เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา คณะทำงานปลูกไม้ยืนต้น ของเครือซีพี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ เพื่อรายงานสรุปความคืบหน้าในการปลูกไม้ยืนต้นของแต่ละกลุ่มธุรกิจ ตามเป้าหมายที่เครือฯ ประกาศปลูกไม้ยืนต้นซึ่งเป็นไม้เศรษฐกิจภายในพื้นที่ของเครือฯ จำนวน 20 ล้านต้นภายใน ปี 2568
ปัจจุบัน การปลูกและดูแลรักษาต้นไม้ของเครือฯ ดำเนินการใน 4 รูปแบบ ได้แก่ 1. การปลูกในพื้นที่เครือฯ 2.ปลูกในพื้นที่คู่ค้า 3.ปลูกในพื้นที่รัฐ ปลูกป่าอนุรักษ์บนบก และ 4.ปลูกในพื้นที่รัฐปลูกป่าแบบวนเกษตร จากการเก็บข้อมูล ณ สิ้นปี 2564 กลุ่มธูรกิจต่าง ๆ ของเครือฯ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมกันปลูกต้นไม้แล้วรวมทั้งสิ้น 8.7 ล้านต้น ซึ่งคิดเป็น 43.57% เทียบกับเป้าหมาย 20 ล้านต้น ในปี 2568
ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 20 ล้านต้นดังกล่าว หน่วยงานต่าง ๆ ได้จัดทำแผนการปลูกและการดูแลต้นไม้ในพื้นที่ โดยจะต้องช่วยกันเพิ่มจำนวนการปลูกต้นไม้ปีละประมาณ 27% และขยายพื้นที่ปลูกป่าอนุรักษ์จาก 12,000 ไร่ เป็นกว่า 183,000 ไร่ ซึ่งในที่ประชุมคณะทำงานจากกลุ่มธุรกิจในเครือฯ ทั้งประเทศไทยและต่างประเทศได้รายงานความคืบหน้าแผนดำเนินการและแนวทางทางการขับเคลื่อนโครงการฯ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้
ในที่ประชุมได้ยกตัวอย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ปลูกต้นไม้จำนวนมากที่สุดถึง 3.6 ล้านต้น โดยดำเนินการภายใต้ ยุทธศาสตร์ “2030 Sustainability in Action “ และ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้นำเสนอแนวคิด การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคมควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนโครงการเพาะปลูกกล้าไม้ให้แก่ชาวชุมชน และโรงเรียน เพื่อสร้างองค์ความรู้ เพื่อให้เกิดการสร้างรายได้และอาชีพต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้มีตัวแทนจากต่างประเทศ อาทิ ประเทศลาว และกัมพูชา ได้นำเสนอแผนการปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่สำนักงาน ของแต่ละประเทศ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ ทำให้เห็นภาพ และแนวทางการขับเคลื่อนโครงการร่วมกันเพื่อจะนำไปสู่เป้าหมาย 20 ล้านต้น ภายใน ปี 2568
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินโครงการปลูกป่ามีประสิทธิภาพ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และสามารถนำจำนวนไม้ยืนต้นที่ปลูกไปคำนวนคาร์บอนเครดิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เครือฯ จึงได้พัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลที่ให้แต่ละกลุ่มธุรกิจบันทึกข้อมูลการปลูก พร้อมทั้งได้แนะนำวิธีการใช้งานโดยใช้โปรแกรมที่สามาถระบุและประเมินพื้นที่ปลูกด้วย GEOJSON เพื่อช่วยติดตามต้นไม้ในพื้นที่ต่าง ๆ และสามารถขึ้นทะเบียนต้นไม้ รวมถึงการดูแลและควบคุมมาตรฐานการคำนวณการกักเก็บคาร์บอนได้ในอนาคต