน สถาบันวิจัย และสถาบันอุดมศึกษา เพื่อแลกเปลี่ยนและพัฒนาขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Science Technology and Innovation: STI)
8. ด้านอาเซียน อาทิ กระชับความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับสหราชอาณาจักร และร่วมกันทำงานเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติต่อวิกฤตในเมียนมา
ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์