เมื่อเร็วๆนี้ หน่วยงานด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ สํานักบริหารความยั่งยืนธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้สนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนภาคเหนือ ในการเข้าร่วมประกวดในงานสุดยอดเมล็ดกาแฟพิเศษไทย ครั้งที่ 9 (Thai Specialty Coffee Awards 2022) โดยผลปรากฏว่า ได้รับใบประกาศเกียรติคุณและใบรับรองผลคะแนนคุณภาพเมล็ดกาแฟจัดอยู่ในกาแฟระดับพิเศษในประเภทการแปรรูปแบบเปียก จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ Social Enterprise กาแฟบ้านเลาสู ผู้พิทักษ์ต้นน้ำวัง จ.ลำปาง ด้วยผลคะแนน 82.71 และโครงการกองกายหมู่บ้านฟื้นป่า 100% ศาสตร์พระราชาพัฒนาสู่ความยั่งยืน อ.เเม่เเจ่ม จ.เชียงใหม่ ด้วยผลคะแนน 82.29 จากการคัดเลือกทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมและผลักดันธุรกิจกาแฟไทยของเกษตรกรในโครงการ ให้เกิดการเพิ่มมูลค่าและเติบโตในตลาดกาแฟทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ ซึ่งโครงการดังกล่าวฯ นับเป็นหนึ่งในแผนงานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืน 4 ต้นน้ำภาคเหนือ ปิง วัง ยม น่าน ของเครือซีพี ที่สอดรับตามนโยบายเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
คุณจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เครือซีพี มีนโยบายขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืนโดยยึดมั่นหลัก 3 ประโยชน์ของเครือฯ คือ ทำเพื่อประเทศชาติ ประชาชน และบริษัท โดยเข้าไปขับเคลื่อนในพื้นที่ภาคเหนือ 4 ต้นน้ำภาคเหนือ ปิง วัง ยม น่าน ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของประเทศไทย ตลอดระยะเวลากว่า 6 ปี เครือฯ ให้ความสำคัญด้านการยกระดับคุณภาพชีวิต ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูทรัพยากรสิ่งแวดล้อม โดยผสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและชุมชน
สำหรับโครงการ Social Enterprise กาแฟบ้านเลาสู ผู้พิทักษ์ต้นน้ำวัง จ.ลำปาง เป็นพื้นที่ต้นน้ำวังที่สำคัญ ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่มีประสบการณ์ปลูกกาแฟอะราบิก้า มากกว่า 10 ปี แต่ประสบปัญหาทางด้านการตลาดที่ไม่แน่นอน ผลผลิตไม่มีคุณภาพ ปริมาณผลผลิตลดลง ทำให้เกษตรกรคิดที่จะเลิกปลูกและหันไปประกอบอาชีพอื่น ซึ่งจะส่งผลต่อต่อแวดล้อม อีกทั้งการขยายพื้นที่การเกษตรทำให้พื้นที่ป่าลดลง โดยปัจจุบัน เครือซีพี เข้าไปสนับสนุนกว่า 3 ปี มีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน “กลุ่มกาแฟบ้านเลาสู” สู่เป้าหมายการยกระดับเกษตรกรให้เป็นนักธุรกิจกาแฟที่มีองค์ความรู้ในการผลิตกาแฟคุณภาพตลอดห่วงโซ่อุปทาน และการต่อยอดธุรกิจชุมชนให้มีความยั่งยืน ภายใต้ผลิตภัณฑ์กาแฟคั่วแบรนด์ “กาแฟบ้านเลาสู”
ในด้าน โครงการกองกายหมู่บ้านฟื้นป่า 100% ศาสตร์พระราชาพัฒนาสู่ความยั่งยืน อ.เเม่เเจ่ม จ.เชียงใหม่ ถือเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำปิงที่สำคัญ แต่พบว่า กว่า 40% ของพื้นที่เป็นภูเขาหัวโล้น โดยสาเหตุหลักมาจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว การทำอาชีพไม่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ และปัญหาการเผาวัสดุทางการเกษตรที่ทำให้เกิดปัญหาหมอกควันไฟป่า เครือซีพี จึงเข้าไปสนับสนุนโมเดลต้นแบบพัฒนาอาชีพ โดยการใช้พืชมูลค่าสูงที่สร้างรายได้และสามารถพลิกฟื้นผืนป่า ภายใต้แนวคิด “ตลาดนำ อาชีพตาม” ด้วยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านทับ มูลนิธิฮักเมืองแจ๋ม มูลนิธิไทยรักษ์ป่า และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) โดยสนับสนุนพืชมูลค่าสูงในแปลงเกษตรกร เช่น กาแฟ แมคคาเดเมีย อะโวคาโด ที่เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่ ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ การบริหารจัดการแปลง ตลอดจน ยกระดับการพัฒนาโอกาสชุมชนสู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืน โดยพัฒนาการแปรรูปกาแฟชุมชน การผลิตภัณฑ์กาแฟชุมชนบ้านกองกาย และการส่งกาแฟชุมชนบ้านกองกายเข้าประกวด อีกทั้งยังสร้างการรวมกลุ่มเกษตตรกร โดยการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อสร้างความเข็มแข็ง และการพัฒนาบ้านกองกายสู่หมู่บ้านท่องเที่ยว
ทั้งนี้ เครือซีพี ยังคงเดินหน้าส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชุมบนพื้นที่สูง 4 ต้นน้ำ พัฒนาต่อยอดเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนในทุกมิติ สร้างเกษตรกรเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็ง สร้างรายได้ที่มั่นคง โดยมีเป้าหมายความยั่งยืน 3 เสาหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ป่าต้นน้ำได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน