นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวว่า กระทรวงคลังเตรียมเสนอแนวคิดการใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 2 อัตรา โดยอัตราปกติ 7% สำหรับสินค้าทั่วไป และอัตราสูงกว่า 7% สำหรับสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ สุรา ยาสูบ เป็นต้น ว่าไม่เคยมีการหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตอนนี้ทุกอย่างยังเหมือนเดิม กระทรวงการคลังยังไม่ได้คิดเรื่องนี้อย่างจริงจังแต่อย่างใด
“ผมไม่ได้พูด ใครพูดก็ต้องไปถามคนนั้น แต่ยืนยันว่ายังไม่มีแนวคิดเรื่องนี้ และยังไม่ได้มีการคุยกัน โดยหากจะมีการเสนอให้เก็บภาษีแวต 2 อัตรา ก็ต้องไปดูว่าทำไมต้องใช้ 2 อัตรา ซึ่งตามหลักการของหลายประเทศการเก็บภาษี VAT กับสินค้าฟุ่มเฟือยก็อาจจะใช้ VAT ในอัตราที่เพิ่มขึ้นจากปกติ แต่สำหรับประเทศไทยตอนนี้ทุกอย่างยังเหมือนเดิม”
นายอาคม กล่าว
สำหรับหลักการในการปรับขึ้นภาษี VAT นั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ส่วนการจัดเก็บภาษี VAT แบบ 2 อัตรา หลายประเทศก็ทำกันอยู่ และสามารถทำได้ แต่ของไทยยังไม่ได้คุย โดยการดำเนินการเรื่องภาษี VAT นั้นไม่เพียงแต่ต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังต้องดูเรื่องข้อจำกัดในการจัดเก็บรายได้ของแต่ละประเทศด้วย โดยในส่วนของไทยขณะนี้ยังไม่มีปัญหาเรื่องการจัดเก็บแต่อย่างใด โดยภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในช่วง 11 เดือนของปีงบประมาณ 2565 ยังสามารถจัดเก็บได้ตามเป้าหมาย และมีการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่ทุกอย่างยังอยู่ในขีดความสามารถที่จะบริหารจัดการได้
ส่วนในปีหน้ามีประเด็นที่ต้องติดตามคือ ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้มีการติดตามและประเมินเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว
ในเรื่องของสถานการณ์เงินบาทที่อ่อนค่าลง นายอาคม กล่าวว่า เรื่องนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลและติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดอยู่ตลอด เรื่องเงินทุนไหลออก ธปท. ก็มีการติดตาม และรายงานให้กระทรวงการคลังรับทราบตลอดเช่นกัน ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีอะไรที่น่ากังวล
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงและเกินกรอบเป้าหมายนั้น นายอาคม ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีการปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ โดยยังอยู่ที่ระดับ 1-3% และตามหลักการแล้วหากเงินเฟ้อสูงเกินกรอบเป้าหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องมีการมาหารือกัน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการพูดคุยกันแล้ว และ ธปท.เองก็มีการใช้มาตรการทางการเงินในการดูแลเรื่องนี้ รวมทั้งมีการติดตามอย่างใกล้ชิดด้วย
ส่วนด้านต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ซึ่งถือเป็นต้นทุนขนาดใหญ่ของภาคการผลิตนั้น ที่ผ่านมาคลังก็ได้มีการใช้มาตรการทางภาษีเข้าไปช่วยเหลือ ส่วนวัตถุดิบอื่น ๆ ก็มีการควบคุมราคาขายปลีกเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ รวมถึงได้มีการหารือกับกระทรวงพาณิชย์ในการยืดเวลาการเพิ่มภาระภาษีสำหรับวัตถุดิบนำเข้าบางชนิด ที่มีราคาปรับสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ โดยมาตรการที่ดำเนินการทั้งหมด เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้
ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์