ข้อจำกัดเรื่องเงินท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจทำให้ชาวอังกฤษต้องใช้จ่ายทุกอย่าง รวมไปถึงการซื้อหาอาหารรอบคอบขึ้น จนส่งผลดีต่อยอดขายอาหารที่เก็บได้นาน
Sainbury’s ซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ของอังกฤษเผยว่า ยอดขายอาหารแช่แข็งและอาหารกระป๋องเพิ่มขึ้นมา ตามพฤติกรรมการจับจ่ายและบริโภคอาหารของคนในประเทศที่เปลี่ยนไป หันมาซื้อซื้อของเน้นของราคาย่อมเยากันมากขึ้น ในยุควิกฤตเศรษฐกิจที่ต้องใช้จ่ายกันอย่างประหยัด
ปัจจุบันเศรษฐกิจอังกฤษกำลังเผชิญทัพปัจจัยลบ เช่น ปัญหาราคาน้ำมัน วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน และภาวะเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 40 ปี นี่ทำให้ราคาข้าวของเครื่องใช้แทบทุกอย่างแพงขึ้น แต่เงินเดือนยังเท่าเดิม
สื่ออังกฤษรายงานว่าปัจจัยลบเหล่านี้ดันราคาอาหารให้แพงขึ้นมากสุดในรอบ 13 ปี โดยตลอดปีนี้เงินที่ชาวอังกฤษต้องใช้ไปกับการซื้ออาหารจะเพิ่มขึ้นมารวม 380 ปอนด์ (ราว 16,000 บาท)
ด้านบรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ตอังกฤษให้ข้อมูลตรงกันว่ากลุ่มสินค้าที่ทางห้างผลิตเองและมีขายเฉพาะในห้างของตัวเอง (Own brand) ซึ่งราคาถูกกว่าทำยอดขายได้เพิ่มขึ้น
ล่าสุด Sainbury’s ซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ของอังกฤษ ยังมีการเผยข้อมูลน่าสนใจยุคข้าวยากหมากแพงเพิ่มเติม โดยล่าสุด Sainbury’s เผยว่า ยอดขายอาหารแช่แข็ง เช่น ไก่แช่แข็ง เพิ่มขึ้น 12%
ส่วนอาหารเก็บได้นานและกินสะดวก เช่น ถั่วกระป๋องและพาสต้าพร้อมปรุง ยอดขายก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
Simon Robert–CEO ของ Sainbury’s กล่าวว่า ผู้บริโภคต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด พิจารณาให้รอบคอบและคิดล่วงหน้าทุกมื้อว่าจะกินอะไร จึงทำให้อาหารแช่แข็งที่เก็บไว้นานและราคาถูกเป็นที่นิยมขึ้นมา นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้บริโภคใช้ทุกช่องทางที่มี เช่น สื่อออนไลน์และ Smartphone ที่ใช้อยู่ ในการเปรียบเทียบก่อนซื้ออีกด้วย
Simon Robert
ด้าน Mike Watkins ประธานฝ่ายข้อมูลค้าปลีกของบริษัทสำรวจข้อมูลตลาดและความคิดเห็น Nielsen ประจำสาขาในกลุ่มประเทศสหราชอาณาจักร (UK) ให้ทัศนะว่า ชาวอังกฤษและ UK ต้องใช้ทุกเพนนี ทุกปอนด์ กันอย่างระมัดระวัง จากปัญหาค่าครองชีพจึงทำให้สินค้าราคาถูกทุกประเภทขายดี และห้างไหนที่มีของราคาถูกกว่าจึงมีลูกค้ามากกว่า
ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ถือเป็นการย้ำว่า ไม่ว่าผู้บริโภค บริษัทต่าง ๆ และธุรกิจค้าปลีกในอังกฤษล้วนต้องปรับตัว ในยุคข้าวยากหมากแพง
ผู้บริโภคก็ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด หาเงินจากช่องทางต่าง ๆ มาจับจ่ายใช้สอย โดยหากรายได้ไม่เพิ่มขึ้นก็ต้องระวังไม่ให้เป็นหนี้เพิ่ม เหมือนกรณี คนรุ่นใหม่ชาว UK ติดกับดักหนี้จากแพลตฟอร์ตซื้อก่อนผ่อนจ่ายทีหลัง (BNPL)
ฝ่ายบริษัทก็ต้องใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็น พยายามเต็มที่เพื่อรั้งตัวพนักงานไว้และช่วยเหลือพวกเขาในเรื่องค่าครองชีพ โดยถ้ามีงบก็อาจขึ้นเงินเดือนให้พนักงาน เหมือน PWC ที่เพิ่งประกาศขึ้นเงินเดือนให้พนักงานใน UK นับหมื่นคน พร้อมขึ้นโบนัสให้ด้วย
ส่วนห้างค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต ก็คงต้องหาทางตรึงราคาสินค้า เพิ่มสินค้าราคาถูกมาขาย หรือมีอาหารพร้อมปรุงและอาหารแข่แข็งมาเตรียมไว้ให้สอดรับกับความต้องที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคยุคข้าวยากหมากแพง เหมือนกรณีของ Sainbury’s ที่ทำยอดขายอาหารแช่แข็งได้เพิ่มขึ้น/theguardain
ที่มา marketeer