เมื่อวันที่ 1 กันยายนนี้ เว็บไซต์ nytimes.com รายงานว่า ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ทั้ง Apple และ Google จะเปิดตัวสินค้าสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ที่จะแตกต่างจากรุ่นเดิม แต่สิ่งหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง ทว่าผู้บริโภคอาจจะไม่ได้สังเกตก็คือว่า สมาร์ทโฟนรุ่นล่าสุดนี้ไม่ได้ “ผลิตในจีน” แล้ว บางส่วนของ iPhone รุ่นล่าสุดจะผลิตในอินเดีย ส่วนโทรศัพท์ Pixel ของ Google จะผลิตในเวียดนาม
การย้ายฐานการผลิตของบริษัทไฮเทคออกจากจีน เป็นมาตรการรับมือกับความวิตกเรื่องความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาการหยุดชะงักด้านซัพพลายเออร์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพราะจีนยึดมั่นนโยบายโควิดเป็นศูนย์ จึงใช้มาตรการล็อกดาวน์กับการระบาดของโควิด-19
ในระยะที่ผ่านมา จีนกลายเป็นโรงงานโลกของการผลิตสินค้าผู้บริโภคไฮเทค เพราะแรงงานมีฝีมือและความสามารถของโรงงานจีนในการผลิตสินค้ารุ่นไฮเทครุ่นใหม่ออกสู่ตลาด
Apple อาศัยผู้ผลิตชิ้นส่วนจีนถึง 44%
บริษัทไฮเทคของสหรัฐฯ มองเห็นความเสี่ยงมากขึ้นหากยังผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในจีนต่อไป ในสมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ สหรัฐฯ กับจีนก็เปิดสงครามการค้าโดยใช้มาตรการเก็บภาษีตอบโต้กันและกัน จีนใช้มาตรการซ้อมรบทางทหารรอบเกาะไต้หวัน หลังจากการไปเยือนไต้หวันเมื่อเดือนสิงหาคมของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนฯสหรัฐฯ บริษัทสหรัฐฯ เกรงว่า หากยังอาศัยห่วงโซ่อุปทานส่วนใหญ่จากจีน จะทำให้ตัวเองตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสองมหาอำนาจมากขึ้น แต่จีนยังคงเป็นผู้ประกอบการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภครายใหญ่สุดของโลก
สินค้าไฮเทคผู้บริโภคที่ย้ายการผลิตออกจากจีนไม่ได้มีเพียงสมาร์ทโฟนเท่านั้น Apple กำลังผลิต iPad ที่ทางเหนือของเวียดนาม Microsoft ก็ผลิต Xbox Game Console จากนครโฮจิมินห์ Amazon ผลิต Fire TV จากเมืองเชนไนของอินเดีย (Fire TV คืออุปกรณ์ทำให้โทรทัศน์สามารถรับชมรายการจาก Netflix หรือ HBO)
ที่ผ่านมา จีนมีบทบาทสำคัญมากต่อห่วงโซ่การผลิตของ Apple ในปี 2015 เมื่อ Apple พิมพ์รายชื่อบริษัทที่เป็นซัพพลายเออร์และบริษัทในเครือว่ามีอยู่ทั้งหมด 198 บริษัททั่วโลก บริษัทเหล่านี้มีบริษัทย่อยในเครือ 759 บริษัทที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนให้กับ Apple เช่น บริษัท Foxconn ที่ทำการผลิต iPhone โดยเป็นบริษัทซัพพลายเออร์ย่อย ที่ตั้งอยู่ในจีนถึง 336 บริษัท หรือ 44% ของซัพพลายเออร์ทั้งหมดของ Apple
รายงานของ nytimes.com กล่าวว่า การแตกกระจายของห่วงโซ่อุปทาน ออกจากจีนไปทั่วเอเชีย ทำให้ราคาที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของเวียดนามเพิ่มมากขึ้น การผลิตด้านอิเล็กทรอนิกส์ในมาเลเซียฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ และความต้องการคนงานค่าแรงถูกในอินเดียพุ่งสูงขึ้น นักวิเคราะห์คนหนึ่งให้ความเห็นว่า อาณาจักรการผลิตของจีนกำลังถูกสั่นคลอน บริษัทต่างๆ ล้วนคิดเรื่องย้ายการผลิตออกจากจีน
เวียดนามคือผู้ชนะ
ในการย้ายการผลิตออกจากจีน เวียดนามได้รับการพูดถึงมากที่สุดในการเป็นทางเลือกการผลิตแทนจีน Apple ผลิต AirPods หูฟังไร้สาย ในเวียดนามมาตั้งแต่ปี 2020 หลังจากนั้น Apple เริ่มผลิตนาฬิกาและ iPad บางส่วน เดือนเมษายนที่ผ่านมา ในการเปิดเผยรายชื่อซัพพลายเออร์ 200 แห่งของ Apple มีซัพพลายเออร์ 20 แห่งที่ใช้โรงงานการผลิตในเวียดนาม
บริษัท Foxconn ผู้รับช่วงการผลิตรายใหญ่สุดของ Apple เพิ่งจะลงนามข้อตกลงมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ เพื่อขยายโรงงานการผลิตใหม่ในภาคเหนือของเวียดนาม ที่จะมีการจ้างงาน 30,000 คน ก่อนหน้านี้ Foxconn ลงทุนในเวียดนามมาแล้ว 1.5 พันล้านดอลลาร์
รายงานของ nytimes.com บอกว่า ป้ายโฆษณาของ Foxconn หน้าโรงงานที่เมือง Bac Ninh บอกว่า กำลังรับสมัครคนงานใหม่ด่วนจำนวน 5,000 คน โดยค่าแรงเริ่มต้นที่เดือนละ 300 ดอลลาร์ ซึ่งต่ำว่า 50% ของค่าจ้างแรงงานใหม่ของโรงงาน Foxconn ในเมืองเสิ่นเจิ้น ซึ่งตกเดือนละ 4,500 หยวน หรือ 650 ดอลลาร์ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนงานจีนได้ค่าแรงเพิ่ม 3 เท่าจาก 258 ดอลลาร์เป็น 775 ดอลลาร์ต่อเดือน
ความสำคัญของห่วงโซ่อุปทาน
หนังสือ Globalization and the Wealth of Nation กล่าวถึงความสำคัญของระบบการผลิตแบบห่วงโซ่อุปทาน (global supply chain – GSC) ว่า ในอดีตนักเศรษฐศาสตร์คลาสสิกโบราณอย่าง David Ricardo เสนอแนวคิด “ความได้เปรียบจากการเปรียบเทียบ” หรือ comparative advantage เช่น หากอังกฤษถนัดที่จะผลิตเสื้อผ้า และโปรตุเกสถนัดผลิตเหล้าไวน์ สองประเทศก็ค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่ตัวเองถนัด สิ่งนี้เรียกว่า “การค้าระหว่างอุตสาหกรรม” (inter-industry trade)
แต่ David Ricardo มองไม่เห็นว่าในอนาคตจะเกิดการค้าแบบ “ภายในอุตสาหกรรม” (intra-industry trade) หรือที่เรียกว่าห่วงโซ่อุปทานโลก อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์คือตัวอย่างของ “การค้าภายในอุตสาหกรรม”
ในต้นศตวรรษที่ 20 การผลิตรถยนต์ถือเป็นอุตสาหกรรมภายในประเทศ ที่การผลิตชิ้นส่วนกระจายไปบริษัทย่อยมากมาย แต่ทุกวันนี้ การประกอบรถยนต์อาศัยชิ้นส่วนที่ผลิตจากบริษัทที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัทผู้ประกอบรถยนต์ การผลิตชิ้นส่วนอาจไม่ได้ผลิตจากสถานที่เดียวกัน หรือในประเทศประเทศเดียวกัน
Robert Reich เขียนไว้ในหนังสือ The Work of Nations (1991) ว่า ในต้นทศวรรษ 1990 รถยนต์ญี่ปุ่นที่ขายในสหรัฐฯ มีชิ้นส่วนที่ผลิตจากภายในสหรัฐฯ มากกว่ารถยนต์แบบเดียวกันของบริษัทอเมริกา กระบวนการผลิตที่เกิดขึ้นแบบนี้ เรียกว่า “ห่วงโซ่คุณค่า” (value chain) ที่ตัวผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงจากบริษัทหนึ่งไปอีกบริษัทหนึ่ง สัญชาติของตัวสินค้าก็เปลี่ยน เมื่อเคลื่อนไหวไปตามห่วงโซ่คุณค่า
UNCTAD องค์การการพัฒนาสหประชาชาติ ให้คำจำกัดความของ “ห่วงโซ่คุณค่าโลก” หรือ global value chain คือธุรกรรมของกระบวนการสร้างคุณค่า ที่เกี่ยวพันมากกว่า 1 ประเทศ จากตัวเลขปี 2013 60% ของการค้าโลกเกี่ยวข้องกับกระบวนการใดหนึ่งของการผลิตสินค้า ตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์ Laptop ของ Dell อาศัยชิ้นส่วนและรวมทั้งการประกอบ ที่มาจาก 17 ประเทศ
ยุคการพัฒนาที่แตกต่างจากอดีต
รายงานของสหประชาชาติชื่อ Asia-Pacific Trade and Investment Report 2015 ได้อธิบายคุณูปการของ “ห่วงโซ่คุณค่าโลก” ว่าจะมีผลต่อการพัฒนาอย่างไร เป้าหมายสูงสุดในการพัฒนาของประเทศหนึ่ง คือ การยกระดับทางสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศมีการจ้างงานมากขึ้น งานที่ให้ผลตอบแทนดีขึ้น การใช้ทรัพยากรที่ยั่งยืนมากขึ้น การมีธรรมาภิบาลที่ดีขึ้น และการเมืองมีเสถียรภาพ
การยกระดับด้านสังคมและเศรษฐกิจ ถือกันว่า มักเกิดขึ้นจากกระบวนการ “ยกระดับการผลิตด้านอุตสาหกรรม” (industrial upgrading) ที่ในปัจจุบัน เกิดขึ้นจากกระบวนการทางอุตสาหกรรม และการค้าภายใน “ห่วงโซ่คุณค่าโลก”
ช่วงก่อนกลางทศวรรษ 1980 ความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมหมายถึง การสร้างห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดของอุตสาหกรรมใดหนึ่ง ให้เกิดขึ้นภายในประเทศหนึ่ง ความสามารถของประเทศหนึ่งที่จะสามารถผลิตห่วงโซ่ดังกล่าว มาจากการเรียนรู้โดยผ่านการลงมือทำที่ใช้เวลานานนับสิบๆ ปี ประเทศที่ประสบความสำเร็จจากโมเดลการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบเดิมนี้ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน
แต่ปัจจุบันนี้ การแบ่งการผลิตในขอบเขตทั่วโลกออกเป็นส่วนๆ ในลักษณะของห่วงโซ่คุณค่า และการแบ่งงานการผลิต ทำให้ประเทศต่างๆ สามารถได้ประโยชน์จากการค้าโลกโดยที่ประเทศนั้นไม่จำเป็นจะต้องพัฒนาห่วงโซ่การผลิตทั้งหมดของตัวเองขึ้นมาเพื่อเข้าร่วมการค้าโลก การเข้าร่วมในการผลิตแบบห่วงโซ่อุปทานโลกยังทำให้ธุรกิจนั้น ต้องพัฒนาประสิทธิภาพอย่างไม่หยุดนิ่ง
ในระยะยาว การผลิตของประเทศหนึ่งที่จะสามารถเข้าร่วมห่วงโซ่คุณค่าโลกได้ต่อเนื่อง ทั้งธุรกิจและประเทศนั้นจะต้องสามารถ “ยกระดับ” ห่วงโซ่การผลิตที่ธุรกิจนั้นมีส่วนร่วม รายงานของประชาชาติกล่าวว่าการยกระดับมีอยู่ 4 แบบ คือ
1) การยกระดับในกระบวนการผลิต (process upgrading) คือประสิทธิภาพการผลิตที่มาจากการใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น
2) การยกระดับผลิตภัณฑ์ (product upgrading) คือการเข้าสู่สายผลิตภัณฑ์ (product line) ที่ซับซ้อนและมีมูลค่ามากขึ้น
3) การยกระดับสู่ขั้นตอนของห่วงโซ่ที่มูลค่าสูงขึ้น (functional upgrading) เช่น การออกแบบและการตลาด
4) การยกระดับสู่ธุรกิจใหม่ (intersectoral upgrading) ใช้ประโยชน์ความชำนาญจากภาคการผลิตหนึ่งสู่ภาคการผลิตใหม่
ในยุคที่การพัฒนาเศรษฐกิจโลกเรา เกิดขึ้นจากเครือข่ายการผลิตในขอบเขตของโลก หรือ Global Production Networks (GPN) การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศหนึ่งจะต้องเปลี่ยนจากมุ่งสร้างอุตสาหกรรมระดับประเทศ มาเป็นการสร้างความชำนาญการเฉพาะในเครือข่ายการผลิตระดับโลกนี้
การย้ายฐานการผลิตสินค้าไฮเทคผู้บริโภคจากจีนมาเวียดนามมีความหมายสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การย้ายการจ้างงานสำหรับคนชั้นกลาง มายังประเทศที่กำลังพัฒนา มีรายได้ปานกลางระดับต่ำ สหรัฐฯ เองก็ต้องการให้การจ้างงานสำหรับคนชั้นกลางนี้ กลับคืนมายังสหรัฐฯ
เมื่อเดือนมกราคม 2012 ประธานาธิบดีบารัก โอบามา เคยถามสตีฟ จอบส์ ว่า “ทำอย่างไรที่จะทำให้ iPhone กลับมาผลิตในอเมริกาอีก” สตีฟ จอบส์ ตอบว่า “งานพวกนี้จะไม่กลับมาอเมริกาอีกแล้ว”
เอกสารประกอบ
Tech Companies Slowly Shift Production Away from China, September 01, 2022, nytimes.com
Globalization and the Wealth of Nations , Brian Easton, Auckland University Press, 2013.
Asia-Pacific Trade and Investment Report 2015, www.unescap.org