IMF ระบุว่าภูมิภาคเอเชียมีความเสี่ยงจากภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว หลังสัดส่วนหนี้ทั้งภูมิภาคเพิ่มเป็น 38% จาก 25% ในช่วงก่อนโควิด พร้อมแนะจับตาเงินเฟ้อของหลายประเทศเอเชียที่เริ่มไต่ระดับสูงขึ้น เพราะจะเป็นตัวชี้วัดการเติบโตเศรษฐกิจในอนาคต พร้อมเผยรายชื่อ 3 ประเทศเสี่ยงหนี้ท่วมคือ สปป.ลาว, มองโกเลีย และมัลดีฟส์
สำนักข่าว CNBC รายงานโดยอิงการสัมภาษณ์ Krishna Srinivasan ผู้อำนวยการแผนกเอเชียและแปซิฟิก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ผ่านรายการ Squawk Box Asia ว่า ระดับหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นและสภาวะทางการเงินที่ตึงตัวขึ้นทั่วเอเชียทำให้เกิดความกังวล ภูมิภาคเอเชียโดยรวมมีภาวะการเงินตึงตัวขึ้นมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น และจากนี้ไปอัตราเงินเฟ้อจะเป็นดัชนีชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชีย
“ถ้าพิจารณาจากหนี้ในภูมิภาคและดูส่วนแบ่งของหนี้ทั้งหมดในเอเชีย หนี้โดยรวมนั้นเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก” Srinivasan กล่าว
โดยหนี้ในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้นจาก 25% ก่อนเกิดการระบาดใหญ่เป็น 38% ในปัจจุบัน และประเทศที่มีความเสี่ยง ได้แก่ สปป.ลาว, มองโกเลีย, มัลดีฟส์ และปาปัวนิวกินี ขณะที่ประเทศศรีลังกานั้นปรากฏชัดเจนแล้วว่ามีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น
ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ระบุว่า สปป.ลาว มีอัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 23.6% ขณะเดียวกัน ADB คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของมองโกเลียปี 2565 จะแตะระดับ 12.4% ส่วนมัลดีฟส์ก็ประสบปัญหาหนี้สูงมาหลายปี และแม้ว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP ของมัลดีฟส์จะลดลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังสูงอยู่ที่ประมาณ 100% ของ GDP
“ดังนั้นจึงมีหลายประเทศในภูมิภาคที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว และบางประเทศเหล่านี้อยู่ในภาวะตึงเครียดด้านหนี้สิน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องระวัง” Srinivasan กล่าว
“ในปีนี้เรามองว่าอัตราเงินเฟ้อเป็นปัจจัยที่ค่อนข้างใหญ่ อันที่จริงแล้วเราคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสำหรับเอเชียไว้กว้างมาก และมันมีแนวโน้มจะเป็นไปตามคาดการณ์” Srinivasan กล่าว อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้แสดงความคิดเห็นต่อข้อคำถามที่ว่าเราจะเห็นวิกฤตเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้หรือไม่
นอกจากนี้ IMF ได้เผยแพร่มุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (26 กรกฎาคม) โดย IMF คาดการณ์ว่าการเติบโตทั่วโลกจะชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วจาก 6.1% ในปีที่แล้ว เป็น 3.2% ในปีนี้ และคาดการณ์ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจีนและอินเดียจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
เช่นเดียวกันกับการเติบโตของเศรษฐกิจในเอเชีย ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในปี 2565 และ 2566 โดย IMF คาดว่าจะชะลอตัวลงเหลือ 4.2% และ 4.5% ตามลำดับ
“การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบร้ายแรงของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และสงครามก็นำไปสู่เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก” Srinivasan กล่าว
ที่มา THE STANDARD