ภาพถ่ายโดย Andrea Piacquadio: https://www.pexels.com/th-th/photo/3769747/
Google, Temasek และ Bain & Company เปิดรายงาน e-Conomy SEA Report ประจำปี 2022 โดยคาดการณ์มูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchandise Volume: GMV) ของเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้จะมีมูลค่าทะลุ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่าเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ถึง 3 ปี (ในตอนแรกคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าทะลุ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025) สำหรับประเทศไทย ผลสำรวจ e-Conomy SEA Report 2022 คาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลในปีนี้ จะมีมูลค่า GMV สูงถึง 3.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 17% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนนักลงทุนจะหันไปให้ความสำคัญกับเซกเตอร์ใหม่ ๆ มากขึ้น เช่น HealthTech, EdTech, Software as a Service (SaaS) และยังพบว่าการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยอาจจะทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศได้มากถึง 20 ล้านตันภายในปี 2030 (มาจาก 3 เซกเตอร์สำคัญอย่าง Transportation, Food Delivery และ e-Commerce)
เป็นประจำทุกปีที่ Google, Temasek และ Bain & Company จะทำสำรวจเกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจดิจิทัลออกมา โดยในปีนี้ e-Conomy SEA Report 2022 มองว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ระหว่างการ “ฝ่าคลื่นความเปลี่ยนแปลง สู่ท้องทะเลแห่งโอกาส” โดยคุณแจ็กกี้ หวาง Country Director, Google ประเทศไทย เผยว่าความท้าทายของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย
- ปัญหาด้านซัพพลายเชนที่มีการหยุดชะงัก
- สินค้าขาดตลาด
- ราคาสินค้ามีการปรับตัวสูงขึ้น
- กำลังซื้อของผู้คนลดลง
- การล็อกดาวน์ทำให้การเดินทางหยุดชะงัก และกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- ปัญหาด้านการเมืองระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ดี หากมองในมุมของเศรษฐกิจดิจิทัล คุณแจ็กกี้ หวาง มองว่ายังมีการเติบโตที่ดี เห็นได้จาก
- ตัวเลข Internet Users ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2022 อยู่ที่ 460 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 20 ล้านคน หรือคิดเป็นการเติบโต 4%
- ผลสำรวจนี้ทำการศึกษาการใช้งาน Digital Services ใน 8 หมวด ได้แก่ อีคอมเมิร์ซ, Food delivery, Transport, Travel, Music on demand, VDO on demand, Gaming และ Groceries และพบว่า อีคอมเมิร์ซเป็นเซกเมนต์ที่มี Adoption Rate สูงที่สุดในบรรดา Digital Services ทั้งหมด
ประเทศไทยอยู่ตรงไหนใน SEA
สำหรับประเทศไทย ผลสำรวจ e-Conomy SEA Report 2022 คาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลในปีนี้ จะมีมูลค่า GMV สูงถึง 3.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 17% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (ปี 2021 มีมูลค่าอยู่ที่ 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) และคาดว่าในปี 2025 มูลค่าสินค้ารวมเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะแตะ 5.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 15% โดยพบว่า อีคอมเมิร์ซ, บริการส่งอาหารออนไลน์ และการซื้อของสดออนไลน์ เป็น 3 บริการดิจิทัลที่มีอัตราการใช้บริการสูงที่สุดในกลุ่มคนไทยที่อยู่ในเขตเมือง
อีคอมเมิร์ซ หัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลไทย
สำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลที่เผชิญหน้าความท้าทายในช่วงปีที่ผ่านมา พบว่ามีพระเอกอย่าง “อีคอมเมิร์ซ” เป็นหัวจักรขับเคลื่อนสำคัญ คิดเป็น 63% ของมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวมในปี 2022 และตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย ในขณะที่อัตราการใช้บริการอีคอมเมิร์ซของไทยอยู่ที่ 94% ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคฯ รองจากสิงคโปร์
สำหรับภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้น 8% จากปีก่อน โดยมีมูลค่าสินค้ารวมสูงถึง 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2022 และคาดว่าจะแตะ 3.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025 โดย 23% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยตั้งใจจะใช้บริการอีคอมเมิร์ซมากยิ่งขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้าด้วย
ส่วนภาคการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ โดยรวมคาดจะว่ามี GMV แตะ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2022 เพิ่มขึ้น 12% จากปี 2021 และคาดว่าจะเติบโตขึ้นถึง 20% หรือแตะ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025 ทั้งนี้ หากแยกเจาะในแต่ละตลาดจะพบว่า
- ตลาดบริการส่งอาหารออนไลน์กลับสู่แนวโน้มการเติบโตในทิศทางเดิมหลังจากที่มีการเติบโตถึง 3 เท่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยคาดว่าจะเติบโต 11% มีมูลค่าสินค้ารวมอยู่ที่ 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2022 และคาดว่าจะแตะถึง 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025 ซึ่งจะทำให้ตลาดบริการส่งอาหารออนไลน์ของไทยใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย
- ภาคการขนส่ง (Transportation) คาดว่าจะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง และคาดการณ์ว่าจะเติบโตถึง 36% มีมูลค่าสินค้ารวมอยู่ที่ 300 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2022 และพุ่งขึ้นสู่ระดับ 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025
สื่อออนไลน์ (บริการวิดีโอออนดีมานด์ เพลงออนดีมานด์ เกม) มีการเติบโตที่ชะลอตัวลงจากปีที่ผ่านมาที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์สืบเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 โดยในปี 2022 มีการเติบโต 10% และมูลค่าสินค้ารวมอยู่ที่ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ การเติบโตของเพลงออนดีมานด์และวิดีโอออนดีมานด์เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ด้านโฆษณาออนไลน์ยังคงรักษาการเติบโตไว้ได้คงเดิม ส่วนเกมออนไลน์พบว่าการใช้บริการลดลงเนื่องจากผู้คนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติแล้ว ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าภาคธุรกิจสื่อออนไลน์จะเติบโต 12% หรือคิดเป็นมูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568
การท่องเที่ยวออนไลน์ คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งจากการที่ผู้คนออกเดินทางท่องเที่ยวหรือออกไปทำกิจกรรมต่างๆ นอกบ้านกันมากขึ้น ซึ่งมีระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีการเติบโต 139% จากปี 2021 คิดเป็น GMV 5 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2022 และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ 22% หรือมีมูลค่าสินค้ารวมที่ 9 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025
ตลาด Digital Financial Services ไทย ยอดกู้โต 50%
บริการด้านการเงินดิจิทัล หรือ Digital Financial Services (DFS) ซึ่งได้แก่ การชำระเงิน การโอนเงินต่างประเทศ การกู้ยืม การลงทุน และประกัน เติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักในปี 2022 เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้นหลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยในส่วนของการกู้ยืม พบว่ามีการเติบโตมากถึง 50% เมื่อเทียบกับปี 2021
อย่างไรก็ดี คุณวิลลี่ ชาง (Willy Chang) Associate Partner จาก Bain & Company ให้ความเห็นว่า ตัวเลขการกู้ยืมที่สูงขึ้นนี้ยังเป็นการเติบโตในลักษณะ Healthy เนื่องจากเป็นการกู้ยืมผ่านสถาบันการเงิน และมีมาตรการควบคุมที่เคร่งครัด ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านที่ประชาชนยังเข้าไม่ถึงบริการของสถาบันทางการเงิน (อินโดนีเซีย) ทำให้การกู้ยืมดิจิทัลเกิดขึ้นผ่านแพลตฟอร์ม หรือเป็นการกู้ยืมแบบ Peer-to-Peer ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่านั่นเอง
ทั้งนี้ การเติบโตของบริการด้านการเงินดิจิทัลจากนี้ไปจนถึงปี 2025 จะถูกขับเคลื่อนโดยการกู้ยืมและการลงทุนซึ่งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (Compounded Annual Growth Rate: CAGR) ประมาณ 40% และ 45% ตามลำดับ
ส่วนบริการธนาคารดิจิทัล (Digibank) เริ่มได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในขณะที่กลุ่มผู้บริโภคที่มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวยยังคงมีความภักดีต่อผู้ให้บริการด้านการเงินที่จัดตั้งขึ้นมาอย่างยาวนาน พิจารณาจากยอดเงินฝากในปัจจุบันและการลงทุนในหลายด้าน
การระดมทุนในภาคเทคโนโลยียังคงแข็งแกร่ง
อีกหนึ่งหัวข้อที่มีการเอ่ยถึงในรายงาน e-Conomy SEA Report 2022 ก็คือการลงทุนด้านเทคโนโลยี โดยในปี 2022 ผู้สำรวจเผยว่า มูลค่าการซื้อขายตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของปี 2021 จนถึงครึ่งแรกของปี 2022 เพิ่มขึ้น 15% การระดมทุนในภาคเทคโนโลยียังคงแข็งแกร่ง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเป็นแหล่งรวมการลงทุนด้านเทคโนโลยี ถึงแม้ว่านักลงทุนจะระมัดระวังมากขี้นในสภาวะเศรษฐกิจมหภาคในปัจจุบัน
ทั้งนี้ การลงทุนในบริการด้านการเงินดิจิทัล (Digital Financial Services: DFS) มีสัดส่วนการลงทุนสูงที่สุดในประเทศไทย โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 150 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 และการลงทุนในบริการด้านการเงินดิจิทัลแซงหน้าอีคอมเมิร์ซขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีสัดส่วนเกือบครึ่งของการลงทุนทั้งหมดในไทยเช่นเดียวกับทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมูลค่าการซื้อขายเพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนระดับ Series-C จำนวนมากในภาคธุรกิจบริการด้านการเงินดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ
ที่มา brandbuffet