ทันทุกข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจการลงทุน กับ CP Business Watch
สำนักเศรษฐกิจและการลงทุนของเครือฯ (Economic and Investment Center) ขอนำเสนอ ข่าว บทความ และบทวิเคราะห์เชิงลึกที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารและพนักงานในเครือฯ เพื่อเสริมการตัดสินใจด้านธุรกิจและการลงทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค และการลงทุน เพื่อใช้ประกอบการวางแผนกลยุทธ
เศรษฐกิจไทย
ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เคาะแล้ว สูงสุด 354 บาท มีผล 1 ต.ค. 2565
- คณะกรรมการค่าจ้าง มีมติปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ในรอบ 2 ปี โดยแบ่งเป็น 9 อัตรา ชลบุรี ระยอง ภูเก็ต ขึ้นสูงสุดเป็น 354 บาท ค่าแรงต่ำสุดอยู่ที่ยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าน อุดรธานี ที่ 328 บาท สำหรับกรุงเทพฯและปริมณฑล อยู่ที่ 353 บาท ทั้งนี้อัตราค่าแรงเฉลี่ยอยู่ที่ 337 บาท คิดเป็นการปรับขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.02 โดยกระทรวงแรงงานจะเร่งเสนอ ครม. เพื่อให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป (ประชาชาติธุรกิจ)
ยานยนต์ไฟฟ้า
แบรนด์รถยนต์น้องใหม่ เนต้า เปิดตัวรถไฟฟ้ารุ่น NETA V ราคา 549,000 บาท
- เนต้า ไทยแลนด์ (NETA Thailand) ภายใต้บริษัท โฮซอน นิว เอนเนอร์ยี่ ออโต้โมบิล จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน โดยกำหนดไทยเป็นสำนักงานศูนย์กลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป้าหมายหลัก คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และ สิงคโปร์
- ทั้งนี้ เนต้า ได้เปิดตัวรถรุ่นแรกในไทย คือ NETA V รถยนต์ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ที่มาพร้อมขุมพลัง 95 แรงม้า แรงบิด 150 นิวตันเมตร ขับได้ 384 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง ราคาขายอยู่ที่ 549,000บาท ภายใต้มาตรการสนับสนุนของภาครัฐ ซึ่งประกอบด้วย การลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% และเงินสนับสนุนคันละ 150,000 บาท (หากไม่มีมาตรการส่งเสริม ราคาจะอยู่ที่ 760,000 บาท) (กรุงเทพธุรกิจ)
เศรษฐกิจต่างประเทศ
ตลาดดาวโจนส์ทรุด 1,008.38 จุดหวั่นเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรงฉุดเศรษฐกิจถดถอย
- ดัชนีดาวโจนส์วันศุกร์ (26 ส.ค.) ดิ่งหนัก 1,008.38 จุด หลังจากที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นาย เจอโรม พาวเวล ย้ำว่าเฟดจะยังคงเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และมีแนวโน้มที่เป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ในเดือนกันยายน ”เราจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป จนกว่าจะมั่นใจว่าภารกิจของเราจะประสบความสำเร็จ โดยภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอาจได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ความล้มเหลวในการรักษาเสถียรภาพของราคาจะทำให้เกิดผลกระทบมากกว่า” (กรุงเทพธุรกิจ)