ดีลอยท์เปิดรายงานความท้าทายการจัดการความยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดีลอยท์ เผยรายงานฉบับใหม่ นำเสนอความมุ่งมั่นด้านการจัดการด้านความยั่งยืนของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

  • เพื่อแสดงศักยภาพทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ประชาคมอาเซียนจะต้องต่อสู้กับความท้าทายในการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • การทำตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนให้เป็นจริง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงองค์กรในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย
  • การจัดการด้านความยั่งยืนของประเทศไทย สามารถทำได้ดีในทั้ง 5 ประเด็นด้านความยั่งยืน ได้แก่ พลังงาน สภาพอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ น้ำ ขยะ และความเท่าเทียมทางเพศ

 

ดีลอยท์ เผยรายงานฉบับใหม่ในหัวข้อ “ความมุ่งมั่นในการจัดการด้านความยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปี 2565” นำเสนอความท้าทายในการจัดการด้านความยั่งยืนที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญอยู่ และความมุ่งมั่นของภาครัฐเพื่อจัดการกับความท้าทายเหล่านั้น เพื่อให้ภูมิภาคนี้ได้แสดงศักยภาพในทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่

รายงานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่ากุญแจสำคัญในพัฒนาการจัดการด้านความยั่งยืนคือการส่งเสริมให้แต่ละประเทศร่วมมือกันในระดับภูมิภาคและส่งเสริมภาครัฐสร้างพันธมิตรใหม่ๆ ที่ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ภาครัฐและภาคเอกชน องค์กรในประเทศและองค์กรระดับนานาชาติ

รายงานฉบับนี้ จัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง Deloitte Center for the Edge และสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (US-ASEAN Business Council) มุ่งให้ความสำคัญกับข้อมูลเชิงลึกของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนห้าด้านสำคัญ ที่คัดเลือกโดยสมาชิกสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน ได้แก่ พลังงานและสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ น้ำ ของเสียและความเท่าเทียมกันทางเพศ โดยข้อมูลเชิงลึกดังกล่าวสามารถใช้เป็นแหล่งข้อมูลแบบครบวงจรสำหรับบริษัทต่างชาติและนักลงทุนในการระบุประเด็นด้านความยั่งยืนที่อาจส่งผลกระทบมากที่สุด

รายงานดังกล่าวแสดงภาพรวมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมีการวิเคราะห์ข้อมูลโดยละเอียดจาก 9 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

ภาพรวมการจัดการด้านความยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ความคืบหน้าในการจัดการความยั่งยืนในปัจจุบันของแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านการวิเคราะห์ในรายงานตามระเบียบวิธีวิจัย มีการให้คะแนนตามผลงานของแต่ละประเทศ เป็นไปตามดัชนีที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เป้าหมายและพันธสัญญาของประเทศต่างๆ จะถูกนำมาประเมินกับเป้าหมายที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ซึ่งรวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) สิ่งเหล่านี้แสดงถึงความมุ่งมั่นในการจัดการความยั่งยืนของประเทศต่างๆ

การดำเนินการตามเป้าหมายเหล่านี้ให้ประสบผลสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยในการดำเนินการ 5 ประการที่ระบุไว้ในรายงาน ดังต่อไปนี้

  • มีกลไกการติดตามและบังคับใช้หรือไม่
  • ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเปราะบาง (ผู้หญิง เด็ก ชนกลุ่มน้อย ผู้มีรายได้น้อย) หรือไม่
  • การพัฒนาเป็นการวางแผนโดยยึดหลักฐานเป็นหลักหรือไม่
  • มีการลงทุนหรือจัดสรรงบประมาณตามเป้าหมายหรือไม่
  • มีความพยายามสร้างการรับรู้เกี่ยวกับเป้าหมายที่กำหนดหรือไม่

 

ในด้านพลังงานและสภาพอากาศ ภูมิภาคนี้ดำเนินการได้ดีเพื่อให้มีไฟฟ้าเพียงพอสำหรับประชากร 660 ล้านคน โดยประเทศต่างๆ ได้ 4 หรือ 5 คะแนนจากคะแนนเต็ม 5 คะแนน อย่างไรก็ตาม การรักษาสิ่งนี้ไว้ในขณะที่ความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสองทศวรรษข้างหน้า และในขณะเดียวกันก็ดำเนินการตามเป้าหมายการลดคาร์บอนอีกด้วย ถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญ

ภูมิภาคนี้มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วยพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสี่แห่ง อย่างไรก็ตาม ยังมีความจำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเร่งด่วนเพื่อมองหาแนวทางการเติบโตที่ยั่งยืนโดยไม่สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ยังพบว่าความคืบหน้าในปัจจุบันและเป้าหมายของประเทศที่มีการวิเคราะห์ในแง่ของการอนุรักษ์มหาสมุทร ระบบนิเวศบนบก และป่าไม้ ไม่เชื่อมโยงกันอีกด้วย

การจัดการทรัพยากรน้ำและของเสียยังคงเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับบางประเทศ อย่างไรก็ตาม เศษอาหารเป็นปัญหาใหม่ซึ่งรัฐบาลทั่วทั้งภูมิภาคเพิ่งจะเริ่มสามารถจัดการได้อย่างมีเป้าหมายมากขึ้น

ในประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ มีความคืบหน้าอย่างมากในการยุติการเลือกปฏิบัติ ความรุนแรง และการกระทำที่เป็นอันตรายทุกรูปแบบ นอกจากนี้ยังมีพัฒนาการในด้านการให้โอกาสที่เท่าเทียมกันและการส่งเสริมด้านการศึกษา สุขภาพ และเศรษฐกิจมากขึ้น แม้ว่าบทบาทในการเป็นตัวแทนทางการเมืองจะยังมีความคืบหน้าในระดับต่ำ

“ในฐานะที่ทวีปเอเชียเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคชั้นนำและเป็นแหล่งลงทุนโดยตรงของสหรัฐฯ ที่ใหญ่ที่สุด บริษัทสัญชาติสหรัฐฯ จึงลงทุนเพิ่มขึ้นในด้านต่างๆ เช่น การจัดการของเสีย การส่งเสริมบทบาททางเศรษฐกิจของผู้หญิง และการสนับสนุนโครงการริเริ่มในการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน เมื่อพวกเขาขยายกิจการเชิงพาณิชย์ในภูมิภาคที่มีการแข่งขันที่สูงนี้” มร. มาร์ค มีลลีย์ Senior Vice President-Policy สภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน

มร. ดุลีชา กุลสุรียา กรรมการผู้จัดการ Center for the Edge Deloitte Southeast Asia กล่าวเสริมว่า “ประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องมาจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และระบบนิเวศทางธรรมชาติที่กำลังพัฒนา มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อย่างไรก็ตาม มีโอกาสมากมายที่จะจัดการกับความท้าทายที่หลากหลายของภูมิภาคนี้ หากรัฐบาลอาเซียนดำเนินการตามพันธสัญญาด้านสภาพอากาศอย่างเด็ดขาด ร่วมมือกับภาคเอกชน และขับเคลื่อนการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืน พวกเขาสามารถขับเคลื่อนกลไกใหม่ของการเติบโตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ข้อมูลเชิงลึกสำหรับประเทศไทย

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green ทำให้ประเทศไทยมีผลการดำเนินงานที่ดีในการจัดการความยั่งยืนทั้ง 5 ด้าน

การขยายเขตเมืองในประเทศไทยส่วนใหญ่นำโดยเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 80 ของเขตเมืองทั้งหมดในประเทศ ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และประเทศไทยเองมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดในโลกต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่ ทำให้ประเทศไทยมีความเป็นเอกลักษณ์ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นศูนย์กลางธุรกิจเชิงพาณิชย์เท่านั้น แต่ยังเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสะอาดอีกด้วย

ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ที่ครอบคลุมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ทั้ง 17 ข้อ และยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเทศไทยยังมีส่วนร่วมในรายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2564 ระดับชาติโดยสมัครใจ (2021 Voluntary National Review on Sustainable Development) ซึ่งยืนยันว่าประเทศไทยมีการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างชัดเจน นอกจากนี้แนวโน้มการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศจะขึ้นอยู่กับ Bio-Circular-Green Economy (BCG) ซึ่งเป็นแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งดำเนินการทั้งในทางปฏิบัติ นโยบาย และอุตสาหกรรม

ในปัจจุบัน การขยายเขตเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยท้าทายสำหรับการพัฒนาประเทศ ในปี พ.ศ.2563 ประชากรมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์อาศัยอยู่ในเขตเมือง และประเทศไทยกำลังเผชิญกับอัตราการขยายเขตเมืองที่ลดลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากมีสัดส่วนของประชากรจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท และความท้าทายอื่นๆ ยังไม่ได้รับการจัดการ เช่น การจัดหาน้ำเพื่อให้บริการในพื้นที่ และการจัดการของเสียในเขตเทศบาลอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังทำให้เกิดสภาพอากาศที่แปรปรวนรุนแรง ซึ่งส่งผลให้ความท้าทายดังกล่าวทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

การเพิ่มขีดความสามารถให้กับกำลังแรงงานเป็นสิ่งสำคัญในขณะที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงจากประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลไทยเรียกว่า ‘Thailand 4.0’ การเข้าถึงโอกาสในการจ้างงานที่ดีขึ้นและการสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มอัตราการมีส่วนร่วมของผู้หญิงที่เป็นกำลังแรงงาน ซึ่งอยู่ที่ 59 เปอร์เซ็นต์ในปี 2564 การเปลี่ยนแปลงในทางเดียวกันทั้งสังคมนี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายกลุ่ม ควบคู่ไปกับการดำเนินการตามนโยบายที่มีเป้าหมายเพื่อกระจายทรัพยากรสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

มร. ดรูว์ แฮสสัน ผู้อำนวยการ (ความยั่งยืน) สภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายที่สำคัญและมีหลายแง่มุม ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นต่างๆ เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ น้ำ ของเสีย และความเท่าเทียมทางเพศ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจะเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยให้อาเซียนรับมือกับความท้าทายเหล่านี้”

นายกษิติ เกตุสุริยงค์ Sustainability & Climate Leader ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “โมเดล Bio-Circular-Green Economy (BCG) ของประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เราเริ่มเห็นการริเริ่มของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายเพื่อขับเคลื่อนวาระ BCG ไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ แต่เราจำเป็นต้องมีการลงทุนมากขึ้นและระบบนิเวศที่เข้มแข็งขึ้นสำหรับการพัฒนาแนวทางการแก้ปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินการตามแนวทางการลดคาร์บอนของเราเป็นไปตามเป้าหมาย

เพื่อให้สอดคล้องกับโมเดล BCG และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล สำรวจทางเลือกการประเมินค่าเศษอาหารให้มีมูลค่าสูงขึ้น และขยายเครือข่ายน้ำเสียผ่านโครงการสาธารณูปโภคและขีดความสามารถทางเทคนิคของอาคาร ดังนั้นจึงมีโอกาสอีกมากมายที่ภาครัฐและเอกชนจะร่วมมือกันเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย”

ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ ที่นี่