ซีอีโอระบุ ESG ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดของภาคธุรกิจ แต่ต้องขับเคลื่อนอย่างสมดุลเพื่อป้องกันการฟอกเขียว ชี้ต้องยกระดับฐานข้อมูล บุคลากร และสร้างมาตรฐานเพื่อหนุนการเปลี่ยนผ่าน พร้อมมองอนาคตกองทุน ESG มีโอกาสเติบโตสูง
ESG ไม่ใช่ ‘ทางเลือก’ แต่เป็น ‘ทางรอด’
ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในหัวข้อ ‘SUSTAINABLE FINANCE IN ACTION ปักธงไทยเดินหน้าการเงินเพื่อความยั่งยืน’ บนเวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2022 ว่า หลักการ ESG ในปัจจุบันไม่ได้เป็นเพียงทางเลือกสำหรับภาคธุรกิจอีกต่อไป แต่ได้ทวีความสำคัญขึ้นมาเป็นทางรอด เนื่องจากธุรกิจที่ไม่ยึดถือหลักการนี้จะสูญเสียความเชื่อมั่นจากสังคม เสียชื่อเสียง เสียโอกาสทางธุรกิจ โดยในอนาคตปัจจัยเรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือกีดกันการค้า
ขัตติยาระบุว่า ในฐานะสถาบันการเงิน ที่ผ่านมาธนาคารได้ขับเคลื่อนธุรกิจบนหลักการ ESG อย่างต่อเนื่อง เช่น ในมิติสิ่งแวดล้อม ธนาคารมีการปรับกระบวนการทำงานภายใน ขณะเดียวกันยังสนับสนุนสินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืน โดยวางเป้าหมายเอาไว้ที่ 2 แสนล้านบาท ภายในปี 2573 ส่วนในมิติสังคม ธนาคารได้สร้างการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) แก่ลูกค้ารายเล็ก (Small-Pocket Customers) ด้วยการปรับปรุงกระบวนการพิจารณาการให้สินเชื่อให้เหมาะกับคนกลุ่มนี้
ซีอีโอกสิกรไทยกล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยถือเป็นหนึ่งในผู้นำเรื่อง Sustainable Finance แต่หากเทียบกับขนาดอุตสาหกรรมสินเชื่อของประเทศไทย ยอมรับว่าสิ่งที่ธนาคารทำยังน้อยมาก โดยสินเชื่อสีเขียวของธนาคารยังมีสัดส่วนต่ำกว่า 3% ของพอร์ตสินเชื่อรวม
ขัตติยาย้ำว่า การทำเรื่อง Sustainable Finance ต้องคำนึงถึงเสถียรภาพและรักษาสมดุลให้ดี เพราะหากทำไม่ได้จริงและทำไม่ดีจริงก็จะกลายเป็นการฟอกเขียว หรือ Green Wash แต่ถ้าเร่งทำอย่างแข็งขันมากๆ ก็จะเสียสมดุลได้ เช่น หากไทยยกเลิกการใช้น้ำมันหรือถ่านหินแล้วหันมาใช้พลังงานทดแทนทั้งหมด ก็จะเจอปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า
“อีกความท้าทายของการทำ Sustainable Finance คือไม่สามารถทำอยู่คนเดียว ได้ ต้องเดินหน้าไปพร้อมกันทั้ง Ecosystem เช่น กสิกรไทยตั้งงบสีเขียวเอาไว้ 1-2 แสนล้านบาท เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่าน แต่ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งก็ยังไม่ตื่นตัว คนที่ตื่นแล้วก็เจอปัญหาเรื่องมาตรฐาน ไม่รู้ว่าต้องใช้เครื่องจักรประเภทอะไร ซัพพลายเชนต้องหน้าตาแบบไหน ดังนั้นทุกฝ่ายต้องเดินไปพร้อมกัน” ขัตติยากล่าว
เร่งพัฒนาข้อมูล บุคลากร และมาตรฐาน ESG
บนเวทีเดียวกัน ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ความยั่งยืนในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาธิบาล (ESG) ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งดีที่ต้องทำ (Nice To Do) เท่านั้น แต่ความยั่งยืนอย่างแท้จริงจะเกิดขึ้นได้เมื่อบริษัทมีความต้องการที่จะทำ (Want to do) ด้วย
ดร.ศรพลระบุว่า มี 3 ปัจจัยที่ทำให้บริษัทและนักลงทุนเชื่อมโยงกันได้ ได้แก่ ข้อมูล บุคลากร และมาตรฐาน ทำให้ ตลท. มีแผนจะเพิ่มความแข็งแกร่งในทั้ง 3 ด้านนี้ โดยอธิบายว่า แม้ว่านักลงทุนอยากลงทุนในบริษัทที่ทำ ESG แต่ก็ไม่สามารถทำได้หากไม่มีข้อมูลในการตัดสินใจ
ดังนั้น ตลท. ซึ่งเป็นคนกลางระหว่างบริษัทและนักลงทุน จึงต้องการทำให้ข้อมูลเกิดขึ้นโดยไม่สร้างภาระเพิ่มให้กับบริษัท ซึ่งต้องลงทุนมหาศาลเพื่อทำให้บริษัทเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้น หรือต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ผ่านการใช้ระบบดิจิทัลและกระบวนการต่างๆ เพื่อทำให้บริษัทจัดเก็บข้อมูล หรือนำเข้ามาในระบบง่ายขึ้น และทำให้นักลงทุนสามารถเอาไปประมวลต่อได้เลย ซึ่งมีโครงการที่ ตลท. เริ่มไปแล้วได้แก่ One Report และ ESG Data Platform
ดร.ศรพลกล่าวว่า ปัจจุบันมี 24 บริษัทไทยในอยู่ในดัชนี Dow Jones Sustainability Index ซึ่งสูงสุดในอาเซียนมาเป็นระยะเวลา 8-9 ปี และมี 40-41 บริษัทอยู่ใน MSCI ESG และ FTSE4Good Emerging Index ดังนั้นหากเทียบกับภูมิภาค บริษัทไทยจึงอยู่ในอันดับต้นๆ
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์กว่า 800 บริษัท และมีบริษัทในห่วงโซ่อุปทานอีกเป็นหลักแสน จึงยังมีช่องว่างให้สามารถพัฒนาได้อีกมาก
กองทุน ESG มีโอกาสเติบโตสูง
ขณะที่ ชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน และกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลักการ ESG กับการลงทุนปัจจุบันมีความคล้ายคลึงกัน เนื่องจากในฐานะผู้จัดการกองทุนต้องแนะนำให้นักลงทุนกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงและความผันผวนอยู่แล้ว ซึ่ง ESG ก็มีเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงและความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเช่นกัน ดังนั้น 2 สิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่ผู้จัดการกองทุนต้องให้ความสนใจ
“ปัจจัยสำคัญที่บริษัทต่างๆ ทำ ESG คือ เพื่อให้เกิดความสมดุลในการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการดูแลสิ่งแวดล้อม รวมถึงสังคมไปพร้อมๆ กัน ดังนั้น ESG คือการลดความเสี่ยง ประโยชน์จึงตกอยู่กับนักลงทุนสถาบัน เนื่องจากการลดความเสี่ยงจะเป็นเหมือนตัวกรองให้แก่ผู้จัดการกองทุนว่าได้ทั้งบริษัทที่เติบโต และได้ทั้งบริษัทที่มีกันชนสำหรับความเสี่ยงในอนาคต” ชวินดากล่าว
ชวินดาเปิดเผยอีกว่า กองทุน ESG ในประเทศไทยปัจจุบันมีมูลค่ารวมประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการกองทุนในประเทศไทยไม่ได้แค่เสนอกองทุน ESG ของไทย แต่เสนอกองทุน ESG ต่างประเทศด้วย เนื่องจากต่างประเทศมีกองทุน ESG ที่หลากหลายและสร้างมานานกว่าเราเยอะ ซึ่งถ้ารวมมูลค่ากองทุน ESG ต่างประเทศและในประเทศเข้ามาด้วยกันอยู่ที่ 5 หมื่นกว่าล้าน ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าที่น้อย คิดเป็นไม่ถึง 1% ของมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดภายใต้การจัดการ (AUM) ของกองทุนทั้งหมด
“ตัวเลขตรงนี้สะท้อนว่าประเทศไทยเรายังไปได้อีกไกล โดยจะเห็นได้ว่าประเทศที่พัฒนามานานแล้ว เช่น ญี่ปุ่น แคนาดา สหรัฐฯ และยุโรป มีสัดส่วน ESG ต่อ AUM ของกองทุนทั้งหมดขนาดใหญ่มาก อย่างเช่นญี่ปุ่นเกิน 60% ขึ้นไป รวมไปถึงสหรัฐฯ ที่เป็นคนสร้างมลพิษอันดับต้นๆ ของโลกก็มีสัดส่วนกองทุน ESG ค่อนข้างมาก” ชวินดากล่าว