ข้าวตราฉัตรแจงคุณภาพข้าวได้มาตรฐานสากล

ข้าวตราฉัตรร่อนหนังสือแจงคุณภาพข้าวได้มาตรฐานสากล พร้อมเปิดโรงงานให้ผู้บริโภคชมกระบวนการผลิตเพื่อความมั่นใจ

คุณสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ (ธุรกิจข้าวและอาหาร) เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคุณภาพข้าวตราฉัตร หลังจากที่มีการโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย (เมื่อปี 2556) ที่ระบุว่า หนึ่งในยี่ห้อข้าวสารที่มีสารตกค้างและเป็นอันตราย คือ ข้าวตราฉัตร ในเนื้อหาของหนังสือระบุว่า จากสถานการณ์ประเด็นข่าวข้าวเกี่ยวกับคุณภาพของข้าวไทย ที่มีข้าวบางส่วนเกิดเชื้อรา และมีสารพิษตกค้าง หากบริโภคแล้วจะเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งในอนาคต ประเด็นข่าวดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพของข้าวในโครงการฯ

ในการนี้เนื้อหาในข่าวสารตามช่องทางต่างๆ รวมทั้งสื่อออนไลน์ มีประเด็นเกี่ยวกับคุณภาพของข้าวตราฉัตร จึงใครขอชี้แจงข้อเท็จจริงประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. คุณภาพของข้าวตราฉัตร บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด

ดำเนินการบริหารงานภายใต้ระบบมาตรฐานคุณภาพสากล อาทิ ระบบบริหารงานคุณภาพ (ISO9001:2008), ระบบการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP) ตลอดจนระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุม (HACCP) เพื่อให้ได้มาซึ่งข้าวตราฉัตรที่มีคุณภาพ สะอาด และความปลอดภัย ภายใต้มาตรฐานสินค้าที่ยอมรับไปทั่วโลก

อีกทั้ง ข้าวตราฉัตร ได้ใส่ใจและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคซึ่งเราได้ตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบ และสินค้าสำเร็จรูปทางด้านต่างๆ เป็นประจำทุกปี อาทิ ตรวจโลหะหนัก (Heavy metal) และตรวจเชื้อจุลินทรีย์รวมทั้งสารพิษจากเชื้อราที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อการบริโภค (Microbiological and Toxin) ซึ่งผลการตรวจสอบคุณภาพจะเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอ้างอิงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ข้าวตราฉัตร ได้รับใบอนุญาต อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข) ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับประกันคุณภาพอาหารว่าได้มาตรฐานปลอดภัยต่อการบริโภค ปกป้อง และคุ้มครองสุขภาพของประชาชน โดยในปัจจุบันนี้มีข้าวสารบรรจุถุงเพียงไม่กี่ยี่ห้อในประเทศไทย ที่ได้รับเครื่องหมายอนุญาตนี้ อีกทั้งข้าวตราฉัตรเป็นข้าวสารบรรจุถุงเพียงยี่ห้อเดียวของเมืองไทย ที่การันตีคุณภาพของสินค้า เปลี่ยนคืนให้ทันที หากผู้บริโภคไม่พึงพอใจ

2. การประมูลข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลในปี 2555 บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด

ได้เข้าร่วมประมูลกับโครงการฯ ดังกล่าวในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2555 และสามารถประมูลได้ คือ ปลายข้าวขาวจำนวน 1,800 ตัน และปลายข้าวหอมมะลิจำนวน 6,800 ตัน ซึ่งสินค้าที่ประมูลได้นั้นมีคุณภาพได้มาตรฐาน โดยบริษัทฯ ได้นำไปใช้เพื่อการส่งออกเท่านั้น เนื่องจากสินค้าที่ประมูลได้นี้ไม่เป็นที่นิยมในการบริโภคของคนไทย และข้าวตามจำนวนดังกล่าวก็จำนวนหมดสต็อกแล้วในปัจจุบัน

นอกจากที่กล่าวมาในข้างต้น ข้าวตราฉัตร ยังใส่ใจและให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพ และความบริสุทธิ์ของพันธุ์ข้าว ด้วยการให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำของการผลิตข้าว โดยบริษัทฯ ได้จัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวหอมมะลิใน 4 จังหวัดพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งเราเชื่อว่า เป็นแหล่งพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดยโสธร จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งวัตถุดิบข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพภายใต้แบรนด์ตราฉัตร อีกทั้งยังส่งเสริมแนะนำการเพาะปลูกข้าวอย่างถูกวิธีให้แก่เกษตรกร โดยเน้นไปที่การให้ความรู้และลงพื้นที่จริงร่วมกับเกษตรกร เพื่อให้ได้ข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพ ซึ่งจะเกิดการพัฒนาร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

นอกจากจะมีการออกหนังสือชี้แจงคุณภาพข้าวแล้ว ข้าวตราฉัตร ยังพร้อมเปิดโรงงานให้ผู้บริโภคทั่วไป รวมทั้ง นายสุทธิพงศ์ ธรรมวุฒิ พิธีกรรายการ คนค้นฅน เข้าเยี่ยมชมการผลิต เพื่อความมั่นใจอีกด้วย ซึ่งสามารถติดต่อได้ที่หน่วยงานบริหารความพึงพอใจ โทร 02 646 7200 หรือ www.cpthairice.com

ย้อนรอยต้นเหตุข่าวข้าว: 

เมื่อปี 2556 ข้าวตราฉัตร ถอนฟ้อง คุณเช็ค สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ แล้ว หลังออกมาขอโทษอย่างเป็นทางการ ส่วนความคืบหน้าการเปิดเผยข้อมูลเรื่องพบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน ในข้าวสารถุงแบรนด์โคโค่ ข้าวขาวพิมพา จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค งานนี้องค์การอาหารและยา ลงพื้นที่ บริษัท สยามเกรนส์ จำกัด ผู้ผลิตข้าวแบรนด์โคโค่ ถึงกระบวนการผลิตข้าวบรรจุถุงแบรนด์นี้ 

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.และกรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่ตรวจสอบกระบวนการผลิตข้าวสารบรรจุถุง แบรนด์โคโค่ และโคโค่ ข้าวขาวพิมพา ของบริษัท สยามเกรนส์ จำกัด หลังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อ้างว่ามีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน โดยท้อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นผู้ซื้อเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ

จากการตรวจสอบ พบว่า บริษัทดังกล่าว ผิดหลักการรมยาตามมาตรฐานของกรมวิชาการเกษตร เพราะใช้วิธีบรรจุข้าวใส่ถุง จากนั้นจึงเจาะรูที่ถุงข้าวทุกถุง และรมสารเมทิลโบรไมด์ เพื่อให้ยาผ่านเข้าไปในถุงข้าวสาร นอกจากบริษัทผู้ผลิตข้าว จะแสดงความรับผิดชอบด้วยการเรียกคืนข้าวแบรนด์โคโค่ ที่วางจำหน่ายในท็อปส์และห้างสรรพสินค้าอื่นๆ มาทั้งหมดแล้ว ยังยอมจ่ายค่าเสียหาย พร้อมขอโทษผู้บริโภค และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่ทำให้มาตรฐานข้าวไทยเสียหาย

ส่วนประเด็นความคืบหน้าของคุณเช็ค สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ หลังมีการโพสข้อความเรื่องข้างสารถุงปนเปื้อนในโลกออนไลน์ ข้าวตราฉัตรได้ถอนฟ้อง คุณเช็ค สุทธิพงษ์แล้ว เรื่องนี้คุณสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ รับผิดชอบธุรกิจข้าวและอาหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ผู้ผลิตข้าวตราฉัตร เปิดเผยว่า คุณเช็ค สุทธิพงษ์ ได้เยี่ยมชมการผลิต พร้อมทั้งถ่ายทำกระบวนการผลิตข้าวที่ได้มาตรฐานของข้าวตราฉัตร เพื่อนำเสนอสอดแทรกในรายการกบนอกกะลา และคนค้นฅน เพื่อยืนยันว่าข้าวตราฉัตรได้คุณภาพ ทำให้ทั้งสองฝ่ายพอใจ 

นอกจากนี้ คุณสุทธิพงษ์ ได้ส่งจดหมายขอโทษอย่างเป็นทางการมาแล้ว ทางบริษัทจึงได้ยอมรับคำขออภัย และได้ถอนฟ้องคุณสุทธิพงษ์ ในคดีหมิ่นประมาท และแชร์ข้อความอันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ สน.ห้วยขวาง เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ การรมสารเมทิลโบไมด์ที่ถูกต้อง คือ ต้องบรรจุข้าวสารลงในกระสอบขนาดใหญ่ ประมาณ 1 ตัน จากนั้นจึงคลุมด้วยพลาสติกขนาดใหญ่และรมยาสารชนิดนี้ ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับการรมสารแอมโมเนียมฟอสฟีน แตกต่างกันตรงที่สารแอมโมเนียมฟอสฟีน จะออกฤทธิ์และระเหิดหายไปภายใน 7-10 วัน แต่สารเมทิลโบไมด์ จะออกฤทธิ์และระเหย ภายใน 24 ชั่วโมง แต่หากมีสารดังกล่าวตกค้างในข้าว สารนี้ก็สามารถละลายน้ำในขณะซาวข้าว หรือ ผ่านกระบวนการปรุงสุกได้

ที่มา: ข้าวตราฉัตร Family, Voice TV, Post Today