CP Facts: ซีพีถูกกล่าวหายึดที่รัฐ 4,000 ไร่??

กรณีกระแสข่าวที่บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี เซ็นสัญญาเช่าที่ดินที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ ในอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จำนวน4,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทหารเรือใช้ เพื่อเตรียมพัฒนาเมืองใหม่เป็นการนำเสนอข่าวที่สร้างความสับสนอลหม่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้ออกมาชี้แจงและประกาศชัดเจนว่า ซีพี ยังไม่เคยเข้ามาหารือเรื่องการลงทุนสร้างเมืองใหม่ฉะเชิงเทราแต่อย่างใด

พร้อมยืนยันว่า พื้นที่ราชพัสดุ ซึ่งเป็นพื้นที่ของกองทัพเรืออยู่ในขณะนี้ ไม่สามารถยกพื้นที่ให้เอกชนรายใดเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ง่ายๆ เพราะเป็นพื้นที่อยู่อาศัยทำการเกษตรมานาน การขอใช้พื้นกับกรมธนารักษ์นั้นจะขอใช้ในส่วนที่จำเป็น เช่น สนามบิน ท่าเรือ ฯลฯ แต่กรณีของซีพี ต้องเป็นพื้นที่ของซีพีเองเท่านั้นเพราะเป็นเรื่องเอกชน

ธนารักษ์ฯ ยันซีพีไร้เอี่ยวเช่าที่ 4 พันไร่บางน้ำเปรี้ยว

ผู้อำนวยการกองบริหารที่ราชพัสดุภูมิภาค กรมธนารักษ์ ยืนยัน ซีพีไม่ได้เช่าที่ดิน 4,000 ไร่ในอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ขณะที่นักวิชาการยืนยันรัฐ-เอกชนร่วมทุนไม่ใช่การขายสมบัติชาติ

คุณสุวรรณา ทรัพย์มี ผู้อำนวยการกองบริหารที่ราชพัสดุภูมิภาค กรมธนารักษ์ เปิดเผยในรายการเจาะลึกข่าวร้อนว่า พื้นที่ EEC ที่ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดนั้นกรมธนารักษ์ได้เสนอที่ดิน 7 แปลง โดยหนึ่งใน 7 แปลงที่กำลังเป็นปัญหาคือ แปลงตำบลโยธกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 4,000 ไร่ ซึ่งอยู่ในการครอบครองของกองทัพเรือ

ก่อนหน้านี้จังหวัดฉะเชิงเทราได้จัดให้เช่าที่ดินดังกล่าวปีต่อปี จนกระทั่งปี 2557 กองทัพเรือได้แจ้งต่อจังหวัดว่าต้องการใช้พื้นที่ดังกล่าวในราชการของกองทัพเรือ โดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นที่ตั้งกองบังคับการหมวดเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ และตั้งสถานีวิทยุ ซึ่งถือเป็นประโยชน์ในราชการของกองทัพเรือ ไม่เกี่ยวกับ EEC ต่อมาจังหวัดได้ยกเลิกสัญญาเช่ากับราษฎรตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2558 แต่ยังคงมีราษฎรอาศัยอยู่ในที่ดินแปลงนั้น

คุณสุวรรณากล่าวว่า ไม่มีนายทุนรายใหญ่เข้ามาขอเช่าที่ดินต่อ เนื่องจากที่ดินอยู่ในการครอบครองของกองทัพเรือ จึงจำเป็นที่จะได้รับการอนุญาตจากกองทัพเรือก่อน

ขณะที่ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ เปิดเผยว่า การร่วมลงทุนไม่ใช่การเอาสมบัติชาติไปขายให้เอกชน เพราะเป็นการพัฒนามูลค่าเพิ่มให้กับสมบัติ เพียงแต่ในมูลค่าเพิ่มนั้นต้องมีต่างประเทศเข้ามาร่วมด้วย เพราะไม่ใช่แค่เรื่องของการคลัง เป็นเรื่องของความเชี่ยวชาญ ซึ่งเรื่องไหนที่เราไม่เชี่ยวชาญจำเป็นต้องดึงต่างชาติเข้ามา เพราะต่างชาติต้องการเข้ามาลงทุนเช่นกัน

เพราะฉะนั้น นี่ถือเป็นส่วนหนึ่งที่เราจำเป็นต้องพึ่งพาเรื่องเงินทุน และเป็นการเชื่อมโยงของต่างประเทศ เพราะเป็นสายโซ่แห่งคุณค่าที่จะเชื่อมโยงหลายฝ่ายเข้าด้วยกัน เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเอกชนจะเข้ามาร่วมตรงนี้ แต่วิธีการพิจารณาในการมีส่วนร่วมของเอกชนจะต้องมีการจัดสรรเพื่อความเป็นธรรม โปร่งใส ไม่ใช่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง และประเด็นสุดท้ายคือต้องมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินการ ซึ่งนี่ถือเป็นเกณฑ์ที่สามารถวัดได้ว่าดีหรือไม่ดี เป็นประโยชน์ต่อประเทศ หรือเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

Cr.Manager

siamrath