พบกับ 3 ผู้นำองค์กรชั้นนำของโลก “ต้นแบบ”ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลครั้งสำคัญ กับวิสัยทัศน์ที่นำพาองค์กรขับเคลื่อนสู่กระแส “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งในระดับโลก ภูมิภาค และประเทศ
โลกหมุนรอบตัวเองด้วยความเร็ว 24 ชั่วโมง หรือ 1 วัน แต่ใน “โลกดิจิทัล” มีอัตราเร่งที่รวดเร็วกว่านั้นมาก เพราะ “ดิจิทัล” กำลังเป็นคลื่นลูกใหญ่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกอีกครั้ง ทั้งยังมีบทบาทกับเราทั้งในชีวิตประจำวันและต่อระบบเศรษฐกิจของโลกมากขึ้นทุกขณะ
ในภาคอุตสาหกรรม และธุรกิจ ต่างรับรู้กันดีว่า หากองค์กรใดก้าวตามไม่ทันกระแส “ดิจิทัล เทคโนโลยี” ได้อย่างเท่าทัน องค์กรเหล่านั้นต่างย่อมได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงเข้าสู่ภาวะ “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” ได้ในทางตรงกันข้ามหากองค์กรใด “เปลี่ยนผ่าน” และ “ปรับตัว” รองรับการเปลี่ยนแปลงได้ทันคลื่นลูกใหม่ครั้งนี้ ย่อมอยู่ในสถานะปลอดภัยและรอดพ้น ยิ่งไปกว่านั้น หากสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ได้ด้วยแล้ว ถือเป็นความสำเร็จในการเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว
การจะไปให้ถึง “เป้าหมาย” องค์กรที่ปรับตัว เปลี่ยนแปลง รองรับการใช้ประโยชน์ด้านดิจิทัลได้อย่างแท้จริง สิ่งสำคัญที่เป็น “เสาหลัก” แรก ต้องนับหนึ่งจาก “ผู้นำองค์กร” ที่มีวิสัยทัศน์เข้มแข็งที่จะพาองค์กรขับเคลื่อนเปลี่ยนผ่านสำเร็จ ทั้งยังเป็น “แบบอย่าง” สำคัญในการสร้าง “วัฒนธรรมดิจิทัลในองค์กร” ด้วย
ในองค์กรชั้นนำระดับโลกมีแบบอย่างผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และนำดิจิทัลมาสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อองค์กรและธุรกิจ จนถือเป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล” อย่างน้อย 3 คน
คุณมาซาโยชิ ซัน
เริ่มจากคนแรก “คุณมาซาโยชิ ซัน” ซีอีโอแห่ง “ซอฟต์แบงก์” บริษัทเทเลคอมและบริษัทลงทุนด้านเทคโนโลยีอนาคต ผู้ปลุกปั้นตั้งกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก “วิชั่นฟันด์” มูลค่าเกือบแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ลงทุนในธุรกิจที่ เกี่ยวกับ IoT, AI, หุ่นยนต์, โครงสร้างพื้นฐาน, โทรคมนาคม, เทคโนโลยีชีวภาพ, Fintech และ Mobile Application ทั้งหลาย ทั้งยังตั้งเป้าจะขยายกองทุนเพิ่มอีก 10 เท่าตัว
ซีอีโอชาวเกาหลีใต้ผู้เกิดและโตที่ญี่ปุ่นผู้นี้ คือหนึ่งในผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล ที่สร้างปรากฏการณ์ “ดีล” ลงทุนในธุรกิจกลุ่มเทคโนโลยีชนิดสร้างความสนใจให้โลกต้องชำเลืองมองทุกครั้ง ตั้งแต่ธุรกิจ ride-sharing อย่าง “Uber” “Grab” กลุ่มโคเวิร์กกิ้งสเปซ และวิสัยทัศน์ที่เป็นประจักษ์พยานสำคัญ คือ การเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “อาลีบาบา” ในยุคที่อาลีบาบา ยังไม่ใหญ่โตในวันนี้ เขาตัดสินใจลงทุน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่หุ้นของอาลีบาบาที่ซอฟต์แบงก์ลงทุนวันนี้ มีมูลค่ามากถึง 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะเดียวกันเขายังให้ความสำคัญ แม้กระทั่งในธุรกิจ “นอกสายตา” โดยเข้าไปจับมือกับ “อัลเดบารัน” บริษัทสัญชาติฝรั่งเศสที่เน้นพัฒนาด้านหุ่นยนต์ ไปจนถึงการเข้าลงทุนด้าน Mobile Payment ในอินเดีย ผ่านการลงทุนใน Paytm กว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์
การขยับตัวของ “คุณมาซาโยชิ ซัน” ในการลงทุนแต่ละครั้งผ่านวิสัยทัศน์ ที่มักลงเอยที่ “ประสบความสำเร็จ”
ผลพวงการตัดสินใจของ “คุณมาซาโยชิ ซัน” ในการลงทุนในแวดวงเทคโนโลยีการเงิน ช่วยสร้างการเติบโตและเสริมแกร่งให้สตาร์ทอัพหลายแห่ง กระทั่งถึงกับ “เพิ่มมูลค่าธุรกิจ” ให้กับสตาร์ทอัพอีกไม่น้อยในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเขาลงทุนในสตาร์ทอัพระดับ ยูนิคอร์น มูลค่ารวมมากกว่า 90,000 ล้านดอลลาร์ โดยพุ่งความสนใจไปที่กลุ่มสตาร์ทอัพที่นำ AI , IoT และ Big Data เข้ามาร่วมพัฒนาโมเดลธุรกิจ ถือได้ว่าซีอีโอแห่งซอฟต์ แบงก์ เป็นหนึ่งในผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลอย่างแท้จริง
คุณแดเนียล จาง
ผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลคนถัดมา คือ “คุณแดเนียล จาง” ประธานกรรมการบริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป บุคคลซึ่งได้รับความไว้วางใจจาก “แจ็ค หม่า” ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท อาลีบาบา อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน ให้นั่งเก้าอี้สืบทอดตำนานของเขา
แม้ “แดเนียล จาง” จะไม่ใช่ 1 ใน 17 คน ผู้ร่วมก่อตั้ง “อาลีบาบา” จากบริษัทที่มีสำนักงานเป็นห้องเล็กๆ ในอพาร์ทเม้นท์จนกลายมาเป็นบริษัทขนาดใหญ่ระดับต้นๆ ของโลก แต่เขาเป็น “แม่ทัพ” คนสำคัญผู้เปลี่ยนโฉมหน้าการช้อปปิ้งของคนจีน เพราะเป็นผู้คิดแคมเปญ “ช้อปปิ้ง วันคนโสด” ขึ้นมา ซึ่งต่อมากลายเป็นแคมเปญการตลาดที่ดังระดับโลก
ก่อนจะมาเป็น “ประธานกรรมการ” คนใหม่ของอาลีบาบา “คุณแดเนียล จาง” หรือชื่อดั้งเดิมภาษาจีน คือ “จาง หย่ง” เข้าร่วมงานกับเครืออาลีบาบา เมื่อปี 2007 ในตำแหน่ง “หัวหน้าฝ่ายการเงิน” ของ “Taobao” แพลตฟอร์มช้อปปิ้ง อันดับหนึ่งของจีนในเครืออาลีบาบา จากนั้นเขาสร้างการเติบโตทางธุรกิจและรายได้จนขยายไปสู่ธุรกิจแบบ B2C จนที่สุด เขาขึ้นเป็นประธานเว็บ Taobao Mall หรือ Tmall แพลทฟอร์มค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในจีน ที่สร้างความแข็งแกร่ง จากแรกเริ่ม ที่มีผู้ใช้งานต่อวัน 10 ล้านคน จนปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากถึง 189 ล้านคนต่อวัน
ผลงานที่สร้างสรรค์และประสบความสำเร็จของเขา ทำให้ขึ้นเป็น “ซีอีโอ” ของ อาลีบาบา ในปี 2015 และล่าสุดในปี 2019 เขาคือ “ประธานกรรมการบริษัทอาลีบาบา” อย่างเป็นทางการ
ประโยคหนึ่งที่ “แจ็ค หม่า” เขียนในจดหมายชี้แจง แผนสืบทอดคือ นับตั้งแต่ “แดเนียล จาง” ขึ้นมาเป็นซีอีโอ อาลีบาบา มีการเติบโตทางธุรกิจต่อเนื่องติดต่อกันมา โดยตลอดถึง 13 ไตรมาส สะท้อนถึงความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ของเขา ที่จะนำอาลีบาบาสำเร็จตามเป้าหมายและวิสัยทัศน์ที่วางไว้
คุณศุภชัย เจียรวนนท์
เมื่อมองผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลจากระดับโลก ระดับภูมิภาค และโฟกัสเข้ามาที่ประเทศไทย จะเห็นบุคคล ที่เป็น ผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลในระดับองค์กรคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือ “คุณศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ปลุกปั้นให้ เครือซีพี และหลายบริษัทในเครือ เป็น “องค์กรนวัตกรรม” ชั้นนำของประเทศ
“คุณศุภชัย” สร้างความสำเร็จครั้งใหญ่ให้กับ “ทรู” ในปี 2554 ด้วยการพัฒนาและให้บริการ “โครงข่าย 3G” ที่ครอบคลุมที่สุดทั่วไทย จนก้าวขึ้นเป็นผู้ให้บริการรายหลักในประเทศ
ความสำเร็จครั้งนั้นเขาได้ต่อยอดนำเทคโนโลยีการสื่อสาร 3G เข้ามาช่วย “ปฏิรูปการศึกษา” ขั้นพื้นฐานของประเทศ มุ่งหวังที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาให้นักเรียนที่ขาดโอกาส หรือสถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา ที่ถือเป็นต้นธารสำคัญของการสร้างทรัพยากรบุคคลสำคัญให้ประเทศ ทำให้ “ทรู” เข้ามามีบทบาทเชิงรุกด้านการศึกษา อาทิ โครงการติดตั้งอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล การจัดโครงการมอบแอร์การ์ดทรูมูฟ เอช 3G พร้อมแพ็กเกจเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงแบบไม่จำกัดให้แก่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่ยังไม่มีคู่สายอินเทอร์เน็ตไปถึง หรือมีความเร็วอินเทอร์เน็ตต่ำ
เขายังให้นโยบายต่อยอดผลิต “ดิจิทัลคอนเทนต์ด้านการศึกษา” ผ่านเว็บไซต์ “ทรูปลูกปัญญา” เว็บไซต์ด้านการศึกษายอดนิยมติดอันดับต้นๆ ของประเทศ โดยจุดเด่นคือการเป็นฐานคลังความรู้สำคัญ มีตัวอย่างข้อสอบ และข้อมูลที่จำเป็นและน่าสนใจสำหรับครูผู้สอนและนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยม เป็นต้น ส่วนในระดับอุดมศึกษาได้ริเริ่มให้มีการตั้ง “TrueLab” เพื่อส่งเสริมการพัฒนางานวิจัย และนวัตกรรมในสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ ผ่านการสร้างศูนย์วิจัยในมหาวิทยาลัยเพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ ค้นคว้าวิจัย รวมถึงสนับสนุนทุนทำวิจัยแก่นักศึกษาด้วย
ความสนใจที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพัฒนาการศึกษาในทุกมิติ นำมาสู่ความร่วมมือสร้างระบบ “วัดผล” ทางการศึกษา กับภาคีเครือข่ายโรงเรียนประชารัฐ CONNEXT ED นำกระบวนการกำหนดตัวชี้วัด และเป้าหมายที่ชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ และตรงต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และชุมชน มาติดตามวัดผลการพัฒนาสถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ
จากบทบาทผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลที่เข้ามาช่วยยกระดับการศึกษาในประเทศ สู่วิสัยทัศน์ด้านธุรกิจ ในฐานะองค์กรชั้นนำด้านนวัตกรรม “คุณศุภชัย” วางเป้าหมายที่จะสร้างบริการด้านดิจิทัลแบบครบวงจรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยพัฒนาแอปพลิเคชัน “True ID” ขึ้นมาเป็นแพลตฟอร์ม “ดิจิทัลคอนเทนต์” ชั้นนำ ที่มีเนื้อหาที่สร้างสรรค์ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมกับที่แพลตฟอร์มนี้ยังให้บริการหลักด้านดิจิทัลอื่นๆ อาทิ “ทรูพอยท์” (ระบบการเก็บ สะสมแต้มหรือพอยท์และการใช้สิทธิพิเศษ) “ทรูมันนี่ วอลเล็ท” (บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์)
การรวมทั้งคอนเทนต์และบริการด้านการเงินไว้ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ส่งผลให้ปัจจุบัน True ID เป็นแอปพลิเคชันที่ได้รับการดาวน์โหลดมากที่สุดในหมวดหมู่เดียวกัน ตรงตามเป้าหมายสำคัญที่แนวคิดของ True ID คือ ต้องการให้ประชาชนทุกคนสามารถ เข้าถึงดิจิทัลคอนเทนต์ที่มีประโยชน์ได้อย่างถูกกฎหมาย โดยไม่จำกัดเฉพาะผู้ใช้บริการของทรูเท่านั้น ในฐานะผู้นำองค์กรด้านดิจิทัล “คุณศุภชัย” ได้ให้วิสัยทัศน์แผนงานที่ผลักดันให้ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป พัฒนานวัตกรรมที่ตอบสนองธุรกรรม และการใช้ชีวิตในแบบดิจิทัลของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ผ่าน “TrueMoney Wallet” ที่เป็นเสมือนกระเป๋าเงินอัจฉริยะบนสมาร์ทโฟนของทุกคน รวมถึงนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านค้ายุคดิจิทัลเข้าถึงบริการที่ทันสมัยและสะดวกรวดเร็ว ผ่านบริการ “True Point&Pay” โดยสามารถรับชำระเงินพร้อมรับสิทธิประโยชน์ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งนับเป็นก้าวแรกในการเปลี่ยนผ่านและเชื่อมต่อระหว่างธุรกิจออนไลน์และ ออฟไลน์ หรือ O2O ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นสำคัญที่สนับสนุนการขับเคลื่อน “สังคมไร้เงินสด” ของไทยอย่างเต็มรูปแบบ
ทั้งหมดอยู่บนวิสัยทัศน์ของ “คุณศุภชัย” ที่ต้องการให้มีการ “เข้าถึงทางดิจิทัล” อย่างเปิดกว้างและเท่าเทียม ให้ผู้คนสามารถใช้บริการบนแพลทฟอร์มดิจิทัลได้ทุกที่ทุกเวลา แม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ขณะเดียวกันยังได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการ ขยายแพลตฟอร์ม Big Data ใช้ Analytics และ AI เพื่อรองรับการรวบรวมข้อมูล ประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลนับพันล้านข้อมูลแบบเรียลไทม์เป็นรายวัน พร้อมพัฒนาโซลูชั่นและข้อเสนอด้าน IoT ให้แก่ลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ ด้านสุขภาพ เมืองอัจฉริยะและค้าปลีก แบบตรงตามความต้องการของตลาด
ล่าสุดกับการเป็นผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลเบอร์ต้นของประเทศ “คุณศุภชัย” คือผู้ผลักดันให้เกิดการพัฒนา “ทรู ดิจิทัล พาร์ค” ศูนย์กลางนวัตกรรมดิจิทัลของไทยที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็น Startup Ecosystem ภายใต้บรรยากาศที่เอื้อต่อการเชื่อมต่อ และหลอมรวมองค์ความรู้ เพื่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือด้านดิจิทัลเทคโนโลยีที่จะสามารถขยายและต่อยอดซึ่งได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจาก เหล่าพันธมิตร ทั้งหน่วยงานภาครัฐ บริษัทเทคโนโลยี ข้ามชาติขนาดใหญ่ องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนกลุ่มนักลงทุน และสตาร์ทอัพ มาร่วมเติมเต็มระบบนิเวศสมบูรณ์แบบครบวงจรสำหรับสตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ด้านเทคโนโลยี ทั้งไทยและต่างชาติ
ทั้งหมดเป็นไปเพื่อสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ ด้วยนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว สอดคล้องกับอีกหนึ่งวิสัยทัศน์ “การสร้างคนดิจิทัล ในทุกระดับ” ที่ “คุณศุภชัย” จัดตั้ง “ทรู ดิจิทัล อคาเดมี” เพื่อลดช่องว่างในเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับองค์กรขนาดใหญ่ ทั่วโลก ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านดิจิทัลให้แก่ ผู้บริหารระดับสูงและบุคลากร เตรียมความพร้อมให้คนในองค์กรมีความเข้าใจและพร้อมปรับตัวในการเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่ยุคดิจิทัล
วันนี้ “คุณศุภชัย” ถือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลคนสำคัญของไทยที่ร่วมขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ
เป็นเรื่องราวของ 3 ผู้นำ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านวิสัยทัศน์ที่นำพาองค์กรขับเคลื่อนสู้กระแส “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งในระดับโลก ภูมิภาค และประเทศ
ที่มา: นสพ.ประชาชาติธุรกิจ