รายงานข่าว จากคณะทำงานตัดสินโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืน ประจำปี 2565 เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการฯ ได้คัดเลือกและพิจารณาโครงการที่โดดเด่นกันอย่างเข้มข้น ขณะนี้การคัดเลือกโครงการทุกประเภทเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย โดยในปีนี้มีโครงการจากประเทศไทย ที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 39 โครงการ และ โครงการจากเขตต่างประเทศ 24 โครงการ รวมทั้งสิ้น 63 โครงการ
ขอแสดงความยินดีกับทุกกลุ่มธุรกิจที่ได้รับรางวัลซีพีเพื่อความยั่งยืนประจำปีนี้ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจในประเทศไทย โดยมี ซีพีเอฟ ได้รับการคัดเลือกรวม 12 โครงการ, ซีพี ออลล์ 3 โครงการ, ทรู 7 โครงการ, เครือเจริญโภคภัณฑ์ 11 โครงการ, แม็คโคร 3 โครงการ, โลตัส 2 โครงการ และซีพีพีซี 1 โครงการ ส่วนกลุ่มธุรกิจในต่างประเทศ เป็นโครงการจากประเทศจีน 14 โครงการ, เวียดนาม 4 โครงการ, มาเลเซีย 2 โครงการ, ลาว 2 โครงการ, กัมพูชา 1 โครงการ และเมียนมาร์ 1 โครงการ
ดร.สดุดี สุพรรณไพ ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืน กล่าวแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืน โดยกล่าวว่า ภาพรวมของการดำเนินงานในปีนี้ทุกโครงการสามารถทำให้เกิดผลลัพธ์ โดยช่วยเหลือและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในชุมชนและสังคม ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักของโครงการนี้
“ ยินดีกับทุกคนที่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการขับเคลื่อนโครงการได้เป็นผลสำเร็จ การคัดเลือกครั้งนี้ มีโครงการที่ได้รับคัดเลือกและไม่ได้รับคัดเลือก โครงการที่ไม่ได้รับรางวัล ขอให้กลับไปพัฒนา ต่อยอดโครงการ พร้อมทั้งลงรายละเอียดประเด็นที่ต้องการนำเสนอให้ชัดเจน โดยต้องให้สอดคล้องกับเกณฑ์ที่กำหนด ผมเชื่อว่าโครงการที่ทุกท่านทำในวันนี้ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมสามารถนำไปต่อยอด ขยายผล และจะมีความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น”
ด้าน ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล หนึ่งในคณะกรรมการกลั่นกรองกล่าวว่า “ผมเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของพนักงานเครือซีพี ในการทำโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในหลายมิติของความยั่งยืนที่ลงลึกมากขึ้น อย่างในมิติด้านการศึกษา ที่ทำโครงการเชิงลึกไปถึงการสร้างทักษะฝึกอาชีพคนในชุมชนให้สามารถนำความรู้ไปพัฒนาสร้างงานสร้างอาชีพได้ รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนา คุณภาพชีวิต กลุ่มคนพิการและด้อยโอกาสเพิ่มมากขึ้น”
ดร. เพิ่มศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า โครงการต่าง ๆ ที่เสนอมานั้นมีการคิดที่เป็นระบบมากขึ้น มีการพัฒนาโครงการที่บูรณาการมิติทางด้านการศึกษา เทคโนโลยีและการเกษตรเข้าด้วยกัน พร้อมทั้งกล่าวชื่นชมเครือซีพีที่เปิดโอกาสให้พนักงานในเครือฯ ได้สร้างประโยชน์ให้แก่คนในประเทศไปพร้อมกับการเติบโตของการดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนแท้จริง
ขณะที่ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า โครงการที่ส่งเข้ามาคัดเลือกในปีนี้ มีความน่าสนใจ คือ โครงการส่วนใหญ่คำนึงถึงประโยชน์ตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยให้ความสำคัญกับเรื่องของ Value Chain เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและน่าชื่นชม เพราะการดําเนินธุรกิจภายใต้หลักของความยั่งยืน จะต้องพิจารณาให้เห็นถึงความสําคัญของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร
นอกจากนี้ การที่มีโครงการจากกลุ่มธุรกิจต่างประเทศส่งเข้ามาร่วมคัดเลือกเพิ่มมากขึ้น โดยแต่และประเทศเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทําให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและเจตนารมณ์ของเครือซีพีในการเข้าไปลงทุนและสร้างประโยชน์ให้แก่คนในประเทศนั้น ๆ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ คุณบุญลาภ ภูสุวรรณ บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวไทยพับลิก้า กล่าวว่า ปีนี้โครงการมีความหลากหลายทั้งโครงการระดับชุมชนในรูปแบบ CSR ไปจนถึงโครงการที่จะสร้างความยั่งยืนในระดับประเทศที่เป็นความร่วมมือระหว่างเครือซีพีและรัฐบาล ในขณะเดียวกันโครงการส่วนใหญ่ยังเป็นโครงการที่มีความต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับนัยยะสำคัญของความยั่งยืนที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญจะต้องเกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
“ขอชื่นชมเครือซีพีที่ได้ทำโครงการต่าง ๆ ที่ไม่เพียงมองแค่ระดับชุมชน แต่ได้มองถึงประโยชน์ของประเทศเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งได้ครอบคลุมในทุกมิติอีกด้วย