ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay
องค์การการค้าโลก (WTO) ประกาศปรับลดการคาดการณ์การค้าโลกในปี 2023 ลง เนื่องจากสงครามของรัสเซียในยูเครน และผลกระทบจากการปัจจัยเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น เงินเฟ้อ และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
โดย WTO ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของการค้าทั่วโลกในปี 2023 จะชะลอตัวลง 1% ไปอยู่ที่ระดับ 2.3% จากระดับราว 3.2% ที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าในเดือนเมษายน แต่ยังคงคาดหวังว่าการเติบโตของเศรษฐกิจการค้าในปี 2022 เพิ่มขึ้น 2.8% ตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า
Ngozi Okonjo-Iweala ผู้อำนวยการใหญ่ WTO กล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงเจนีวา ว่าเศรษฐกิจโลกในทุกวันนี้เผชิญกับวิกฤตหลายด้าน โดยนโยบายการเข้มงวดทางการเงินของรัฐบาลหลายประเทศกำลังมีต่อการขยายตัวเติบโตทั่วโลก
ตัวเลขของ WTO ใกล้เคียงกับการคาดการณ์ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งยังคงคาดการณ์ในปี 2022 ไว้ที่ 3% และคาดว่าจะขยายตัว 2.2% ในปีหน้า
ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์การเติบโตที่ 3.2% ในปีนี้ และ 2.9% ในปี 2023
ในส่วนของปริมาณการค้าสินค้าทั่วโลก นักเศรษฐศาสตร์ของ WTO กล่าวว่า ขณะนี้คาดว่าปริมาณการค้าจะเพิ่มขึ้น 3.5% ในปีนี้ ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ปริมาณการค้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1% ในปี 2023 ซึ่งลดลงอย่างมากจากที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.4% ในเดือนเมษายน
แม้ว่าการค้าโลกจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันเศรษฐกิจโลกให้เดินหน้าไปได้ในช่วงที่มีวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด แต่เพราะมีวิกฤตเกิดขึ้นเพิ่มเติม ทั้งสงครามในยูเครน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ปัญหาเงินเฟ้อ ราคาพลังงานแพง และการขาดแคลนอาหาร ล้วนส่งผลให้การค้าโลกชะลอตัวลงในปีนี้ ซึ่ง WTO ชี้ว่า กลุ่มประเทศยากจนรายได้ต่ำคือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
Okonjo-Iweala ผู้อำนวยการใหญ่ WTO กล่าวว่า ประเทศส่วนใหญ่ในโลกจะมีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปีหน้า ยกเว้นประเทศในแอฟริกาและตะวันออกกลางที่คาดว่าจะส่งออกลดลง พร้อมเตือนว่ารัฐบาลนานาประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทายในการหาสมดุลเพื่อรับมือปัญหาเงินเฟ้อ รักษาระดับการจ้างงาน และการเดินหน้าตามเป้าหมายสำคัญต่างๆ เช่น การลดปัญหาโลกร้อน การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด
หนุน ‘การค้าเสรี’ กระตุ้นเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ Okonjo-Iweala ยังเตือนว่า การใช้มาตรการกีดกันทางการค้าอาจส่งแรงกดดันต่อเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว รวมถึงทำให้ปัญหาเงินเฟ้อยิ่งรุนแรงขึ้น และมีผลต่อการลดมาตรฐานการครองชีพของประชาชนในระยะยาว
โดยองค์การการค้าโลกได้แสดงจุดยืนสนับสนุนให้มีการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีมากขึ้นเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจการค้าทั่วโลก และช่วยป้องกันไม่ให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น
ขณะที่ทางด้านธนาคารโลก หรือ World Bank ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า โลกยังไม่น่าจะบรรลุเป้าหมายในการยุติความยากจนขั้นรุนแรงภายในปี 2030 ที่มีมานานได้ เนื่องจากผลกระทบ ‘ที่ไม่ธรรมดา’ ของสารพัดปัจจัยต่างๆ ที่มีต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิดและสงครามในยูเครน
World Bank เผย ‘ภาวะยากจน’ เลวร้ายสุดรอบหลายสิบปี
รายงานของธนาคารโลก หรือ World Bank ในหัวข้อ Poverty and Shared Prosperity ที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา ระบุว่า ราคาอาหารและพลังงานที่สูงในช่วงหลังโควิดระบาดจะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ภาวะยากจนเลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปี
นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังคาดการณ์ว่า สงครามในยูเครน เศรษฐกิจชะลอตัวในจีน และเงินเฟ้อสูง จะทำให้ความพยายามลดความยากจนชะลอตัวลงจนถึงขั้นหยุดชะงัก โดย David Malpass ประธาน World Bank ชี้ว่า ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบัน จะทำให้ประชากรโลก 574 ล้านคน หรือเกือบ 7% ของจำนวนประชากรโลกทั้งหมดยังคงอยู่ในภาวะยากจน หรือมีรายได้ต่ำกว่า 2.15 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ในปี 2030 โดยส่วนใหญ่คือประชากรในทวีปแอฟริกา
พร้อมกันนี้ ประธานธนาคารโลกยังออกโรงเรียกร้องให้รัฐบาลนานาประเทศทั่วโลกปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อมุ่งกระตุ้นการเติบโต และสนับสนุนความพยายามในการกำจัดความยากจน
อ้างอิง:
- https://www.channelnewsasia.com/business/wto-slashes-2023-global-trade-forecast-recession-looms-2989081
- https://www.aljazeera.com/news/2022/10/5/goal-of-ending-extreme-poverty-by-2030-out-of-reach-world-bank
ที่มา THE STANDARD