“ในการทำธุรกิจสิ่งที่หลายคนมองคือการสร้างผลกำไรและการเติบโต แต่ทุก ๆ Economy footprint ส่งผลกระทบอื่น ๆ ตามมาด้วยเช่นกัน ทุกธุรกิจต้องการพลังงาน ใช้ทรัพยากร ทุกคนอยากผลิตมากขึ้น บริโภคมากขึ้น ขณะที่โลกนี้ใบเท่าเดิม โจทย์ใหญ่ที่ทุกคน ทุกองค์กรต้องหันมาให้ความสำคัญ คือ เราจะส่งมอบโลกใบนี้ให้คนรุ่นต่อ ๆ ไปด้วยสภาพใด” ดร. ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนองค์กร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น
ส่วนหนึ่งจากการพูดคุยกับหัวเรือใหญ่ด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนขององค์กรระดับประเทศอย่าง “ทรู” ถึงประเด็นปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม Climate change ไปจนถึงเรื่องการขับเคลื่อนองค์กรด้วยความยั่งยืน
ด้วยขนาดขององค์กรทำให้ทุก ๆ Movement สร้างแรงกระเพื่อมทั้งในอุตสาหกรรมและในสังคม ประกอบกับทิศทางการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งยืนยันด้วยการลงมือทำที่เห็นชัด ทำให้ Marketeer สนใจและอยากพูดคุยถึงมุมมองเรื่องโลกร้อน รวมถึงแนวทางการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืนของทรู
Global Challenges ความท้าทายของโลก
นอกจากประโยคข้างต้นแล้ว ดร. ธีระพล เล่าถึงมุมมองของทรูต่อปัญหาเรื่องโลกร้อนและความยั่งยืนว่า
“พฤติกรรมของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของปัจเจกบุคคลหรือธุรกิจองค์กรต่างต้องใช้ทรัพยากร และใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งถ้าจะให้มีทรัพยากรเพียงพอต่อการใช้งานของมนุษย์ในปัจจุบันเราต้องมีโลกถึง 5 ใบ และหากให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคตอาจต้องมีถึง 10 ใบ”เพราะฉะนั้นเราต้องมีความรับผิดชอบที่จะส่งมอบโลกที่มีเพียงใบเดียวนี้ให้กับคนรุ่นต่อไป องค์กรเอกชนเองคือกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ ผ่านการดำเนินธุรกิจ เพื่อลดผลกระทบจาก Global Challenges หรือความท้าทายที่เกิดขึ้นกับโลก โดยคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ผู้นำของทรู ได้สรุปผลกระทบดังกล่าวเป็น 3 หัวข้อใหญ่ คือ
Inclusive Capital เรื่องความเหลื่อมล้ำและโอกาสในการเข้าถึง อย่างการใช้พลังงานที่ในทุกวันนี้ที่ส่วนใหญ่จะเป็น Unfair Utilization คนหนึ่งใช้มากคนหนึ่งใช้น้อย บางคนเข้าไม่ถึงเลย หรือเรื่องการศึกษาที่ประเทศไทยมีนักเรียนยากจนเพิ่มขึ้นทุกปี ทรูเองมีโอกาสได้รับรู้ปัญหามากมาย และเมื่อย้อนกลับไปดูรากฐานของปัญหา คือเรื่องการศึกษา ทำให้ทรูส่งเสริมเรื่องการศึกษาในด้านต่าง ๆ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่สร้างช่องทางการเข้าถึงการศึกษา สร้างเครื่องมือ อย่าง Vlearn นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการสื่อสารดิจิทัล รวมทั้งสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ให้กับเยาวชนที่อยู่ห่างไกล
Digital Transformation ความยั่งยืนในด้านนี้หมายรวมถึงความปลอดภัยในข้อมูลส่วนตัวของแต่ละบุคคล ปัจจุบันมีการขโมยข้อมูลส่วนตัวมีความถี่และความรุนแรงมากยิ่งขึ้น สร้างมูลค่าความสูญเสียสูง และส่งผลกระทบทั่วโลก ในเรื่องนี้ทรูเองมีการยกระดับความปลอดภัยข้อมูลของลูกค้าที่เราดูแล ในทางกลับกัน Digital Transformation ได้สร้างโอกาสและรายได้ให้กับหลายคน ตั้งแต่ Social Commerce ไปจนถึงการสร้าง Asset ใหม่ที่เรียกว่า NFT เราก็มีส่วนเข้าไปสนับสนุนตรงนั้น
Sustainability/Climate Change ความยั่งยืนไม่ใช่ทำ CSR แต่เป็นการสร้างความยั่งยืนตลอดทั้ง Value Chain ทรูเองอยู่ในธุรกิจดิจิทัลและเทคโนโลยี เรามีการตรวจสอบย้อนกลับไปตาม Value Chain ผลิตภัณฑ์หรือบริการมาจากแหล่งที่มาที่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ตลอดห่วงโซ่นั้นสร้างหรือลด Carbon Footprint มากน้อยเพียงใด ขณะที่คุณศุภชัยก็ได้ประกาศชัดเจนว่า ทรูจะก้าวสู่การเป็นองค์กร Carbon Neutral ภายในปี 2573
3 เป้าหมายด้านความยั่งยืนในปี 2573 ของกลุ่มทรู
HEART: LIVING RIGHT เรื่องการทำธุรกิจ มีการกำกับกิจการที่ดี 100% ให้ความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงาน ส่งเสริมด้านการศึกษาลดความเหลื่อมล้ำ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะช่วยให้ได้ 36 ล้านคน ส่งเสริมศักยภาพและความเป็นผู้นำของพนักงาน ตลอดจนการป้องกันรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์
HEALTH: LIVING WELL เรื่องสังคม เราเป็นองค์กร Tech company นวัตกรรมเทคโนโลยีที่มีไม่ใช่แค่ช่วยองค์กรได้อย่างเดียว เราสามารถช่วยคนอื่นสร้างคุณค่าทางสังคมด้วย โดยตั้งเป้าสร้างงานและส่งเสริมรายได้ให้เกษตรกรผู้ประกอบการรายย่อยและกลุ่มเปราะบางตลอดห่วงโซ่อุปทาน 500,000 ราย มีการเพิ่มจำนวนสิทธิบัตรพร้อมดูแล Stakeholder รวมถึงการทำให้ลูกค้ามั่นใจว่าเครือข่ายของเราพร้อมให้บริการตลอดเวลา
HOME: LIVING TOGETHER เป้าหมายสำคัญคือ เรื่อง Carbon Neutral คือการที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นศูนย์ และ Zero Waste การดูแลเรื่องของขยะนำกลับมารีไซเคิล การดูแลทรัพยากรน้ำ ตลอดจนการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบ
พูดให้เห็นภาพทั้ง 3 เป้าหมายความยั่งยืนของทรูคือเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมนั่นเอง เมื่อถามต่อว่าแล้วทรูจะทำอย่างไรให้เป้าหมายดังกล่าวสำเร็จลุล่วง ดร. ธีระพลบอกว่า แนวทางในการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนของทรู สรุปให้ง่ายมี 5 เรื่อง คือ Transparency, Market Mechanism, Leaders & Talents, Empowerment และInnovation & Tech
ความท้าทายของการสร้างความยั่งยืน
ดร. ธีระพล อธิบายว่า “ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกที่ Dynamic มากขึ้นทุกวัน มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความท้าทายคือ องค์กรธุรกิจสามารถปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงทีหรือมากน้อยแค่ไหน อย่าง 2-3 ปีที่ผ่านมาเทรนด์ผู้บริโภคและนักลงทุนต่างให้ความสนใจเรื่อง ESG มากขึ้น จากผลสำรวจของ PWC พบว่า 68% ของผู้บริโภค ซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทมีความรับผิดชอบต่อสังคม 3 ใน 4 ของผู้บริโภคเลือกบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะที่ 79% ของนักลงทุนคำนึงถึง ESG ในการตัดสินใจลงทุน และ 68% มองว่าควรนำผลการดำเนินงานด้าน ESG ประกอบการพิจารณาค่าตอบแทนผู้บริหาร”
อีกหนึ่งประเด็นคือ ทุกธุรกิจมีส่วนทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องรับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น ความท้าทายคือทำอย่างไรที่จะดำเนินธุรกิจโดยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
“เรื่องพวกนี้เป็นความท้าทายขององค์กร เพราะเป็นสิ่งที่ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งพนักงาน คู่ค้า พันธมิตร ตลอดจนผู้บริโภคเอง ทรูผลักดันในทุกมิติตั้งแต่ภายในอย่างการปลูกฝังพนักงานด้วยการมีต้นแบบของผู้นำที่ชัดเจน ไปสู่ภายนอกผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ (Carbon Neutral) ในปี 2573 ได้สำเร็จ”
ยกตัวอย่างแคมเปญต่าง ๆ ของทรู ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% (เป้าหมายปี 2573), ติดตั้งโซลาร์เซลล์ 3,481 แห่ง ลดปริมาณ CO2 ได้ 12,570 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า, จัดทำ Internal Carbon Pricing, True e-Bill & True e-Tax (Paperless) ลดการใช้กระดาษ 213 ล้านแผ่น ลดปริมาณ CO2 2,242 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และแอปพลิเคชัน We Grow ปลูกต้นไม้ร่วมกับชุมชนและสังคม 6.18 ล้านต้น (ปี 2559- 2564) ดูดซับ CO2 มากกว่า 250,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เป็นต้น
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวของทิศทางและการลงมือทำเรื่องความยั่งยืนที่ชัดเจนของทรู ซึ่งสะท้อนความสำเร็จด้วยรางวัลต่าง ๆ เช่น การจัดอันดับด้านความยั่งยืน DJSI คะแนนสูงสุดที่ 1 ของโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 (ปี 2561-2564) สมาชิกดัชนีความยั่งยืนระดับโลก FTSE4GOOD ผู้นำ 5G ระดับโลกด้านการใช้งาน 5G เครือข่ายยอดเยี่ยมที่ดีที่สุดในประเทศไทยจาก NPerf นายจ้างดีเด่นประจำประเทศไทย SET Sustainability Award และหุ้นยั่งยืน THSI ประจำปี 2564 และองค์กรธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (LCSi) เป็นต้น
“ทรู ต้องการทำเรื่องความยั่งยืนให้ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ สอดคล้องกับแนวทางด้าน 3 ประโยชน์เช่นเดียวกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ คือ เราต้องทำประโยชน์ ให้กับประเทศ ประชาชน และสุดท้ายองค์กรก็จะได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน” ดร. ธีระพล กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา Marketeer