ในปัจจุบัน กระแสของการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้นนับเป็นกระแสที่ได้รับความสำคัญ และได้รับความสนใจจากทั่วโลกซึ่งนับรวมถึงประเทศไทยด้วย โดยในประเทศไทย กระแสการสำนึกดังกล่าวได้ส่งผลให้ทุกภาคส่วนอันประกอบไปด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชนและสังคม ต่างให้ความสำคัญและมีการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือ แก้ไข ในประเด็นปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงความตระหนักรู้ถึงความสำคัญและความจำเป็นในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่จริงแล้วการดำเนินงานด้าน CSR (corporate social responsibility) อาจลำดับได้มีมานานแล้ว เพียงแต่ในยุคสมัยก่อนอาจยังไม่มีการนิยามคำว่า CSR ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งเห็นได้จากจุดกำเนิดของ CSR ที่มาจากหลายหลายทิศทาง กล่าวคือ
จากกระแสเรียกร้องของประชาชน ยกตัวอย่างเช่น บริษัท อีสท์ อินเดีย ในประเทศอังกฤษ ถูกคว่ำบาตรจากประชาชนในประเทศ เนื่องจากพบว่า บริษัทใช้แรงงานทาส จึงทำให้บริษัทจำเป็นต้องหันมาใส่ใจกับสวัสดิการแรงงานและสิทธิมนุษยชนมากขึ้น หรือ ในปี ค.ศ. 1984 บริษัท เนสท์เล่ (Nestle’) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นม ได้ออกกิจกรรมรณรงค์ให้เด็กทารกดื่มนมเนสท์เล่แทนนมแม่ ก่อให้เกิดความไม่พอใจอย่างมากต่อประชาชนจนคว่ำบาตรสินค้าของเนสท์เล่ ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ประชาชนรวมตัวกันเป็นจำนวนมากเพื่อบีบให้เนสท์เล่เปลี่ยนนโยบายของบริษัท
จากกลุ่มนักลงทุน ในปี ค.ศ.1908 เริ่มมีแนวทางการลงทุนทางธุรกิจเพื่อสังคม แนวใหม่ขึ้น หรือที่เรียกว่า “social responsibility investing — SRI” โดยเป็นการลงทุนในบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม จากการเกิดขึ้นของแนวคิดนี้มีนัยที่สำคัญ เพราะนักลงทุนนั้นมีบทบาทอย่างยิ่งต่อการผลักดันให้ธุรกิจที่ตนเองถือลงทุนอยู่นั้น มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น
จากมุมมองของนักวิชาการ ในวงการนักวิชาการต่างประเทศ มีการพัฒนางานเขียนเกี่ยวกับแนวคิดเรื่อง CSR เรื่อยมา โดยผลงานที่สำคัญ คือ ในปี ค.ศ. 1960 George Goyder ได้เขียนหนังสือเรื่อง “The Responsible Corporation” หรือ ความรับผิดชอบต่อสังคมโดยนักธุรกิจ โดยพัฒนาแนวคิดในการทำ CSR อย่างชัดเจนขึ้นมาในปีเดียวกันกับช่วงที่โลกได้ตระหนักและรับรู้ถึงผลกระทบจากการใช้สารเคมีฆ่าแมลง “DDT” ที่อเมริกาเป็นผู้ผลิตและส่งออก ซึ่งจากผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นหลังจากใช้ DDT นั้นเกิดผลกระทบกับผู้คนหลายล้านคนรุนแรง เป็นเวลายาวนาน เป็นผลทำให้สภาพแวดล้อมปนเปื้อนสารพิษนำไปสู่กระแสเรียกร้องด้านสิ่งแวดล้อมขึ้น
ปี ค.ศ. 1976 องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organisation for Economic Co-operation and Development — OECD) จัดตั้ง Guideline for Multinational Enterprises เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนระหว่างประเทศ ให้ดำเนินธุรกิจโดยมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการตอบรับจากบริษัทต่างๆ ดีมาก แต่ก็ยังจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว นำไปสู่การปรับปรุง Guideline อีกครั้งในปี ค.ศ. 2000 เกิดเป็นกระแสการทำ CSR ระหว่างประเทศ เพราะเน้นการนำไปปฏิบัติจริงในทุกประเทศ ไม่จำกัดเฉพาะในกลุ่มประเทศสมาชิก OECD
ในช่วงปลายทศวรรษ 90 หรือ ค.ศ. 1981-1991 ได้เกิดมาตรฐาน Global Reporting Initiative —GRI ขึ้น โดยเป็นการมุ่งหามาตรฐานในการรายงานผลการดำเนินงานของธุรกิจในทั้ง 3 มิติ คือ ด้านการวัดผลทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสังคม เพื่อที่จะให้แต่ละองค์กรธุรกิจรายงานผลที่เป็นจริงในทุกมิติ
ปี ค.ศ. 2002 UN RIO Summit on Sustainable Development ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก ที่ซึ่งเป็นจุดที่เกิดความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนของความรับผิดชอบของภาคธุรกิจต่อสังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีหลักการว่าการตอบสนองความต้องการของคนยุคนี้ ต้องไม่ไปทำลายโอกาสของคนรุ่นหลังในการตอบสนองความต้องการของตน
ดังนั้น ปัจจัยที่อาจจะส่งผลให้กิจการประสบความสำเร็จในการประกอบกิจการต่อไปได้อย่างยั่งยืน ย่อมจะมีความเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคมมาใช้ในการดำเนินธุรกิจด้วย และขออนุญาตกล่าวสรุปงานศึกษาที่ทำร่วมกับนักศึกษาคณะพัฒนาการเศรษฐกิจเรา อภิรดา ชิณประทีป (2559) ที่ได้อิงการวัดระดับของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของสถาบันต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในงานวิจัย เช่น KLD (Kinder Lydenberg Domini) และ MJRA ซึ่งพัฒนาโดย Michael Jantzi Research Associate, Inc. ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำการวิจัยศึกษาและรวบรวมข้อมูลในการวัดระดับการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทต่างๆ ในประเทศแคนาดา โดยมีการศึกษาและพัฒนาร่วมกับ KLD ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยและจัดลำดับความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทต่างๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา (Barnea and Rubin, 2006; Mohoney and Roberts, 2007) และทฤษฎีผลกระทบทางเศรษฐกิจมหภาค โดยใช้ตัวแปรทางเศรษฐกิจภาพรวมด้วย โดยผลการศึกษาพบว่า การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีด้านชุมชนและสังคม สินทรัพย์ของบริษัท ยอดขายของบริษัท อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ และประเภทของอุตสาหกรรมชนิดต่างๆ กัน มีผลต่ออัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจริง โดยพบว่าในเรื่องผลตอบแทนทางการเงินจะมีส่วนทั้งบวกและลบ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านตัวธุรกิจนั้นๆ ประเภทธุรกิจ และการระดับความมั่งคั่งของสินทรัพย์เอง และความสามารถในการบริหารจัดการขององค์การนั้นๆ ด้วย เช่น จากผลการศึกษาพบว่า ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์จะมีทิศทางไปในทิศทางเพิ่มขึ้น เมื่อองค์กรมีการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้านชุมชนและสังคม เป็นต้น ดังนั้น จึงอยากให้ทุกท่านเชื่อมั่นว่าประเทศเราและธุรกิจที่เน้นความยั่งยืนนี้กำลังมาถูกทาง
ในประเด็นของเรื่องของธุรกิจท่ามกลางวิกฤติโควิดที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2562 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน พฤศจิกายน 2565 นี้ เมื่อเกิดวิกฤติก็พบว่ายังมีประเด็นที่มีโอกาสอยู่ เช่น ในเรื่องของธุรกิจบางประเภทที่ได้รับความนิยมโดยเฉพาะในช่วงโควิด เช่น กรณีของธุรกิจออนไลน์ การส่งสินค้าออนไลน์ การสั่งอาหารออนไลน์หรือแม้แต่เรื่องของการแพทย์ ยา เวชภัณฑ์ และอื่นๆ ในขณะที่การท่องเที่ยวและเรื่องของกิจกรรมที่มีการสัมผัสก็ต้องลดลงในช่วงนั้น แต่พบว่าทรัพยากรธรรมชาติได้มีการฟื้นตัว และในขณะที่ประชาชนมีการอั้นการเดินทางไว้ เมื่อเปิดการท่องเที่ยวก็ทำให้ส่วนนี้กลับมาคึกคักได้อีกครั้ง พร้อมกับมีทรัพยากรธรรมชาติและอื่นๆ ที่สมบูรณ์ขึ้น ดังนั้น ส่วนนี้ถ้าเราสามารถที่จะเรียนรู้การดำรงรักษาทรัพยากรให้คงระดับนี้ไว้ โดยที่ให้เกิดความยั่งยืนในอนาคตด้วยการเรียนรู้จากสิ่งที่ผ่านมา ก็จะยิ่งช่วยทำให้การพัฒนาเป็นไปได้อย่างดีมากขึ้น โดยที่การท่องเที่ยวต่อไปในอนาคตเมื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะไม่ได้เน้นแค่จำนวนเพียงอย่างเดียว เนื่องจากการเน้นเพียงจำนวนโดยที่ลืมนึกถึงเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมรักษาทรัพยากรธรรมชาติ อาจจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าโดยเปรียบเทียบกันในระยะยาว
ข่าวดีที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เช่น เรื่องของการส่งออกที่พบว่าแนวโน้มสดใส ประเด็นที่เกี่ยวข้องคือเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ที่จะมีผลรวมไปถึงเรื่องของดุลการค้าที่อาจจะต้องดูควบคู่กันไปด้วย
เรื่องของอัตราดอกเบี้ยเป็นส่วนที่ถกเถียงกันมากในวิชาเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากว่าในกรณีที่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นก็จะส่งผลกระทบทั้งในเรื่องของการลงทุน ตลาดเงินตลาดทุน มีทั้งบวกและลบ ดังนั้น การพิจารณาจะต้องพิจารณาทั้งเรื่องทางภาพรวมทั้งเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจภายนอกประเทศด้วย เนื่องจากประเทศไทยเป็นระบบเศรษฐกิจเปิดและเป็นประเทศขนาดเล็ก ดังนั้น เมื่ออัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทำให้อัตราแลกเปลี่ยนต้องเปลี่ยนแปลงด้วย และยังมีผลกระทบต่อในเรื่องของการลงทุน
การวิเคราะห์จะต้องมีการวิเคราะห์ในสองส่วนนี้ และมีการชั่งน้ำหนักระหว่างสองส่วนนี้ โดยที่มีนักเศรษฐศาสตร์หลายท่านให้ความเห็นที่แตกต่างกันทั้งสองกลุ่มสองทิศทาง ในรายละเอียดคงจะขอละไว้เมื่อมีโอกาสหน้า นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ประเทศไทยไม่ได้เป็นลักษณะลอยตัว ซึ่งเราจะต้องพิจารณาในเรื่องที่มีความแตกต่างระหว่างระบบที่ตรึงค่าเงินไว้กับระบบลอยตัวด้วย การกำหนดนโยบายจึงมีความเป็นเฉพาะของแต่ละประเทศ ไม่สามารถลอกเลียนทั้งหมดได้ ต้องปรับใช้ที่เหมาะสมกับประเทศไทยเราเองด้วย การพิจารณาทั้งสองส่วนนี้ยังอาจจะต้องพิจารณาร่วมด้วยกับการให้เกิดความเหมาะสมโดยคำนึงถึงแรงกดดันจากภายนอกประเทศด้วย เช่น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศอื่นๆ ดังนั้น แรงกดดันเหล่านี้รวมไปถึงเรื่องของสงครามยูเครนรัสเซีย ในส่วนตัวผู้เขียนจึงเชื่อว่า ในที่สุดอัตราดอกเบี้ยจะต้องประเทศไทยจะต้องทยอยปรับขึ้น ที่สำคัญคือจังหวะเวลาและขนาด ที่ต้องมีความเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ ดังนั้น ส่วนนี้ผู้เขียนขอให้กำลังใจผู้เกี่ยวข้องทุกท่านว่า เราอาจจะต้องเผื่อรองรับสำหรับผู้จะได้รับผลกระทบเหล่านี้ไว้ด้วย
ในเรื่องของสงครามยูเครน-รัสเซีย ในความเป็นจริงการที่ผู้เขียนเคยคาดการณ์เอาไว้ สำหรับผู้อ่านที่สนใจสามารถอ่านได้ในโพสต์ทูเดย์ก่อนหน้านี้ และเว็บไซต์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ ซึ่งโชคดีเราได้คาดการณ์ไว้ถูกต้องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เมื่อเริ่มสงครามว่า สหรัฐฯ จะไม่เข้ามาเต็มตัว
โดยในเดือนพฤศจิกายนนี้ ความเห็นส่วนตัวผู้เขียนยังเชื่อว่า น่าจะสามารถมีข้อตกลงบางอย่างที่พอจะจับต้องได้สำหรับสงครามยูเครนรัสเซียเป็นอย่างน้อย โดยหวังว่าเรื่องของพลังงานและปัญหาสำคัญๆ อาจจะได้ข้อตกลงที่พอจะจับต้องได้ภายในปลายปีนี้ แต่เป็นไปได้ว่าสงครามมีโอกาสที่จะยืดเยื้อต่อเนื่องไป และภาวะเศรษฐกิจก็ยังคงผันผวนอยู่ ทั้งนี้ เรื่องของราคาน้ำมันและพลังงานมีความสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันรัสเซียยังเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติและรวมถึงเป็นแหล่งพลังงานอันดับต้นๆ ของโลก
ส่วนตัวผู้เขียนยังเชื่อว่า อีกประเทศหนึ่งที่น่าจับตามองแต่อาจจะยังไม่ค่อยมีคนพูดถึงมากนักก็คือประเทศจีน โดยความเป็นจริงตอนนี้ประเทศจีนใช้วิธีการโควิดเป็นศูนย์ ที่ผู้เขียนมีความสนใจว่าในปัจจุบันโควิดเริ่มดีขึ้นแล้วแต่ประเทศจีนก็ยังคงจุดนี้อยู่ ในขณะที่ดุลการค้าของประเทศจีนเป็นที่น่าจับตามอง เพราะในความเป็นจริงแม้จะซบเซาลงไปบ้างแต่ก็ไม่ได้แย่ถึงขนาดอย่างที่หลายคนเคยคาดเอาไว้ก่อนหน้านี้ นั่นหมายความว่าเศรษฐกิจจีนภายในเองรวมถึงในแง่ของดีมานด์ภายในประเทศของจีนก็ยังแข็งแกร่งพอสมควร ถึงแม้จะมีปัญหาบ้าง เช่น อสังหาฯ และกรณีเอเวอร์แกรนด์ เป็นต้น และในกรณีของสินค้าที่ผลิตออกสู่ตลาดโลก ถึงแม้ว่าสินค้าบางประเภทจะถูกการกีดกันทางการค้าจากอเมริกา โดยเฉพาะในเรื่องของสินค้าสำคัญๆ เช่น ชิป หรือในเรื่องที่ทางนาง Nancy Patricia D’Alesandro Pelosi ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เยือนไต้หวันเมื่อต้นเดือน ส.ค. 2565 ในความเป็นจริงเบื้องลึกนอกเหนือจากเรื่องการเมือง ผู้เขียนมองว่าเป็นเรื่องของเศรษฐกิจด้วย ในกรณีของสงครามการค้าระหว่างจีนอเมริกาคงยังมีประเด็นต่อเนื่อง
สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะกล่าวเพิ่มเติมคือในกรณีที่พูดถึงแหล่งพลังงาน ในปัจจุบันประเทศจีนได้เป็นผู้ผลิตหรือแสวงหาทรัพยากรด้านพลังงานดับต้นๆ ของโลกด้วย ทำให้ผู้เขียนนึกถึงตอนที่ไปประชุม UNCTAD ที่นครเจนีวาเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ในขณะนั้นประเทศจีนยังไม่ค่อยมีแหล่งพลังงานที่มากเท่าอย่างในปัจจุบัน ตอนนั้นยังจำได้ว่ามีผู้แทนจากประเทศจีนพูดถึงเรื่องของบริษัทน้ำมันจีน CNOOC ในประเด็นการลงทุนในต่างประเทศ และยังมีที่ลงทุนในที่ที่ยากจนกว่าโดยเปรียบเทียบเพิ่มด้วย ผู้เขียนยังรู้สึกชื่นชมว่ามองการณ์ไกลทีเดียว และคิดว่าประเทศเราน่าจะลองติดตามดู
ประเทศจีนปัจจุบัน นอกจาก จะมีทรัพยากรรวมถึงพลังงานติดอันดับโลกแล้ว นอกจากนั้นก็ยังสามารถผลิตสินค้าที่เป็นไฮเทคได้อีกมากมาย ดังนั้น ประเด็นของสงครามการค้าก็ยังคงมีประเด็นต่อเนื่องต่อไป ประเทศไทยอาจลองพิจารณาในแง่ของการย้ายฐานการผลิตของบริษัทต่างๆ จากกรณีเหล่านั้น ทั้งอเมริกา-จีน อเมริกา-รัสเซีย หรือผลพวงด้านการค้าและสินค้าเกี่ยวเนื่องจากสงครามยูเครน-รัสเซีย เป็นต้น และการประชุม APEC ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2565 ที่จะถึงนี้ อยากให้กำลังใจประเทศไทยว่า การที่ประธานาธิบดีของจีน สีจิ้นผิง มาก็ถือเป็นโอกาสอันดีมากๆ
ทั้งนี้ ในประเด็นของความยั่งยืนที่เราจะมองต่อไป แน่นอนว่าถ้าพิจารณาในแง่การใช้สงครามการค้า ในทางทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ การที่เรากีดกันทางการค้าในที่สุดทางทฤษฎีแล้วไม่เรียกว่าเป็นวิธีการที่เป็นความยั่งยืน ในการพิจารณาเราอาจจะได้เพียงภาพ snapshot เท่านั้น แต่ในระยะยาว วิธีการเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องปรับปรุงในที่สุด ทั้งนี้คือในระดับโลกและระดับระหว่างประเทศ ส่วนในแง่ของประเทศและในแง่ของธุรกิจเอง ปัจจุบันก็พบว่าทุกภาคส่วนได้ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการเตรียมตัวที่ดีและถูกทางทีละเล็กทีละน้อยแล้ว อยากให้กำลังใจทุกท่าน ในกรณีของภาคธุรกิจโดยเฉพาะรายย่อยที่บางทีอาจจะต้องขวนขวายทางภาวะเศรษฐกิจก่อนก็อาจจะค่อยเป็นค่อยไป โดยการมีมาตรการหรือนโยบายอาจจะร่วมด้วยช่วยได้อีกส่วนหนึ่ง
สุดท้ายนี้ โดยหวังว่าบทความนี้จะส่งผ่านแง่คิดบางประการในโอกาสนี้ และทุกท่านผู้อ่านและครอบครัวมีความสุข มีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง สวัสดีปีใหม่และสุขสันต์วันลอยกระทงล่วงหน้า คอยติดตามสถานการณ์เป็นระยะเผื่อมีการเปลี่ยนแปลงไว้ ส่วนตัวเชื่อว่าสถานการณ์ปีใหม่น่าจะกำลังดีขึ้นค่ะ
(หมายเหตุ: ทั้งนี้ความเห็นและบทวิเคราะห์ต่างๆ เป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนโดยเป็นความเห็นส่วนตัวเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องตรงกับหน่วยงานที่กล่าวถึงในบทความ หากมีข้อเสนอแนะหรือแลกเปลี่ยนสามารถแนะนำได้ที่ email: [email protected] ขอบคุณยิ่ง)
อ้างอิง
อภิรดา ชิณประทีป (2016). การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรและผลการดำเนินงานทางด้านการเงิน (Corporate Social Responsibility and the Return on Assets). Local Administration Journal, 9(1), 118–132
Apirada Chinprateep. Investment: How to make it pan out and sustainable AUGUST 24, 2015
THE NATION
อภิรดา ชิณประทีป “โอไมครอน (ณ ก.พ. 65) และเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 – 2565 เราควรระวังอะไรบ้าง? “ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 08 กุมพาพันธ์ 2565
อภิรดา ชิณประทีป “ผลกระทบโควิด กับเศรษฐกิจ ทองคำ น้ำมัน ตลาดหุ้น” หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 29 มิ.ย. 2564
ที่มา ไทยพับลิก้า