21 พฤศจิกายน 2565 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวเปิดตัว “ศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์และการประกอบการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Chula Medical Innovation and Entrepreneurship Center: CMICe (ซี-ไมซ์) โดยรศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์และการประกอบการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ คุณศักดิ์ชัย บัวมูล ที่ปรึกษาประจำสำนักประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ คุณภูมิชัย ตรัยดลานนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซีพี โซเชียล อิมแพคท์ จำกัด ได้เข้าร่วมเป็นเกียรติในงานเปิดตัวดังกล่าว ในโอกาสเดียวกันนี้คุณศักดิ์ชัย ได้ร่วมเสวนา ในหัวข้อ “Academic Transformation; From Research to Entrepreneurship” ร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนรายอื่น ๆ ในฐานะของบริษัทผู้ผลิตหน้ากากอนามัยให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
คุณศักดิ์ชัย บัวมูล ที่ปรึกษาประจำสำนักประธานคณะผู้บริหาร เครือฯ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะการขาดแคลนหน้ากากอนามัย ท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ มีดำริให้สร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อแจกจ่ายให้แก่บุคคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มเปราะบาง ผ่านโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จากภารกิจในครั้งนั้นทำให้เครือซีพีได้มีโอกาสรู้จักศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์และการประกอบการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของบริษัท ซีพี โซเชียล อิมแพคท์ จำกัด ที่เป็นกิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise จึงได้ร่วมหารือเพื่อจะสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ
โดยโครงการล่าสุดที่เครือฯ กำลังทำร่วมกับศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ฯ คือ การผลิตหน้ากากอนามัย N95 ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่การสำรวจหา Pain Point ของหน้ากากอนามัย N95 ที่มีจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด แล้วนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงแก้ไขและออกแบบใหม่เพื่อให้สวมใส่สบาย ไม่อึดอัด และให้เข้ากับใบหน้าของคนไทยโดยเฉพาะ ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงของการพิจารณาในขั้นตอนต่อไป
ด้าน ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์และการประกอบการฯ กล่าวว่า จากสถานการณ์การขาดแคลนหน้ากากในครั้งนั้น ขอขอบคุณเครือซีพีที่เข้ามาช่วยเหลือและได้ผลิตหน้ากากอนามัยขึ้น โดยมองว่าในอนาคตอาจจะต้องอยู่กับหน้ากากอนามัยอีกนาน จึงมีแนวคิดผลิตหน้ากากแบบ N95 สำหรับคนเอเชีย ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มีองค์ความรู้และนวัตกรรมที่อาจจะใหม่กว่าต่างประเทศ และมีไอเดียในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่น ๆ อีก แต่เนื่องจากอุปกรณ์ทางการแพทย์เหล่านี้มีราคาค่อนข้างสูง และบางขนาดไม่เหมาะสมกับคนไทย ตัวอย่างเช่นหน้ากากอนามัย เป็นต้น ประกอบกับเครือซีพีมีโรงงานที่ผลิตที่ไม่แสวงหากำไร และมองว่าเป็นประโยชน์ต่อคนไทยมาก
“ขอบคุณเครือซีพีอีกครั้งที่เข้ามาช่วยดูแล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินทุน การประกอบการ หรือการสร้างโรงงานผลิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทางแพทยศาสตร์ จุฬาฯ คงไม่พร้อมและไม่มีความชำนาญ ความสามารถที่จะทำได้ และคิดว่าความร่วมมือในครั้งนี้และครั้งต่อๆไปในอนาคต จะทำให้คนไทยได้มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ดี มีราคาไม่สูง เหมาะสมกับคนไทย และช่วยพัฒนาวงการสาธารณะสุขไทยต่อไป”