CPF ร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ใช้ยาต้านจุลชีพอย่างรับผิดชอบ ในการเสวนาเรื่อง “อดีต ปัจจุบัน และทิศทางอนาคตของการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ” ในงานประชุมประชุมระดับชาติ เรื่อง เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (National Aqua AMR Forum) จัดโดย กองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ กรมประมง ณ ห้องประชุมธีระ สูตะบุตร อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
น.สพ.พรชัย ทัศนวิสุทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงสัตว์น้ำ CPF กล่าวว่า CPF ประกาศนโยบาย “วิสัยทัศน์ระดับโลกด้านการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์” ตั้งแต่ปี 2560 ให้ทุกกิจการของ CPF ทั้งในไทยและทั่วโลกนำไปปฏิบัติ เพื่อผลิตอาหารปลอดภัย มีคุณภาพ และยั่งยืน แก่ผู้บริโภคทั่วโลก ตามวิสัยทัศน์ “ครัวของโลก”
CPF ได้แบ่งนโยบายด้านการใช้ยาต้านจุลชีพฯ ออกเป็น 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดของสัตวแพทย์และใช้เพื่อการรักษาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น 2. หลีกเลี่ยงการใช้ยาต้านจุลชีพประเภทที่ใช้ทั้งในคนและสัตว์ (shared-class antimicrobials) และใช้เมื่อจำเป็นอย่างระมัดระวัง โดยจะเลือกใช้ยาสำหรับสัตว์เป็นลำดับแรก 3. ค้นหาแนวทางใหม่ที่ดีกว่าในการดูแลสัตว์ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (animal welfare) ลดความจำเป็นในการใช้ยาต้านจุลชีพ 4. เพิ่มบทบาทของสัตวแพทย์ในการกำกับดูแลการใช้ยาและร่วมงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนตระหนักรู้ด้านปัญหาเชื้อดื้อยา และ 5. พัฒนาการตรวจติดตามเชื้อดื้อยาตลอดทั้งห่วงโซ่อาหาร
ทั้งนี้ ในการผลิตกุ้ง CPF ให้ความสำคัญกับระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) โดยนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ เช่น ส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งในโรงเรือนระบบปิด การใช้ระบบกรองน้ำ ควบคู่ไปกับ Biofloc เพื่อจัดการแบคทีเรียและของเสียต่างๆ ในบ่อเลี้ยงไปจนถึงการรีไซเคิลน้ำกลับมาใช้ใหม่ภายในฟาร์ม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการนำเชื้อโรคจากภายนอกเข้าสู่ระบบการเลี้ยง ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการพัฒนาพันธุ์กุ้ง ใช้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลอดเชื้อ ทำให้ได้ลูกกุ้งที่สะอาด ปลอดเชื้อ อีกทั้งยังพัฒนาให้สายพันธุ์กุ้งเติบโตรวดเร็ว แข็งแรง และมีความต้านทานโรคสูง
น.สพ.พรชัย ย้ำว่า CPF ไม่ใช้ยาต้านจุลชีพและสารเร่งการเจริญเติบโต (growth promoter) ในการเลี้ยงสัตว์น้ำทุกชนิด อย่างไรก็ตาม เมื่อพบว่าสัตว์ป่วย CPF จะรักษาสัตว์ป่วยตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ โดยใช้ยาต้านจุลชีพอย่างรับผิดชอบภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในปริมาณที่เหมาะสม และมีระยะเวลาในการหยุดการใช้ยา นอกจากนี้ บริษัทฯ มีโปรแกรมตรวจสุขภาพสัตว์น้ำและสุ่มตรวจภาวะเชื้อดื้อยาเป็นประจำด้วย
บริษัทฯ ยังส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมและแนวทางใหม่ๆ ในการดูแลสัตว์น้ำเพื่อลดการใช้ยาต้านจุลชีพ เช่น สนับสนุนการวิจัยวัคซีน สารสกัดจากธรรมชาติออกฤทธิ์ต้านจุลชีพ กระตุ้นภูมิคุ้มกันสัตว์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำปลอดยาปฏิชีวนะ (Raised without Antibiotics)
CPF ยังถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกร รวมไปถึงผู้บริโภคในห่วงโซ่อุปทาน และเป็นผู้สนับสนุนคณะทำงานด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างมีความรับผิดชอบของเครือข่าย SeaBOS เป็นเครือข่ายความร่วมมือระดับสากลในการพิทักษ์มหาสมุทรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเล เพื่อส่งเสริมการใช้ยาต้านจุลชีพในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารทะเลอย่างสมเหตุสมผลและมีความรับผิดชอบ ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในอาหารทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภคทั่วโลก
CR.PR CPF