เลือดเทียม อาจเป็นหนทางใหม่ที่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยทั่วโลกได้อย่างน่าอัศจรรย์
ครั้งแรกของมวลมนุษยชาติในการถ่าย “เลือดเทียม” เข้าสู่ร่างกาย นับเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ และอาจนำไปสู่ทางเลือกในการรักษาที่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยทั่วโลกได้ !
เหตุใดจึงต้องผลิต “เลือดเทียม”
งานวิจัยครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือกันจากหลายสถาบัน ได้แก่ ระบบบริการสุขภาพด้านโลหิตและการปลูกถ่าย (NHS Blood and Transplant – NHSBT), มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, มหาวิทยาลัยบริสโทล และมหาวิทยาลัยลอนดอน ซึ่งมีเป้าหมายในการคิดค้นและผลิตเลือดเทียมหรือเลือดสังเคราะห์ เพื่อลดภาวะขาดแคลนเลือดที่เป็นปัญหาหลักในโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วโลก
การถ่ายเลือดมีความสำคัญอย่างมากต่อผู้ป่วยที่มีภาวะสูญเสียเลือด โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุหรือต้องเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ หากโรงพยาบาลมีเลือดสำรองไม่เพียงพอในคลัง ก็อาจส่งผลกระทบให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาล่าช้าจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้
ด้วยเหตุนี้งานวิจัยดังกล่าวจึงมีความสำคัญต่อวงการแพทย์เป็นอย่างมาก หากประสบความสำเร็จจะสามารถนำเลือดเทียมมาใช้ทดแทนเลือดจริงได้ ช่วยลดปัญหาด้านสาธารณสุขได้ในหลาย ๆ ประเทศรวมถึงในประเทศไทยของเราด้วย
เลือดเทียมผลิตขึ้นมาได้อย่างไร
นักวิจัยเตรียมเลือดที่จะใช้เป็นตัวตั้งต้นในการผลิต โดยเป็นเลือดที่ได้รับบริจาคในปริมาตร 1 ไพน์ หรือประมาณ 470 มิลลิลิตร จากนั้นจึงใช้ก้อนแม่เหล็กขนาดจิ๋ว (Magnetic beads) ช่วยค้นหาและจับเข้ากับเซลล์ที่มีคุณสมบัติเป็นเซลล์ต้นกำเนิด (สเต็มเซลล์ – Stem cell) และพร้อมเจริญเติบโตเป็นเม็ดเลือดแดงได้ในอนาคต ซึ่งเซลล์ต้นกำเนิดที่ติดอยู่กับก้อนแม่เหล็กนี้จะถูกเหนี่ยวนำด้วยสนามพลังแม่เหล็กไฟฟ้า และสามารถแยกออกจากส่วนประกอบเลือดได้อย่างง่ายดาย
เมื่อได้เซลล์ต้นกำเนิดมาแล้ว นักวิจัยจะรวบรวมเซลล์เหล่านี้มาเพาะเลี้ยงภายในห้องปฏิบัติการเพื่อให้ได้เซลล์จำนวนมากเพียงพอ (ให้ได้เท่า ๆ กับปริมาตรเลือดที่ต้องการนำไปใช้ในการถ่าย) แล้วเลี้ยงให้เซลล์ต้นกำเนิดเจริญไปเป็นเม็ดเลือดแดง เท่านี้ก็จะได้เลือดเทียมตามที่ต้องการ
ข้อมูลจากห้องปฏิบัติการเผยว่า เซลล์ต้นกำเนิดจำนวน 5 แสนเซลล์ สามารถเจริญและแบ่งเซลล์เป็นเม็ดเลือดแดงได้มากถึง 5 หมื่นล้านเซลล์ แต่จะมีเซลล์เม็ดเลือดแดงที่เจริญเติบโตเต็มที่และพร้อมใช้งานจริงอยู่ราว ๆ 1.5 หมื่นล้านเซลล์ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ใช้เวลาทั้งสิ้น 3 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม การผลิตเลือดเทียมด้วยสเต็มเซลล์มีข้อกำจัดในการรวบรวมสเต็มเซลล์ให้เพียงพอต่อการผลิตเลือดเทียม รวมถึงค่าใช้จ่ายในการผลิตยังคงมีราคาแพงอยู่ (ในเวลานี้)
ผลลัพธ์ของการทดลองถ่ายเลือดในอาสาสมัคร
นักวิจัยประสบความสำเร็จในการถ่ายเลือดเทียมให้อาสาสมัครจำนวน 2 ราย และในขณะนี้ยังไม่พบผลข้างเคียงจากการถ่ายเลือดแต่อย่างใด (ทั้งนี้ การถ่ายเลือดจะต้องตรวจความเข้ากันได้ของเลือดผู้รับ และเลือดที่จะถ่ายเข้าสู่ร่างกายก่อนเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดจับตัวกันเป็นก้อน)
การทดลองอีกส่วนหนึ่ง ทำขึ้นเพื่อวิเคราะห์อายุของเม็ดเลือดแดงในเลือดเทียม โดยอาสาสมัคร 10 ราย จะได้รับเลือด “จริง” จากการรับบริจาค ปริมาตร 5-10 มิลลิลิตร จากนั้นในเวลา 4 เดือนต่อมาจะได้รับเลือด “เทียม” ที่ผลิตขึ้นในห้องปฏิบัติการในปริมาตรเท่ากัน ซึ่งนักวิจัยจะประเมินอายุของเม็ดเลือดแดงจากเลือดทั้ง 2 ชุดด้วยกระบวนการทางรังสี
เหตุที่ทำการทดลองส่วนนี้ เนื่องจากเม็ดเลือดแดงในเลือดเทียมที่ผลิตขึ้นมาได้นั้น ควรมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับเม็ดเลือดแดงโตเต็มวัยที่ผลิตออกมาจากไขกระดูก ดังนั้น เม็ดเลือดแดงในเลือดเทียมก็น่าจะมีอายุอยู่ได้นานถึง 120 วัน ในขณะที่เลือดจากการรับบริจาคจะมีเลือดใหม่และเก่าปะปนกัน ในทางทฤษฎีเลือดเทียมจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าในการนำมาใช้ในผู้ป่วย และมีประโยชน์ในผู้ป่วยที่ต้องได้รับเลือดบ่อย ๆ
เนื่องจากงานวิจัยนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น, มีจำนวนอาสาสมัครเพียงเล็กน้อย และยังต้องอาศัยการติดตามผลระยะยาว จึงยังไม่สามารถสรุปผลลัพธ์ที่แน่ชัดได้มากนัก แต่เชื่อว่า “เลือดเทียม” จะกลายเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทในการรักษาผู้ป่วยในอนาคตได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Interesting Engineering