ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาประชาชนทุกคนทั่วทั้งประเทศที่ต้องประสบค่าครองชีพที่สูงขึ้น จากราคาอาหารและบริการที่สูงขึ้นเป็นหลัก ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น โดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค(Consumer Price Index:CPI) ทั่วประเทศ เดือนสิงหาคม 2565 เท่ากับ 107.46 สูงขึ้น 7.86% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และมีแนวโน้มสูงขึ้น
โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม และราคา น้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังสูงกว่าปีที่ผ่านมา แม้ว่าเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าราคาจะลดลง รวมทั้งราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาผักสด เนื่องจากฝนตกชุก และน้ำท่วมขังพื้นที่เพาะปลูก ส่งผลให้ผลผลิตเสียหาย และปริมาณเข้าสู่ตลาดน้อยลง ราคาไข่ไก่ปรับสูงขึ้นตามราคาประกาศหน้าฟาร์ม สำหรับเครื่องประกอบอาหารราคาสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง
เมื่อเทียบรายปี หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 9.35 โดยเป็นการสูงขึ้นของสินค้าทุกกลุ่ม ส่วนหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 6.83 โดยมีสาเหตุหลักจากการสูงขึ้นของหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ร้อยละ 8.47
เมื่อจำแนกดัชนีราคาผู้บริโภครายภาค พบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคในทุกภาคเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าขยายตัวในอัตราเพิ่มขึ้น ในเดือนสิงหาคมอัตราเงินเฟ้อของภาคเหนือสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ โดยสูงขึ้น 8.24% รองลงมาได้แก่ กรุงเทพฯและปริมณฑลสูงขึ้น 7.98% ภาคกลางสูงขึ้น 7.94% และภาคใต้สูงขึ้น 7.88% ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือสูงขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ที่ 7.34%
อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในกรุงเทพฯและปริมณฑลสูงขึ้น 10.47% ภาคเหนือสูง 9.71% ภาคกลางสูงขึ้น 9.01% และภาคใต้สูงขึ้น 8.91% ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือสูงขึ้น 8.52%
เมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้า พบว่า สินค้าสำคัญที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นในทุกภาค ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง กับข้าว สำเร็จรูป และอาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลงในทุกภาค ได้แก่ ค่าส่งพัสดุไปรษณีย์ ผักและผลไม้ อาทิ ขิง มะนาว และสับปะรด
ไทยพับลิก้า สำรวจข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคระดับจังหวัดเดือนสิงหาคม 2565จากกองดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อดูว่าจังหวัดไหนของไทยที่เงินเฟ้อสูงสุด ก็พบว่า
แม่ฮ่องสอน มีเงินเฟ้อสูงสุดและสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ โดยดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 10.30% จากระยะเดียวกันของปีก่อนและเพิ่มขึ้น 0.10% จากเดือนกรกฎาคม ส่วนในรอบ 8 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 9.60% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
แม่ฮ่องสอน จังหวัดชายแดนด้านตะวันตกของไทยทางภาคเหนือตอนบน ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 924 กิโลเมตร เป็นจังหวัดที่ติดอันดับท่องเที่ยวของประเทศที่มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาเยือนจำนวนมากในช่วงหน้าหนาว แต่ขณะเดียวกันเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุดเป็นอันดับแรกของประเทศ มีปัญหาความยากจนเรื้อรัง
จังหวัดที่เศรษฐกิจมีขนาดเล็กที่สุดในประเทศแห่งนี้ กำลังจะเจอปัญหาเงินเฟ้อสูงที่สุดในประเทศเข้าไปอีก ในยุคข้าวยากหมากแพง
ข้อมูลผลิตภัณฑ์ภาคและจังหวัด(GPP)จาก สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ปี 2563 แม่ฮ่องสอนมี GPP รวมมูลค่า 15,148 ล้านบาทมี GPP per capita หรือรายได้ต่อหัวประชากร 63,419 บาท
เมื่อวันที่ 13 กันยายน คณะรัฐมนตรี รับทราบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 1 กันยายน 2565 โดยกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศอยู่ที่ 328 – 354 บาทต่อวัน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ส่งผลให้แม่ฮ่องสอนเป็นหนึ่งใน 22 จังหวัดที่ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็น 332 บาทต่อวัน
ใน 10 จังหวัดของประเทศที่มีเงินเฟ้อสูงสุด นอกจากแม่ฮ่องสอนแล้วยังประกอบด้วย พิจิตร ชัยภูมิ นราธิวาส นครศรีธรรมราช อ่างทอง ลำปาง ชุมพร ตาก ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ มีเพียงหนึ่งจังหวัดจากภาคตะวันออกฉียงเหนือ คือเลย
ส่วนใหญ่ทุกจังหวัดเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในระดับ 5% ขึ้นไป ยกเว้นหนองบัวลำภูจังหวัดเดียวที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 3.90%
โครงสร้างดัชนีราคาผู้บริโภคระดับจังหวัดในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 7 หมวดใหญ่ ได้แก่ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า หมวดเคหสถาน หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร หมวดการบันเทิงการอ่านและการศึกษา หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์