เมื่อเร็ว ๆ นี้ คุณพิไลลักษณ์ พิชัยวัตต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการความยั่งยืนและกิจการเพื่อสังคม ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกับ ผศ.ดร.ณฐิตากานต์ พยัคฆา อาจารย์ประจำสาขาส่งเสริมการเกษตรและพัฒนาชนบท ภาควิชาพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรมโครงการเสริมพลังชุมชนเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟูป่าโดยกระบวนการมีส่วนร่วมในพื้นที่บ้านกองกาย ต.บ้านทับ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ โดยมี คุณเอกสิทธ์ วงศ์ใหม่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านทับ พร้อมด้วยคณะทำงานร่วมกิจกรรมด้วย
คุณพิไลลักษณ์ กล่าวว่า โครงการเสริมพลังชุมชนเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟูป่าโดยกระบวนการมีส่วนร่วมในพื้นที่บ้านกองกาย ต.บ้านทับ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ มีเป้าหมายเพื่อ “ถอดบทเรียน” ผ่านการเล่น “เกมบ้านของเรา” เป็นเครื่องมือ สะท้อนผลลัพธ์ด้านการรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการ “ดิน น้ำ ป่า” อย่างรู้คุณค่า รวมถึง การฟื้นฟูป่า ผ่านกระบวนการปรับเปลี่ยนอาชีพจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นพืชมูลค่าสูง โดยมี “กาแฟ” เป็นพืชเศรษฐกิจนำร่อง ซึ่งรูปแบบกิจกรรมนี้มีความเหมาะสมกับกลุ่มเกษตรกรที่มีข้อจำกัดด้านการสื่อสารทั้งภาษาพูดและการเขียน ในครั้งนี้มีเกษตรกรสมาชิกวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟบ้านกองกายเข้าร่วมกว่า 20 คน
ในกิจกรรมดังกล่าว เกษตรกรจำเป็นต้องตัดสินใจเลือกโซนพื้นที่เพาะปลูกพืชและชนิดพืชที่จะปลูก แบ่งออกเป็น กาแฟ พืชผัก และข้าวโพด การแก้ไขปัญหาสภาวะความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เช่น ต้นทุน สภาพอากาศ ปริมาณน้ำฝน แหล่งน้ำ การวางแผนการบริหารการเงิน การลงทุน และการจัดสรรผลประกอบการจาการผลิตพืช เพื่อการต่อยอดการปลูกพืชในรอบถัดไป รวมถึงการวางแผนการช่วยเหลือเกื้อกูลภายในชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาสภาวะความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วย
การดำเนินงานครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างหน่วยงานด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ พื้นที่ต้นน้ำปิง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ กับ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจะมีการต่อยอดด้านงานวิจัยและการพัฒนาชุมชนบ้านกองกาย สู่การเป็น “Community Learning Center” พื้นที่แหล่งเรียนรู้ต้นแบบของการทำการเกษตรตามนโยบายเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy) ขับเคลื่อนการสร้างอาชีพทางเลือกให้เกษตรกรมีรายได้อย่างเพียงพอ ควบคู่กับการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ มุ่งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวบนภูเขาสูง เช่น ข้าวโพด ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในดินจากการใช้สารเคมี ในอากาศจากการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร และการบุกรุกพื้นที่ป่า โดยหันมาบริหารและใช้พื้นที่อย่างจำกัดแต่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกมิติแก่เกษตรกร ตลอดจนสร้างความยั่งยืนผ่านการพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้เกิดรายได้หมุนเวียนภายในชุมชน และท้ายที่สุดชุมชนจะมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป