ทันทุกข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจการลงทุน กับ CP Business Watch
สำนักเศรษฐกิจและการลงทุนของเครือฯ (Economic and Investment Center) ขอนำเสนอ ข่าว บทความ และบทวิเคราะห์เชิงลึกที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารและพนักงานในเครือฯ เพื่อเสริมการตัดสินใจด้านธุรกิจและการลงทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค และการลงทุน เพื่อใช้ประกอบการวางแผนกลยุทธ
เศรษฐกิจไทย
ธปท. คาดเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 4 ฟื้นต่อ ลุ้นดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาบวกได้ในสิ้นปี
- ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 3 เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศฟื้นตัว แม้การส่งออกชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก โดย ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ก.ย.กลับมาเกินดุลครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เกินดุลเล็กน้อยที่ 600 ล้านดอลลาร์
- ส่งผลให้ไตรมาส 3 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลอยู่ที่ 7 พันล้านดอลลาร์ ลดลงจากไตรมาสก่อน ที่ขาดดุลที่ 8.1 พันล้านดอลลาร์ และยอดสะสมตั้งแต่ต้นปี ถึง ก.ย. ขาดดุลสะสม 17.7 พันล้านดอลลาร์ ด้านการส่งออกไตรมาส 3 ขยายตัวอยู่ที่ 6.7% ขณะที่การนำเข้า ขยายตัว 23.2% ด้านการบริการ นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงก.ย. เข้ามาแล้ว 5.6 ล้านคน
- แนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 คาดมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะท่องเที่ยวที่จะเป็นตัวหนุนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปรับตัวดีขึ้นได้ (กรุงเทพธุรกิจ)
ททท.มั่นใจต่างชาติเที่ยวไทยปีนี้แตะ 10 ล้านคน
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 10 ล้านคน คนไทยเที่ยวไทย 160 ล้านคนครั้ง สร้างรายได้รวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท โดยไตรมาส 4 คาดมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 1.5 ล้านคน/เดือน เป็นการฟื้นตัว 50% เทียบกับก่อนเกิดโควิด-19 โดยล่าสุดตัวเลขต่างชาติเข้าไทยแล้ว 7.39 ล้านคน สำหรับปี 2566 ตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 20 ล้านคน สร้างรายได้ 2.39 ล้านล้านบาท (กรุงเทพธุรกิจ)
ดิจิทัลจีดีพี
โควิด ดัน “ดิจิทัลจีดีพี” ไทยปี 2564 โตทะลุ 2 ล้านล้านบาท
- สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวแถลงผลการจัดทำ Digital GDP ประจำปี 2564 ว่ามีการขยายตัวที่น่าพอใจ สามารถฝ่าแรงต้านจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปรับตัวสูงขึ้น 14.07% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีมูลค่า 2,098,627 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนร้อยละของ Digital GDP ต่อ GDP พบว่าในปี 2564 ยกระดับขึ้นมาอยู่ที่ 12.97% ปรับตัวจากปี 2563 ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 11.77% ค่าสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว สะท้อนถึงความสามารถในการปรับตัวของระบบเศรษฐกิจไทยบางส่วนที่ปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่กิจกรรมเศรษฐกิจอื่นๆ ยังปรับตัวได้ไม่มากนัก ส่งผลให้การเติบโตของ GDP ในภาพรวมยังมีความล่าช้า เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงในอัตราที่สูงกว่า (ประชาชาติธุรกิจ)