ภาพจาก : Kyndryl Ecosystm
ผลวิจัยคินดริล เผย 77% ขององค์กรในอาเซียนเริ่มมุ่งดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์อย่างยั่งยืน แต่ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยอุตสาหกรรมสื่อและโทรคมนาคมเป็นผู้นำด้านนี้
คินดริล หรือ Kyndryl ผู้ให้บริการระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศระดับโลก เผยแพร่ข้อมูล การศึกษาการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของอาเซียนปี 2022 ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างคินดริลและ Ecosystem บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจและวิจัยด้านเทคโนโลยี โดยการวิจัยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงให้เห็นลำดับความสำคัญทางธุรกิจ รวมถึงเทรนด์ด้านเทคโนโลยีและเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กรต่าง ๆ ในอาเซียน โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากทั่วภูมิภาคอาเซียน จำนวน 500 คน เข้าร่วมการวิจัยนี้
ซึ่งผลการวิจัยพบว่าความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) กำลังเติบโตเป็นทวีคูณในภูมิภาคนี้ โดยมีบางอุตสาหกรรมเป็นผู้นำในด้านดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าองค์กรต่าง ๆ จะให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น แต่ก็ยังขาดกลยุทธ์แบบองค์รวมและกำลังเผชิญปัญหาเกี่ยวกับวิธีบูรณาการข้อมูลเพื่อกำหนดเป้าหมายไปพร้อม ๆ กับความท้าทายภายนอก อย่างเช่น กฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น
ผลการวิจัยยังระบุว่า ถึงแม้ว่าองค์กรต่าง ๆ ในอาเซียนจะตระหนักถึงความรับผิดชอบของตนเองในการสร้างสมดุลระหว่างความยั่งยืนและการแสวงหากำไร แต่ก็ยังมีความท้าทายอีกหลายปัจจัยที่เป็นอุปสรรคทำให้องค์กรไม่สามารถกำหนดและบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้
ทั้งนี้ มีการค้นพบข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญหลายประการจากการศึกษาในครั้งนี้ แสดงถึงสถานะขององค์กรที่มีความยั่งยืนในอาเซียน ได้แก่
1.ความยั่งยืนถือเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้น ๆ ของธุรกิจ
ผลการศึกษาพบว่า 77% ขององค์กรในอาเซียนกำลังให้ความสำคัญกับการเป็นองค์กรที่มีความยั่งยืน องค์กรเหล่านี้ถูกผลักดันให้พัฒนาตัวเองและแสดงออกถึงจิตสำนึกด้าน ESG ผ่านการดำเนินการและการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของลูกค้า นักลงทุน และข้อบังคับด้านความยั่งยืนของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม หลาย ๆ องค์กรพยายามดำเนินการตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนโดยไม่มีกลยุทธ์ใด ๆ รองรับ โดยมีเพียง 23% ขององค์กรในอาเซียนที่มีกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน
2.หลายองค์กรยังขาดกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนแบบองค์รวม
องค์กรส่วนใหญ่มุ่งเน้นเรื่องการจัดสรรงบประมาณสำหรับริเริ่มโครงการเกี่ยวกับความยั่งยืน แต่กลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับทักษะ และข้อมูลที่มีความจำเป็นในการสนับสนุนโครงการริเริ่มเหล่านั้น โดยมีเพียง 4% ขององค์กรทั่วภูมิภาคอาเซียนที่มีกลยุทธ์แบบองค์รวมและกำลังมุ่งเน้นกับการรับมือความท้าทายภายนอกและความท้าทายที่กำลังเผชิญอยู่ อย่างเช่น การจัดการกรอบการทำงานที่ไม่ชัดเจน
3.ลูกค้าและนักลงทุนเป็นผู้ขับเคลื่อนให้เกิดความยั่งยืน
การตอบสนองความต้องการหรือความคาดหวังต่าง ๆ ของลูกค้าได้กลายเป็นบรรทัดฐานสำหรับธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน และได้ขยายขอบเขตไปสู่การตอบสนองความต้องการด้านจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วยเช่นกัน จึงถือได้ว่าส่วนใหญ่แล้ว ลูกค้ามักจะเป็นผู้ขับเคลื่อนให้องค์กรมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากกว่ากฎระเบียบข้อบังคับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย
4.ความท้าทายลำดับต้น ๆ สำหรับการเริ่มต้นด้านความยั่งยืน คือ ข้อมูล (Data)
ผลการศึกษาพบว่าอุปสรรคสำคัญของโครงการด้านความยั่งยืนในอาเซียน ประกอบไปด้วย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 60%, ความพร้อมใช้งานของข้อมูล 55% และการขาดทรัพยากรบุคคลที่ดูแลรับผิดชอบด้านนี้โดยตรง 50% ตัวเลขนี้สามารถแสดงให้เห็นว่าความคิดริเริ่มด้านความยั่งยืนขององค์กรยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น
ในโลกยุคปัจจุบันที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล มีความเป็นไปได้สูงที่องค์กรจะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับความพยายามในการพัฒนาด้านความยั่งยืนได้ แต่สิ่งเหล่านี้มักไม่ได้ถูกนำไปบูรณาการในกลยุทธ์ทางข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการระบุชุดข้อมูลที่ถูกต้อง การเก็บรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นตลอดทุกการดำเนินการ และการใช้เครื่องมือวิเคราะห์เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่ถูกต้อง
5.อุตสาหกรรมสื่อและโทรคมนาคมเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน
แม้ว่าการริเริ่มด้านความยั่งยืนจะยังไม่ถึงขั้นเติบโตเต็มที่ แต่ก็มีบางอุตสาหกรรมที่เป็นผู้นำเชิงกลยุทธ์ ในโครงการริเริ่มด้านความยั่งยืน ตัวอย่างเช่น ธุรกิจสื่อและโทรคมนาคม (Media & Telecom) รวมถึงธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค (Energy & Utilities) ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง ธุรกิจเหล่านี้จึงมีแรงจูงใจให้ใช้แนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืนเพื่อลดต้นทุนและความอยู่รอดในอนาคต
สำหรับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ริเริ่มโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขนาดเล็กพบว่าประสบความสำเร็จในช่วงแรกเช่นกัน ซึ่งรวมไปถึงอุตสาหกรรมค้าปลีก (Retail) ที่มุ่งเน้นการลดการใช้พลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์และการจัดหาวัตถุดิบต่าง ๆ ในท้องถิ่นเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน
อัลริช ลอฟเฟลอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Ecosystm กล่าวว่าสำหรับระบบเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วในปัจจุบัน ความเกี่ยวข้องและความสำเร็จขององค์กรจะถูกวัดผลทั้งในแง่ของการเงินและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้กลายเป็นแรงกระตุ้นให้องค์กรแต่งตั้งตำแหน่งผู้บริหารด้านความยั่งยืน และมุ่งเน้นถึงความสำคัญด้านทักษะความยั่งยืนที่เพิ่มสูงขึ้นสำหรับพนักงานในอนาคต งานวิจัยนี้ตอกย้ำว่า การขาดข้อมูลอย่างต่อเนื่องจะเป็นอุปสรรคต่อการวางแผนด้านความยั่งยืนขององค์กร
“ในขณะที่ความยั่งยืนถือเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจจำนวนมากในอาเซียน แต่ยังมีอีกหลายสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านความยั่งยืน และเพิ่มความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าองค์กรเข้าถึงข้อมูลใดได้บ้าง และระบุช่องว่างระหว่างข้อมูลเพื่อช่วยสนับสนุนเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กร”
กัณณวันต์ สกุลจิตตเจริญ กรรมการผู้จัดการ คินดริล ประเทศไทยและเวียดนาม กล่าวว่า จากการคาดการณ์ว่าอาเซียนจะกลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สี่ของโลกภายในปี 2030 ธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศไทยจึงจำเป็นต้องรับผิดชอบในการสร้างสมดุลระหว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคตซึ่งเป็นแผนในระยะยาวที่เลี่ยงไม่ได้ และการรักษาธุรกิจให้อยู่รอดเป็นแผนระยะสั้นที่สำคัญเช่นกัน
“เชื่อมั่นว่าความสำเร็จด้านความยั่งยืนนั้นขึ้นอยู่กับว่าองค์กรจะสามารถบูรณาการบุคลากร กระบวนการต่าง ๆ และเทคโนโลยีเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันได้มากน้อยเพียงใด และเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับบุคลากรมากที่สุด และปลูกฝังหลักการด้านความยั่งยืนในวัฒนธรรมองค์กรทุกระดับ”
สำหรับคินดริล กลยุทธ์ ESG เป็นหัวใจหลักของภารกิจองค์กรในการเป็นบริษัทที่ขับเคลื่อนด้วยเป้าหมายด้านความยั่งยืน จุดมุ่งหมายเชิงกลยุทธ์ของคินดริล คือ การขยายธุรกิจคลาวด์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นที่ 22-39% โดยประมาณ นอกจากนี้ คินดริลจะเดินหน้าเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนในศูนย์ข้อมูลทั้งหมดของบริษัท โดยตั้งเป้าเติบโตเพิ่มเป็น 75% ภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า