ร้านอาหารกลุ่ม Premium เช่น Fine Dining, Rooftop, Omakase ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มร้านที่เน้นประสบการณ์จากการไปนั่งรับประทานที่ร้าน เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ต้องมีการปรับตัวค่อนข้างเยอะพอสมควรจากการระบาดของโรคโควิดที่กินเวลามาเกือบ 3 ปีแล้ว
โรคระบาดทำให้ร้านอาหารต้องเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอดมากขึ้น ทั้งการสร้างช่องทางการขายใหม่ๆ นำร้านอาหารให้เข้ามาเป็นแบบเดลิเวอรีบนแพลตฟอร์ม เกิดเทรนด์ร้านอาหารรูปแบบใหม่ที่ขายผ่านเดลิเวอรีโดยไม่มีหน้าร้าน ส่วนผู้บริโภคก็มีพฤติกรรมคุ้นชินกับการสั่งอาหารเดลิเวอรีมากขึ้น
เอกลักษณ์ วิริยะโกวิทยา ประธานเจ้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ Lifestyle & Solution Services บริษัท ไลน์แมน วงใน จำกัด เผยว่า จากฐานข้อมูลของ Wongnai พบว่าร้านอาหารในกลุ่ม Premium เติบโตขึ้นกว่า 50% เมื่อเทียบกับช่วงปี 2563 ที่โควิดเพิ่งระบาด
“คาดว่าเป็นเพราะดีมานด์ของผู้บริโภคที่อัดอั้นจากช่วงสองปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้พร้อมที่จะจ่ายเพื่อรับประสบการณ์การรับประทานอาหารนอกบ้านแบบ Premium มากขึ้น ทำให้ภาพรวมของร้านอาหารเซ็กเมนต์นี้ฟื้นตัวค่อนข้างเร็ว และส่งผลให้มีร้านอาหารทยอยเปิดเพิ่มมากขึ้น โดยมีราคาอาหารเฉลี่ยเริ่มต้นอยู่ที่ 1,000 บาทต่อท่าน”
สถานการณ์ปกติร้าน Premium มีอัตราการเติบโตขึ้นเพิ่มขึ้น 200-300 ร้านอย่างต่อเนื่องทุกปี แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิดส่งผลให้ร้านอาหารกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แต่ด้วยสถานการณ์ปีนี้เริ่มมีแนวโน้มที่เชื่อว่าจะเริ่มกลับมาคึกคัก คาดว่ามีร้านอาหาร Premium เปิดใหม่กว่า 400 ร้านใกล้เคียงกับช่วงก่อนมีโควิด
“จากฐานข้อมูลจำนวนร้าน Premium ที่เปิดใหม่บน Wongnai พบว่า ปี 2562 มีจำนวนร้านเปิดใหม่ 240 ร้าน ส่วนปี 2563-2564 มีจำนวนร้านอาหารที่เปิดใหม่กว่า 400 ร้าน แต่ก็มีร้านที่ปิดตัวไปเป็นจำนวนมาก” เอกลักษณ์กล่าว “คาดว่าในปี 2565 อัตราของร้านอาหารจะเติบโตขึ้น โดยพบว่าในปี 2565 ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2565 มีจำนวนร้านอาหารที่เพิ่มขึ้น 360 ร้าน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และคาดว่าน่าจะเห็นอัตราการเปิดร้านที่เติบโตขึ้นเพิ่มเติมในปีนี้”
ด้านกลุ่มผู้บริโภคสำหรับร้าน Premium สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มคนที่ชื่นชอบการรับประทาน Premiem มากๆ แต่กลุ่มนี้ก็มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป โดยลดความถี่ในการรับประทานอาหารลง คาดว่าเกิดจากความกังวลเรื่องสถานการณ์ และกลุ่มคนที่อยากลองสัมผัสประสบการณ์การรับประทานอาหารไฟน์ไดนิ่ง
เพื่อให้คนที่สนใจสามารถเข้าถึงร้านอาหารแบบไฟน์ไดนิ่งมากขึ้น ที่ผ่านมาจึงได้มีการจัดแคมเปญ Wongnai Bangkok Restaurant Week ซึ่งเป็นการขายดีลร้านอาหาร โดย 7 ปีที่ผ่านมามีจำนวนลูกค้าใช้บริการรวมกว่า 8 หมื่นราย และร้านอาหารเข้าร่วมในโครงการกว่า 2,000 ราย สร้างยอดขายให้ร้านอาหารกว่า 150 ล้านบาท
“ปีนี้เราจะจัดขึ้นในไตรมาสที่ 4 โดยตอนนี้เราจะเห็นว่าเริ่มมีร้านอาหารเกิดใหม่ขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในเซ็กเมนต์ที่เป็นร้านอาหารแบบ Affordable Luxury ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคปัจจุบันที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์ความหรูหรา แต่ยังคงมองหาความคุ้มค่าด้วย คาดว่าปีนี้จะยอดขายดีลเพิ่มขึ้น 30%”
ท้ายนี้เอกลักษณ์กล่าวว่า ร้านอาหารต้องปรับตัวเพื่อทำให้ร้านอาหารสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ โดยใช้ช่องทางการนำเสนอขายสินค้าที่หลากหลาย เพื่อนำเสนอให้กระจายไปยังกลุ่มลูกค้าที่กว้างมากขึ้น เช่น การใช้ช่องทางเดลิเวอรี และเข้าใจความต้องการของผู้บริโภค
ตลอดจนปรับตัวนำเสนอร้านอาหารของตนเองผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ โดยเฉพาะการแชร์ประสบการณ์ของร้านอาหารให้น่าจดจำ เช่น การสร้างคอนเทนต์ การเล่าเรื่องราว และการออกโปรโมชันต่างๆ ที่ตอบโจทย์