จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ทำให้วิสาหกิจชุมชนส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปลากัดบ้าน (อ้อมพยศ) ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐม ประสบปัญหาไม่สามารถส่งปลากัดให้แก่ลูกค้าในต่างประเทศได้ เนื่องจากการยกเลิกของสายการบินและการปิดประเทศ จึงทำให้สมาชิกแต่ละคนสูญเสียรายได้ประมาณ 50,000บาทต่อเดือน เนื่องจากตลาดในต่างประเทศ เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายเดียวของวิสาหกิจชุมชน
จากปัญหาดังกล่าวของวิสาหกิจชุมชนคณะอาจารย์และนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารออมสิน จึงหารือร่วมกันกับสมาชิกของวิสาหกิจชุมชน เพื่อสะท้อนปัญหาและพิจารณาแนวทางในการแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับศักยภาพและบริบทของวิสาหกิจชุมชน และได้พัฒนาแบรนด์สินค้า “The sakane ville หรือ มัจฉานครา” ขึ้นเพื่อจัดจำหน่ายปลากัดและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องภายในประเทศ นอกจากนี้ยังร่วมกันกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดและลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมโดยใช้เครื่องมือทางการตลาด ซึ่งทำให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่มอรรถประโยชน์ของปลากัดให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ อาทิเช่น ใบหูกวางบรรจุซอง และเซตปลากัดสำหรับใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน แล้วจึงพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่าย และทดลองจัดจำหน่ายในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ ผ่าน website และ social media และสุดท้ายจึงร่วมกันกับวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายที่สร้างขึ้นใหม่จัดตั้งโรงเรียนปลากัดแห่งแรกของโลก เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้เกี่ยวกับปลากัดให้แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
โครงการนี้ช่วยพัฒนาแบรนด์สินค้าและช่องทางการจัดจำหน่ายภายในประเทศ มีผลิตภัณฑ์ปลากัดซึ่งเน้นอรรถประโยชน์ของปลากัดให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ จำนวน 4 ผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ต่อเดือนให้แก่วิสาหกิจชุมชนถึง 188,450 บาท/เดือน สร้างโรงเรียนปลากัดแห่งแรกของโลก และมีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากัดเข้าร่วมโรงเรียนปลากัด และเครือข่ายใหม่ของวิสาหกิจชุมชนถึง 44 ราย