ซีพี ออลล์-เซเว่น จับมือ 10 บริษัทพันธมิตรต่อยอดโครงการต้นกล้าไร้ถัง ร่วมจัดการขยะตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เตรียมขยายผลสู่ CONNEXT ED 5,567 โรงเรียนทั่วประเทศ
ซีพี ออลล์-เซเว่น อีเลฟเว่น ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับ 10 องค์กร ประกอบด้วย 1.บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC 2.บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP 3.บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด (Unilever) 4.บริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อค จำกัด 5.บริษัท ไทย เบเวอร์เรจ แคน จำกัด 6.บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด 7.กลุ่มอำพลฟูดส์ (AMPOLFOOD Group) 8.บริษัท สถานีรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์สุวรรณภูมิ จำกัด 9.บริษัท อีโค่ เฟรนด์ลี่ ไทย จำกัด และ 10.วัดจากแดง ร่วมเป็นสมาชิกภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง สร้างระบบนิเวศการจัดการขยะครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ
นายประสิทธิ์ ฉกาจธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสำนักกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า สำหรับภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง เกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นขยายผลความสำเร็จโครงการต้นกล้าไร้ถังของโรงเรียนอนุบาล ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ภายใต้โครงการ CONNEXT ED ที่ซีพี ออลล์ ดูแล ซึ่งสามารถช่วยกันปลูกฝังเยาวชนในโรงเรียนให้ช่วยกันลด ละ เลิก การใช้สิ่งที่สามารถกลายมาเป็นขยะ คัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง นำสิ่งที่คนมองว่าเป็นขยะมารียูส รีไซเคิล จัดการเป็นวัสดุอินทรีย์ สร้างรายได้กลับสู่โรงเรียน จนสามารถลดปริมาณขยะจากเดือนละ 15 ตัน เหลือเพียงเดือนละ 2 กิโลกรัม
ที่ผ่านมาได้มีการขยายเครือข่าย ให้โรงเรียน CONNEXT ED นำไปปฏิบัติแล้วจำนวน 2 รุ่น หรือมากกว่า 153 โรงเรียน กำลังขยายสู่รุ่นที่ 3 ในปีนี้เพิ่มอีก 47 โรงเรียน รวมถึงมีโรงเรียนและชุมชนนอก CONNEXT ED อีก 243 แห่ง
ขณะที่การขยายเครือข่ายไปยังฝั่งเอกชนในครั้งนี้ นับเป็นการรวบรวมผู้เกี่ยวข้องในระบบนิเวศการจัดการขยะเข้าด้วยกันอย่างครบวงจร ประกอบด้วย
1.กลุ่มผู้ให้ความรู้ เช่น ซีพี ออลล์และโรงเรียนอนุบาลทับสะแก ทำหน้าที่สนับสนุนงบประมาณ ประสานหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน สร้างความเข้าใจในแนวการปฏิบัติ เผยแพร่องค์ความรู้ ให้แนวทางการจัดหลักสูตรท้องถิ่น “ต้นกล้าไร้ถัง” สนับสนุนวิทยากรถ่ายทอดแก่ผู้สนใจ
2.กลุ่มผู้ลงมือปฏิบัติ ได้แก่ โรงเรียนและชุมชนในภาคี ร่วมขับเคลื่อนการคัดแยกวัสดุรีไซเคิลออกจากขยะในโรงเรียน ชุมชนของตัวเอง ทำความสะอาดวัสดุ รวบรวมจัดส่งวัสดุเข้าสู่กระบวนการปลายทาง
3.กลุ่มผู้รับจัดส่งวัสดุและบันทึกข้อมูล ได้แก่ บริการ Speed-D ของเซเว่น อีเลฟเว่น ทำหน้าที่ตัวกลางในการจัดส่งวัสดุให้สมาชิกภาคีไปยังโรงงานรีไซเคิลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และเว็บแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” (KoomKah) ของ SCGC ดิจิทัลโซลูชันที่เข้ามาช่วยบริหารจัดการข้อมูลให้ธนาคารขยะอย่างมีประสิทธิภาพ
เว็บแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” (KoomKah) จะช่วยบันทึกปริมาณน้ำหนักวัสดุแต่ละชนิด แปลงค่าออกมาเป็นคะแนน และจำนวนเงิน พร้อมเก็บข้อมูลผู้ฝาก (สมาชิกธนาคาร) ผู้รับซื้อ (ซาเล้ง ร้านค้าย่อย ร้านค้าใหญ่) ประวัติการฝาก รวมถึงคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนไดออกไซด์) ที่ลดลงจากการรีไซเคิล เพื่อสะท้อนผลลัพธ์การจัดการ สู่กลุ่มภาคีเครือข่ายและสังคมเพื่อรับรู้ถึงความก้าวหน้าในโครงการต่อไป
4.กลุ่มผู้รีไซเคิล ได้แก่ อีโค่ เฟรนด์ลี่ ไทย, SCGC และ SCGP ทำหน้าที่รับซื้อ รีไซเคิล หรืออัปไซเคิลวัสดุที่ตัวเองมีความเชี่ยวชาญ เช่น กล่องยูเอชที กระดาษ ถุงนมโรงเรียน กระป๋อง ไปเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ แล้วส่งกลับไปให้โรงเรียนต่างๆ นำไปใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง
5.กลุ่มผู้รวบรวมจัดเก็บ ได้แก่ วงษ์พาณิชย์ และวัดจากแดง ทำหน้าที่รับซื้อ รับแลกวัสดุประเภทพลาสติก ขวดพลาสติก เศษอาหาร เพื่อนำไปจำหน่ายต่อ รียูส หรือแปรรูปลักษณะอื่นต่อไป
6.กลุ่มเจ้าของผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ยูนิลีเวอร์ และกลุ่มอำพลฟูดส์ ทำหน้าที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและลูกค้า พร้อมสนับสนุนสินค้าบริโภคอุปโภคและงบประมาณเพื่อให้เกิดกระบวนการในการใช้ประโยชน์ หรือแปรรูปวัสดุประเภทพลาสติกหลายชั้น และขวดพลาสติกประเภท HDPE ซึ่งแต่เดิมไม่มีการรับซื้อจากหน่วยรับซื้อ
7.กลุ่มผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ได้แก่บริษัท ไทย เบเวอร์เรจ แคน จำกัด ผู้ผลิตกระป๋องอลูมิเนียม, เอส ไอ จี คอมบิบล็อค และเต็ดตรา แพ้ค ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องเครื่องดื่ม ทำหน้าที่ประสานงานกลุ่มบริษัทองค์กรต่างๆ รวมถึงสนับสนุนองค์ความรู้ เทคนิค วิธีการ และทรัพยากรเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการในการจัดเก็บ รวบรวม ส่งต่อ และแปรรูปวัสดุรีไซเคิลไปยังปลายทางให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการนำกลับมาหมุนเวียนใช้ซ้ำ
“ความร่วมมือและการขยายภาคีครั้งนี้นำไปสู่การสร้าง 3 อย่าง คือ 1.ภาคีเครือข่ายด้านการจัดการขยะที่แข็งแกร่งที่สุด 2.ระบบนิเวศการจัดการขยะที่ครบวงจรที่สุด และ 3.Green Learning Network ที่รวบรวมทั้งนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน คนในชุมชน มาเรียนรู้ด้านการจัดการขยะร่วมกัน
เราตั้งเป้าว่าจะเจรจากับพันธมิตร CONNEXT ED รายอื่นๆ ขยายผลการจัดการขยะตามโมเดลต้นกล้าไร้ถังไปสู่โรงเรียน CONNEXT ED ทั้งหมด 5,567 โรงเรียน และเปิดให้โรงเรียนและชุมชนอื่นๆ ที่สนใจมานำโมเดลไปใช้ ลดปริมาณขยะและมลภาวะอย่างยั่งยืนทุกพื้นที่ทั่วประเทศตั้งแต่ต้นทาง โดยซีพี ออลล์ จะช่วยเป็นแกนกลาง สนับสนุนงบประมาณ และประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง” นายประสิทธิ์กล่าว
ผุดแอปฯ คุ้มค่า แปลงขยะเป็นเงิน
ด้านนายนิวัฒน์ อธิวัฒนานนท์ Technology & Product Development Director บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า ภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง ถือเป็นการสร้างระบบนิเวศการจัดการขยะที่สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดย SCGC จะเข้ามาช่วยดำเนินการใน 2 ส่วน ได้แก่
1.เว็บแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” (KoomKah) เพื่อให้ทุกโรงเรียนสามารถเห็นผลลัพธ์การจัดการของตัวเอง พร้อมทั้งสะสมคะแนน แปลงขยะกลับมาเป็นเงินหรือผลิตภัณฑ์รีไซเคิลผ่านการแลกคะแนนได้ กระตุ้นให้โรงเรียนมีส่วนร่วมจัดการขยะผ่านประโยชน์ที่ได้รับ
2.โครงการถุงนมกู้โลก ที่ผ่านมาถุงนมโรงเรียน เป็นขยะที่ไม่มีผู้รับซื้อจึงถูกกำจัดด้วยการฝังกลบ ทาง SCGC ได้ให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะแก่เยาวชน พร้อมร่วมแก้ปัญหาการจัดการขยะกับทางโรงเรียนนำร่องที่ จ.ระยอง โดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านวัสดุและกระบวนการรีไซเคิล เปลี่ยนถุงนมให้เป็นเม็ดพลาสติกที่มีคุณภาพ นำไปใช้ผลิตเป็นของใช้ต่าง ๆ ได้อีกครั้ง เช่น เก้าอี้พลาสติกรีไซเคิล กระถางต้นไม้ ให้โรงเรียนได้นำไปใช้ประโยชน์และเยาวชนได้เห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม พร้อมขยายผลกับเครือข่ายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป
แปรรูปกล่องนม-เครื่องดื่ม
นางสาวรัตนศิริ ติลกสกุลชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กล่องนม และกล่องเครื่องดื่ม UHT นับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ในโรงเรียนและชุมชน โดย เต็ดตรา แพ้ค ในฐานะผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องเครื่องดื่ม วางเป้าหมายการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างเหมาะสมและยั่งยืน ตั้งแต่การออกแบบ จัดหาวัสดุอย่างรับผิดชอบ ไปจนถึงเมื่อสิ้นสุดการใช้งาน เพราะบริษัททราบดีว่ากล่องใช้แล้วเหล่านี้ เป็นวัตถุดิบที่มีค่าและสามารถนำมารีไซเคิลสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นประโยชน์ได้
โครงการนี้ ได้เปิดโอกาสให้บริษัทได้ทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และบรรจุภัณฑ์ เพื่อสนับสนุนและเพิ่มศักยภาพของโรงงานรีไซเคิล ในการรับซื้อกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วเพื่อนำไปแปรรูปเป็นแผ่นหลังคา อิฐบล็อค หรือแผ่นไม้เทียม สำหรับทำเป็นโต๊ะ เก้าอี้นักเรียนได้ เต็ดตรา แพ้ค
นายสมยศ วัฒน์พานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีโค่ เฟรนด์ลี่ ไทย จำกัด กล่าวว่า การรับซื้อกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วให้กลับเข้ามาสู่กระบวนการรีไซเคิลภายใต้โครงการนี้ ยังเป็นการเพิ่มปริมาณวัตถุดิบให้สอดคล้องกับกำลังการผลิตของโรงงานรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มของบริษัท ซึ่งในปัจจุบันพบว่าปริมาณวัตถุดิบมีไม่เพียงพอต่อกำลังการผลิต โดยกล่องที่รวบรวมได้เพื่อใช้ในการผลิตมีปริมาณเพียง 100 ตันต่อเดือน ในขณะที่มีความต้องการกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วเพื่อนำกลับมาใช้ในการรีไซเคิลจำนวนมาก อย่างน้อย 500 ตันต่อเดือน
ที่มา ซีพี ออลล์