คณะนักวิจัยออสเตรเลียเผยการค้นพบว่า ฉลามวาฬกินพืชเป็นอาหารด้วยเช่นกัน ทำให้สัตว์สายพันธุ์โดดเด่นซึ่งมีลำตัวยาวสูงสุด 18 เมตรชนิดนี้ กลายเป็นสิ่งมีชีวิตกินพืชและสัตว์ (Omnivores) ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
เมื่อไม่นานนี้ การศึกษาจากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลออสเตรเลีย (AIMS) ร่วมกับองค์กรวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) และมหาวิทยาลัยโอ๊กแลนด์ พบว่าอาหารฉลามวาฬมีองค์ประกอบส่วนหนึ่งจากพืช ระหว่างการวิเคราะห์ตัวอย่างชิ้นเนื้อจากฉลามที่แนวปะการังนินกาลู ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย
บรรดานักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์ตัวอย่างแหล่งอาหารที่เป็นไปได้ตามแนวปะการัง ตั้งแต่แพลงก์ตอนขนาดเล็กไปจนถึงสาหร่ายทะเลขนาดใหญ่ จากนั้นเปรียบเทียบกรดอะมิโนและกรดไขมันในแพลงก์ตอนและส่วนประกอบพืชกับส่วนที่พบในฉลามวาฬ และพบว่าเนื้อเยื่อฉลามมีร่องรอยของสาหร่ายทุ่น (Sargassum) สาหร่ายชนิดหนึ่งที่มีสีน้ำตาล
มาร์ค มีกัน นักชีววิทยาสายพันธุ์ปลาของ AIMS เผยว่า ฉลามวาฬได้วิวัฒนาการจนมีความสามารถย่อยสาหร่ายทุ่นบางส่วนเข้าสู่ลำไส้ ดังนั้นแนวคิดที่ว่าฉลามวาฬว่ายมายังแนวปะการังนินกาลูเพียงเพื่อกินเคย (Krill) เป็นอาหาร อาจไม่ใช่ความจริงเสียทั้งหมด เพราะพวกมันยังกินสาหร่ายในปริมาณมากพอสมควรด้วย
อ้างอิง:
- สำนักข่าวซินหัว