วันที่ 2 สิงหาคม 2565 จ.เชียงใหม่ – คุณวันชัย จริยเศรษฐโชค รองอธิบดีกรมป่าไม้ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “แม่แจ่มเมืองไผ่ ไม้มีค่า สานพลังเครือข่ายความร่วมมือสร้างวิถีแม่แจ่มยั่งยืน” ณ พื้นที่ คทช.บ้านใหม่ปูเลย ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ โดยมี คุณพัทธนันท์ พิทาคำ นายอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เข้าร่วมขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์แม่แจ่มยั่งยืนโมเดล
โอกาสนี้ คุณพิไลลักษณ์ พิชัยวัตต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านปฏิบัติการความยั่งยืนและกิจการเพื่อสังคม เครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นผู้แทนเครือฯ ร่วมสนับสนุนกล้าไผ่ จำนวน 10,000 กล้า ให้กับโครงการ เพื่อมอบให้กับชุมชนนำไปปลูกเป็นไม้เบิกนำในการฟื้นฟูป่า
โครงการแม่แจ่มเมืองไผ่ ภายใต้แม่แจ่มยั่งยืนโมเดล เป็นหนึ่งในโครงการที่ดำเนินงานมาตั้งแต่ พ.ศ.2561-63 โดยคณะทำงานแม่แจ่มโมเดลพลัส และภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมกันส่งเสริมปลูกไผ่ภายใต้โครงการแสนกล้าดี เป็นระยะเวลา 3 ปี ในพื้นที่ 7 ตำบล อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เพื่อใช้เป็นไม้เบิกนำในการฟื้นป่าสร้างรายได้ให้กับชุมชน เนื่องจากไผ่เป็นไม้โตเร็ว ช่วยยึดหน้าดิน ฟื้นฟูดิน และเป็นไม้ร่มเงา และที่สำคัญเป็นไม้ที่ตลาดมีความต้องสูง ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืนภายใต้ความสมดุลการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์
ปัจจุบัน มีพื้นที่ปลูกไผ่รวมกันทั้งหมดจำนวน 1,406 ไร่ ใช้กล้าไผ่จำนวน 77,872 ต้น มีสมาชิก 771 ราย มีวิสาหกิจชุมชน 19 กลุ่ม สำหรับรองรับการแปรรูปในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนได้ร่วมกันก่อตั้ง “โรงงานสร้างป่า” ขึ้นภายใต้การบริหารงานของ “วิสาหกิจชุมชนแปรรูปและผลิตภัณฑ์ไผ่แม่แจ่ม” เพื่อรับซื้อไผ่จากสมาชิกมาแปรรูปออกจำหน่ายสู่ตลาด
คุณพิไลลักษณ์ พิชัยวัตต์ กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ “แม่แจ่มยั่งยืน ความร่วมมือสนับสนุน ดําเนินงาน สู่เป้าหมาย” ว่าเครือซีพีได้ถอดบทเรียนจากการทำงานในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม พบว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนา ได้แก่ การจัดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม การมีผู้นำที่มีศักยภาพ การเข้าใจและสามารถบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้มีบทบาทร่วมพัฒนาชุมชนของตน
ดังนั้น เพื่อร่วมสนับสนุนโครงการดังกล่าวให้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรม เครือฯ พร้อมมุ่งส่งเสริมและพัฒนาในทุกมิติร่วมกับเครือข่าย อาทิ กรมป่าไม้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) อำเภอแม่แจ่ม บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) มูลนิธิไทยรักษ์ป่า สภาลมหายใจเชียงใหม่ ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ภาคประชาสังคม และคณะทำงานแม่แจ่มโมเดล ซึ่งในวันนี้ได้ร่วมกันเสวนาเพื่อระดมความคิดเห็นและเสนอแนวทางการพัฒนาพื้นที่อำเภอแม่แจ่มให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์แม่แจ่มยั่งยืนโมเดลต่อไป