EIC จับกระแสผู้บริโภคปี 2565 ปรับตัวอย่างไรในยุคข้าวยากหมากแพง

Beautiful woman looking in open wallet with shocked expression while holding color shopping bags

Beautiful woman looking in open wallet with shocked expression while holding color shopping bags

EIC ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคไทยจำนวน 2,676 คน ในช่วงระหว่างวันที่ 8 ถึง 22 กรกฎาคม 2565 เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและพฤติกรรมในช่่วงที่ราคาสินค้าและบริการมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

ผลสำรวจสามารถสรุปได้เป็น 4 ประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้

ประเด็นที่หนึ่ง : “รายได้ของผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่เพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา สวนทางกับสถานการณ์ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น โดยกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากกว่า”

  • แม้ว่าแนวโน้มรายได้ผู้บริโภคในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาดีขึ้นกว่าการสำรวจในช่วงปีก่อนหน้า แต่รายได้ของผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ยังทรงตัว โดย 73% ของผู้ตอบแบบสอบถาม รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อพิจารณาตามรายได้ พบว่า กลุ่มรายได้น้อย (รายได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน) มีสัดส่วนผู้ที่รายได้ไม่เพิ่มขึ้นสูงที่สุด
  • ขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนถึงภาวะค่าครองชีพที่เร่งตัว โดยกว่า 68% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ตนเองมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และเกือบ 1 ใน 4 มองว่า รายจ่ายของตนเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ซึ่งการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายนั้นเกิดกับผู้บริโภคในทุกกลุ่มรายได้ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน
  • ทั้งนี้เมื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของทั้งรายได้และรายจ่าย พบว่า คนส่วนใหญ่ถึง 60% มีรายได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่ารายจ่าย นอกจากนี้ ผู้บริโภคถึง 45% ยังระบุว่า ตนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ค่าครองชีพที่สูงขึ้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยที่สัดส่วนคนที่ได้รับผลกระทบสูงกว่ากลุ่มรายได้อื่น ๆ ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงการที่ค่าครองชีพที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อคนรายได้น้อยมากกว่า


ประเด็นที่สอง : “รายได้ที่โตไม่ทันกับรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่มีปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่าย ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้การเก็บออมลดลง และคนเกือบครึ่งมีปัญหาด้านภาระการชำระหนี้”

  • การที่รายได้โตไม่ทันรายจ่ายในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ 1) ปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย 2) ปัญหาด้านการเก็บออม และ 3) ปัญหาด้านการชำระหนี้ โดยผู้บริโภคถึง 59% กำลังเผชิญปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย ขณะที่ 77% มีการเก็บออมที่ลดลงหรือไม่ได้เก็บออมเลยในช่วงเวลาดังกล่าว อีกทั้ง ผู้บริโภคเกือบครึ่งยังระบุว่า ตนเองกำลังเผชิญปัญหาในการชำระหนี้
  • เมื่อพิจารณาปัญหาทั้ง 3 ด้านพร้อมกัน พบว่า ผู้บริโภคถึง 64% กำลังเผชิญปัญหาด้านใดด้านหนึ่งอยู่ และราว 42% กำลังเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจมากกว่า 1 ด้านพร้อมกัน สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจภาคครัวเรือนที่ค่อนข้างสูง ทั้งนี้คนกลุ่มที่กำลังเผชิญปัญหามักมีสภาพคล่องทางการเงินที่ค่อนข้างจำกัด โดยกลุ่มที่มีปัญหารอบด้านส่วนมากมีสภาพคล่องไม่เกิน 3 เดือน ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับคนกลุ่มที่ไม่เผชิญปัญหาที่ส่วนใหญ่มีสภาพคล่องเหลือเกิน 1 ปี
  • ในระยะต่อไป ผู้บริโภคส่วนมากยังคาดว่ารายจ่ายจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่ารายได้ ซึ่งอาจจะยิ่งทำให้สัดส่วนผู้บริโภคที่เผชิญปัญหา 3 ด้านนี้อาจจะมีมากขึ้นและจะยิ่งตอกย้ำความเปราะบางของภาคครัวเรือน


ประเด็นที่สาม : “สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการที่เร่งตัวขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่แตกต่างกันเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพ”

  • ผลกระทบจากราคาสินค้าที่มีการปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ปรับลดปริมาณการซื้อสินค้าและบริการในภาพรวม โดยเฉพาะผู้บริโภคในกลุ่มที่มีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย อย่างไรก็ดี ค่าใช้จ่ายในสินค้าจำเป็น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง และอาหาร แม้ผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่าราคาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังบริโภคในปริมาณเท่าเดิม/เพิ่มขึ้น
  • การเลือกซื้อสินค้าจัดรายการโปรโมชันและการซื้อสินค้าออนไลน์ถือเป็นวิธีการปรับพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่ผู้บริโภคนิยมใช้ โดยผู้บริโภคในกลุ่ม Gen Z ถือเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อกลยุทธ์การตลาดเนื่องจากมีการปรับพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าหลากหลายรูปแบบกว่า Generation อื่น ขณะที่ผู้บริโภคในกลุ่ม Baby boomer มีการปรับพฤติกรรมค่อนข้างน้อย อีกทั้ง ยังมีความภักดีต่อแบรนด์สินค้าสูงจากการปรับพฤติกรรมโดยการเลือกซื้อสินค้าแบบเดิมแต่ลดปริมาณเป็นหลัก


ประเด็นที่สี่ : “ผู้บริโภคยังมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายสำหรับกิจกรรมนอกบ้านและมีแนวโน้มส่งผลต่อเนื่องในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดี การซื้อสินค้าออนไลน์และการใช้บริการ Food delivery มีแนวโน้มกลายเป็นหนึ่งในพฤติกรรม New normal เนื่องจากผู้บริโภคยังคงใช้งานต่อไปแม้สถานการณ์ COVID-19 จะคลี่คลาย”

  • ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงใช้จ่ายสำหรับกิจกรรมนอกบ้านลดลง เนื่องจากความกังวลด้านสุขภาพอนามัยและผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคกลุ่มที่ไม่มีปัญหาทางการเงินมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายในกิจกรรมนอกบ้านเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นจาก Pent-up demand ที่การใช้จ่ายถูกจำกัดในช่วงที่มีมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด ดังนั้น ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมนอกบ้านอาจต้องสร้างความมั่นใจในด้านสุขอนามัยและจัดกิจกรรมทางการตลาดเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค
  • ผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้บริการซื้อสินค้าออนไลน์และ Food delivery ต่อไปในระยะข้างหน้า เนื่องจากความสะดวกรวดเร็วและโปรโมชันด้านราคาบน Online platform แม้ผู้บริโภคบางส่วนในกลุ่มที่ไม่มีปัญหาทางการเงินมีแนวโน้มใช้บริการดังกล่าวลดลงจากการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น เช่น การทานอาหารที่ร้าน หรือออกไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลยุทธ์การตลาดแบบ Omni-channel ที่เชื่อมโยงช่องทางออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญในการเสนอทางเลือกที่หลากหลายให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงสินค้าสะดวกมากขึ้น

โดยสรุป ข้อค้นพบจากผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคของ EIC ได้บ่งชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นสวนทางกับรายได้ที่ทรงตัว โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น ด้วยการปรับพฤติกรรมการซื้อสินค้าเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพ นอกจากนี้ผู้บริโภคยังมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายสำหรับกิจกรรมนอกบ้าน ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้มีแนวโน้มต่อเนื่องไปในระยะข้างหน้า จากการที่ผู้บริโภคยังมองว่า รายจ่ายของตนจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่ารายได้ ประกอบกับปัญหาทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ผู้บริโภคกำลังเผชิญอยู่ ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องรัดเข็มขัดต่อไป

อ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็มได้ที่ https://www.scbeic.com/th/detail/product/consumer-survey-240822