ภาพโดย StartupStockPhotos จาก Pixabay
เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะรู้สึกเบิร์นเอาต์เมื่อทำงานเดิมไปเป็นเวลานาน หรือต้องต่อสู้กับวัฒนธรรมองค์กรที่ย่ำแย่ ไม่ว่าจะเป็นการที่ทุกงานคืองานรีบ หัวหน้าและเพื่อนร่วมงานที่มีพฤติกรรมเป็นพิษต่อจิตใจ การทำงานล่วงเวลาที่ไม่เคยได้รับค่าตอบแทน หรือการที่หน้าที่ที่ต้องทำนั้นเกินกว่าเงินค่าจ้างที่ได้ วันหยุดไม่เคยได้หยุด หรืออื่นใด ซึ่งโดยปกติคนเราจะใช้เวลากว่า 3-4 ปีในการเริ่มรู้สึกเบิร์นเอาต์
แต่ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่งผ่านพ้นไปของโรคระบาด เศรษฐกิจ และเทรนด์การทำงาน ทำให้คนเราสามารถเบิรน์เอาต์ได้เร็วขึ้น บางคนทำงานไปได้เพียงแค่ครึ่งปีก็สามารถรู้สึกเบิร์นเอาต์ได้แล้ว ซึ่งระยะของการเบิร์นเอาต์นั้นมีทั้งหมด 5 ระยะด้วยกันที่เราจะต้องเผชิญ
1. The Honeymoon
ในช่วงแรกของการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ไม่ว่าอะไรก็สวยงามไปหมดราวกับน้ำผึ้งพระจันทร์ เราล้วนมีพลังในการทำสิ่งเหล่านั้นแบบไม่รู้จบ ทำได้แบบหามรุ่งหามค่ำโดยไม่รู้สึกเหนื่อยล้า เรารักงาน และงานก็รักเรา เราเชื่อว่างานจะช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปของชีวิตและช่วยแก้ปัญหาชีวิตใดก็ตามที่เกิดขึ้น มองไปทางไหนก็รู้สึกดี ไม่ว่าจะตัวงาน เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่ตัวองค์กรก็แสนดี
2. The Awakening
ไม่มีอะไรดีไปเสียหมดหรอกบนโลกนี้ เมื่อระยะน้ำผึ้งพระจันทร์ผ่านไป เราจะเริ่มเห็นว่าความคาดหวังของเราที่มีกับองค์กรนั้นเป็นความคาดหวังที่เกินจริงไปหน่อย เริ่มได้เห็นว่างานที่ทำอยู่ไม่ได้ตอบโจทย์อย่างที่เคยคิดไว้ เพื่อนร่วมงานและองค์กรก็ไม่ได้เพอร์เฟกต์ขนาดนั้น ทำดีก็ไม่เห็นจะมีใครเห็นสักเท่าไร
เมื่อเมล็ดแห่งความผิดหวังเติบโตในใจ เราจะเริ่มสับสนว่ามีอะไรผิดไปหรือเปล่า ก็สังคมเชื่อกันว่ายิ่งทำงานหนักเท่าไร เราจะยิ่งไล่ล่าความฝันได้เร็วเท่านั้น แต่นี่เราก็ทำงานหนักมานานแล้ว ยังไม่เห็นจะมีอะไรเกิดขึ้นนอกจากความเหนื่อยล้า ความเบื่อเหนื่อย และความหงุดหงิด เราจะเริ่มตั้งคำถามกับความสามารถของตัวเอง และเริ่มไม่มั่นใจในตัวเองแล้ว
3. Brownout
เมื่อเข้าสู่ช่วงบราวน์เอาต์ หรือช่วงต้นของการเบิร์นเอาต์ เราจะเริ่มรู้สึกเหนื่อยล้าสะสม และหงุดหงิดง่าย พฤติกรรมการกินและการนอนก็จะเปลี่ยนไป เราจะทำอะไรตามใจตัวเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการดื่ม การออกไปปาร์ตี้ การช้อปปิ้งอย่างหนัก เพื่อคลายความเครียดที่เกิดขึ้น แต่แม้จะทำกิจกรรมเหล่านั้นมากเท่าไร ก็ไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของเราดีขึ้น มีแต่แผ่วลงจนคนรอบข้างเริ่มสังเกตได้
เราจะเริ่มโมโหและโกรธงานที่กำลังทำอยู่ เริ่มหาใครสักคนมาเป็นสนามอารมณ์ว่าเพราะพวกเขานั่นแหละที่ทำให้เราต้องทุกข์ระทมกับงานอยู่แบบนี้ บางครั้งก็หนักจนมีอาการของโรคซึมเศร้า โรคเครียด โรคนอนไม่หลับ หรือในยามหลับก็ฝันถึงแต่เรื่องงาน แม้แต่อาการของโรคทางกายภาพอื่นใดก็จะเริ่มปรากฏให้เห็น
4. Full Scale Burnout
เมื่อความบราวน์เอาต์ลุกลามอักเสบไปจนเป็นความเบิร์นเอาต์ ความสิ้นหวังจะเข้ามาแทนที่ อย่างที่เราบอกไปข้างต้นว่าโดยปกติแล้วขั้นเบิร์นเอาต์จะเกิดขึ้นหลังจากทำงานไปประมาณ 3-4 ปี แต่ในยุคปัจจุบันที่วัฒนธรรมการทำงานโหดร้ายขึ้น ใช้เวลาไม่กี่เดือนก็สามารถทำให้พนักงานหน้าใหม่ไฟแรงสักคนเข้าขั้นเบิร์นเอาต์ได้แล้ว ยิ่งเป็นพนักงานที่ยังอายุน้อยยิ่งมีโอกาสจะเบิร์นเอาต์ได้เร็วกว่าด้วย
ในระยะนี้ เรื่องราวไม่ใช่แค่เรื่องการทำงานอีกต่อไป แต่มันลุกลามไปถึงทุกเรื่องในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความมั่นใจในตัวเองและการเห็นคุณค่าในตัวเองที่พังทลายจนรู้สึกล้มเหลวไปทุกอย่าง รู้สึกโดดเดี่ยวและว่างเปล่า บางคนถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าจากการเบิร์นเอาต์ได้เลยทีเดียว ซึ่งใจเราสามารถพังได้ทุกเมื่อจากความเครียดที่สะสม ทั้งที่เคยคิดว่างานนี้เป็นงานที่ดีสำหรับเรา ทำไมถึงเป็นแบบนี้ไปได้
5. The Phoenix Phenomenon
แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางออกเลย เรายังสามารถลุกขึ้นได้อีกครั้งเหมือนกับนกฟีนิกซ์ที่เกิดขึ้นใหม่จากเถ้าถ่าน แม้จะต้องใช้เวลามากหน่อยก็ตาม ซึ่งเราจะมาโฟกัสกับจุดนี้กันว่าจะทำอย่างไรถึงหลุดจากความรู้สึกเบิร์นเอาต์ที่หนักอยู่ในใจ และลุกขึ้นใหม่เป็นคนที่ไฟแรงกว่าเดิม
นักจิตวิทยา Shilagh Mirgain แนะนำเรื่อง Phoenix Phenomenon เอาไว้ว่าเป็นกระบวนการทางจิตใจที่ทำให้เกิดประโยชน์กับจิตใจของเรา และเปลี่ยนแปลงเราไปในทางที่ดีขึ้นผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก
“เมื่อเราเจอกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก มันมักจะมีโอกาสอยู่ในนั้นเสมอ เราสามารถหยิบเอาความท้าทายที่กำลังเผชิญอยู่กลับมาพัฒนาตัวเองให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งการรับรู้การมีอยู่ของตัวเอง รับรู้เป้าหมายของตัวเอง และรับรู้คุณค่าความสำคัญของคนรอบข้าง รวมไปถึงความตั้งใจที่จะเป็นคนที่ดีขึ้นกว่าเดิม”
ทำอย่างไรให้ลุกขึ้นได้ใหม่อีกครั้งอย่างสวยงาม
หลายคนน่าจะเคยผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากราวกับว่าโลกทั้งใบจะถล่มลงมาจนไม่รู้ว่าจะเยียวยาจิตใจตัวเองให้ผ่านพ้นไปได้อย่างไร แต่เมื่อผ่านพ้นมันไปได้แล้วก็รู้สึกถึงความภาคภูมิใจในตัวเองขึ้นมาว่า “เราผ่านมันมาได้แล้วนะ” ไม่ว่าจะเราจะใช้เวลานานเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปีก็ตาม
การที่เราผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นมาได้ เรียกว่า Post Traumatic Growth หรือ ความงอกงามหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิทยาเชิงบวกที่จะทำให้เรารู้ซึ้งในคุณค่าของการมีชีวิต เห็นคุณค่าของความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รับรู้ในความสามารถของตัวเอง และเปิดใจรับโอกาสใหม่ที่กำลังจะเข้ามา
ซึ่ง Mirgain ได้เปรียบเทียบปรากฏการณ์นี้กับเรื่องราวในเทพนิยายของนกฟีนิกซ์ ที่สามารถเกิดใหม่จากเถ้าถ่านของตัวเองได้และแข็งแกร่งกว่าเดิม ตัวเราก็เช่นเดียวกัน เราสามารถลุกขึ้นได้ใหม่อีกครั้งหลังจากเจอกับเหตุการณ์ทุกข์ใจ ซึ่งบทเรียนเหล่านั้นจะทำให้เราเติบโตขึ้น และรู้ว่าในครั้งต่อไปที่เราเปลี่ยนงาน เราควรจะทำอย่างไรบ้างเพื่อไม่ให้เบิร์นเอาต์เหมือนเดิม
เป็นที่รู้กันดีว่าการจะก้าวออกจากอาการเบิร์นเอาต์ไม่ใช่เรื่องง่าย ก็มีคำแนะนำให้เรียนรู้อารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง ไม่ว่าจะมันจะเป็นความโกรธ ความสับสน ความหงุดหงิด ความผิดหวัง ความเศร้า ความเครียด หรืออะไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติในช่วงของการเบิร์นเอาต์ ลองหาใครสักคนที่สามารถเข้าใจเราและรับฟังเรื่องราวของเราได้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนสนิท ครอบครัว หรือแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ก็เป็นทางออกที่ดี เพราะการเปิดใจพูดคุยจะทำให้เราเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกมากขึ้น
และเมื่อเราลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง ให้ใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองอยากใช้ เราไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่หัวหน้าของเราอยากให้เป็น แต่ละคนมีความเร็วในการก้าวเดินไม่เหมือนกัน ให้เวลาตัวเองมากขึ้น ถ้าเป็นไปได้ หยุดพกงานไปด้วยทุกหนแห่ง ให้เวลาตัวเองได้พักผ่อนอย่างจริงจัง เวลาเลิกงานคือกลับบ้านและไม่แตะงานอีกเลย หรือวันหยุดพักผ่อนก็ควรเก็บคอมพิวเตอร์เอาไว้ให้ห่างไกลตัว ตัดการติดต่อกับที่ทำงานทั้งหมด
สิ่งสำคัญที่สุดคือ หน้าที่การงานของเราจะต้องไม่กัดกินความมั่นใจในตัวเองและการเห็นคุณค่าในตัวเอง
อ้างอิง: