สมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เผยผลสำรวจความเชื่อมั่น (Retail Sentiment Index: RSI) ของผู้ประกอบการค้าปลีกประจำเดือน มิ.ย. 2565 ในภาพรวมพบว่า RSI เดือน มิ.ย. ลดลงมาอยู่ที่ 48.9 ปรับลดลง 4.4 จุด เมื่อเทียบกับดัชนีเดือน พ.ค. ที่ 53.3 จุด ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม
ภาพโดย THAM YUAN YUAN จาก Pixabay
ค่าครองชีพสูงทำธุรกิจค้าปลีกมีปัญหา
ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของยอดใช้จ่ายต่อใบเสร็จ (Spending per Bill) 6.5 จุด อยู่ที่ระดับ 52.2 เป็นการเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ไม่ได้เกิดจากการจับจ่ายที่เพิ่มขึ้น (เป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น 7%) ในขณะที่การทำกิจกรรมนอกบ้านมีทิศทางที่เพิ่มขึ้น นับตั้งแต่การเปิดโรงเรียน การกลับเข้าสู่สถานที่ทำงาน ของทั้งภาคเอกชนและรัฐ
แต่ความถี่ในการจับจ่าย (Frequency on Shopping) กลับลดลง 5 จุด อยู่ที่ระดับ 50.0 และยอดขายสาขาเดิม Same Store Sale Growth (SSSG-YoY) ปรับลดลง 6.5 จุด และอยู่เหนือค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 เพียงเล็กน้อย บ่งบอกถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่ชะลอการจับจ่าย พร้อมทั้งกำลังซื้อที่อ่อนแอทำให้การจับจ่ายโดยรวมไม่เติบโต ผู้บริโภคมุ่งเน้นซื้อสินค้าที่จำเป็น ลดการบริโภค จึงจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยอย่างเร่งด่วน
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกในอีก 3 เดือนข้างหน้าลดลง 4.4 จุดเช่นกัน จากระดับ 58.7 จุด ในเดือนพฤษภาคม มาที่ 54.3 จุดในเดือนมิถุนายน แสดงให้เห็นถึงความกังวลต่อแนวโน้มต้นทุนการดำเนินธุรกิจและราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่คาดการณ์ว่าจะถูกปรับลดลง ภาวะเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มจะ ดีดตัวเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก
ท่องเที่ยวคือปัจจัยบวก แต่ยังช่วยไม่ได้มาก
“สำหรับภาคค้าปลีกและบริการของไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครนโดยตรงน้อยมาก แต่ได้รับผลกระทบโดยอ้อมผ่านราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นที่กระทบกับเงินเฟ้อ ราคาสินค้า และค่าครองชีพ อีกทั้ง การฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศก็ยังไม่เข้มแข็ง และยังต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้น การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงจากความเชื่อมั่นที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีปัจจัยลบมากมาย แต่ก็ยังมีปัจจัยบวก นับตั้งแต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้รับปัจจัยหนุนจากมาตรการที่ผ่อนคลายมากขึ้น การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัวสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ โดยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติถึงสิ้นปีอยู่ที่ 7.5 – 10 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะมาเติมกำลังซื้อ รวมถึงดึงศักยภาพการจับจ่ายของกลุ่มผู้บริโภคบางส่วนมาชดเชยปัจจัยลบได้
นอกจากนี้ มีบทสรุปประเด็นสำคัญของ “การประเมินกำลังซื้อ และการฟื้นตัวของธุรกิจในภาคการค้า” ที่สำรวจระหว่างวันที่ 18 – 25 มิถุนายน 2565 ดังนี้
- 92% มีความพร้อมด้านแรงงาน สินค้า และเงินทุนเพื่อรองรับธุรกิจเติบโตตามนโยบายเปิดประเทศ
- 58% ระบุว่าธุรกิจในไตรมาสสองของปีนี้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
- 44% ระบุว่าธุรกิจในไตรมาสสองของปีนี้แย่ลง เมื่อเทียบกับไตรมาสหนึ่งของปีนี้
ส่ง 4 ข้อเสนอต่อภาครัฐช่วยธุรกิจค้าปลีก
ทั้งนี้ สมาคมฯ ขอย้ำ 4 ข้อเสนอต่อภาครัฐ ประกอบด้วย
- นโยบายกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยยังคงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตรงเป้าและโดยเร็ว ภาครัฐยังคงต้องรักษาแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน (Local Consumption) ไว้อย่างต่อเนื่องตลอดปี โครงการต่างๆ ต้องมุ่งเน้นไปกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อที่สามารถสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ได้เร็ว อาทิ โครงการช้อปดีมีคืน โครงการริเริ่มสร้างเมืองปลอดภาษีให้ผู้มีกำลังซื้อจับจ่ายในประเทศแทนที่จะนำเงินไปจับจ่ายต่างประเทศ
- รัฐต้องกำกับดูแลกลไกตลาดเพื่อให้ราคาสินค้าเคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต หากสินค้าปรับราคาสูงขึ้นเป็นจำนวนมาก ก็จะเป็นภาระต่อค่าครองชีพที่สูงต่อประชาชน แต่ถ้าไม่อนุญาตให้ปรับราคา ผู้ผลิตก็จะเลี่ยงไม่ขึ้นราคา แต่ไปปรับลดไซส์-ปริมาณสินค้า เพราะทนต่อการแบกต้นทุนไม่ไหว
- เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยภาครัฐ ไตรมาสที่สี่ (กรกฎาคม – กันยายน) ซึ่งเป็นไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ ภาครัฐต้องเร่งรัดการดำเนินการโครงการทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว เพื่อเร่งสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านการจัดจ้างการดำเนินงาน และสนับสนุนให้ SMEs เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมากขึ้น
- สนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการอย่างต่อเนื่อง ยกระดับศักยภาพภาคการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและยั่งยืน จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง รวมถึงพิจารณามาตรการสินเชื่อและมาตรการอื่นๆ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้อย่างเต็มที่
ที่มา Brand Inside