วิจัยชี้กว่า 100 ประเทศทั่วโลกเสี่ยงเผชิญความไม่สงบจากปัญหาเงินเฟ้อ

งานวิจัยซึ่งรวบรวมโดยเวริสก์ เมเพิลครอฟต์ (Verisk Maplecroft) ซึ่งเป็นบริษัทด้านการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลระบุว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดความไม่สงบได้เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ ขณะที่ประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้วและกลุ่มตลาดเกิดใหม่กำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ตลอดจนความวุ่นวายที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากการที่รัสเซียส่งกำลังทหารเข้าทำสงครามในยูเครน

ดัชนีความไม่สงบ (Civil Unrest Index) ซึ่งเป็นดัชนีที่ติดตามสถานการณ์ใน 198 ประเทศระบุว่า มี 101 ประเทศที่มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดความไม่สงบในไตรมาส 3 ของปีนี้ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลในปี 2559

งานวิจัยดังกล่าวยังระบุด้วยว่า มีแนวโน้มมากขึ้นที่จะเกิดความไม่สงบทั่วยุโรป ซึ่งเป็นภูมิภาคที่จะเผชิญกับปัญหาขาดแคลนพลังงานในฤดูหนาว อันเป็นผลมาจากสงครามในยูเครน เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังเผชิญกับการพุ่งขึ้นของราคาอาหารที่จำเป็น ซึ่งเป็นชนวนเหตุที่ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตอาหารทั่วโลก โดยภัยคุกคามดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะขยายตัวขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

ทั้งนี้ ความไม่สงบมีแนวโน้มที่จะเกิดจากการชุมนุมประท้วงของประชาชนและการประท้วงผละงานของแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งอาจทำลายโครงสร้างทางสังคมของประเทศต่าง ๆ

“เหตุการณ์เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชน โดยเรามองว่า ในกรณีเลวร้ายที่สุดนั้น ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่อาจเกิดเหตุจลาจล, การปล้นสะดม หรือแม้กระทั่งความพยายามในการโค่นล้มรัฐบาล” นางจีเมนา บลังโก หัวหน้านักวิเคราะห์ของเวริสก์ เมเพิลครอฟต์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก

ทั้งนี้ เวริสก์ เมเพิลครอฟต์ระบุว่า เหตุการณ์ความไม่สงบมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเบื้องต้น เนื่องจากประชาชนเดือดร้อนจากวิกฤตเงินเฟ้อที่รุนแรง และแนวทางที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น มีเพียงการปรับลดราคาอาหารและพลังงานลงอย่างมาก

นอกจากนี้ สภาพอากาศที่เลวร้ายก็เป็นอีกปัจจัยลบด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในยุโรปซึ่งสภาพอากาศหนาวเย็นจะเร่งให้วิกฤตพลังงานในยุโรปทวีความรุนแรงขึ้น

งานวิจัยของเวริสก์ เมเพิลครอฟต์ยังระบุด้วยว่า กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่คาดว่าจะเกิดความไม่สงบรุนแรงนั้น รวมถึงศรีลังกาซึ่งการประท้วงรุนแรงจากการขาดแคลนเชื้อเพลิง และการบริหารประเทศที่ผิดพลาดได้นำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลในปีนี้

ดัชนี Civil Unrest Index นั้นจัดทำขึ้นจากการสำรวจต่าง ๆ ที่ประเมินหลากหลายปัจจัย เช่น เงินเฟ้อ, กลไกในการรับมือกับความขัดแย้ง และผลกระทบที่เกิดจากความไม่สงบ

 

ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์