UN คาดอินเดียมีประชากรแซงจีนในปีนี้ จับตา! ความท้าทายของ ‘คนสูงวัยในญี่ปุ่น วัยรุ่นในอินเดีย’

ปี 2023 ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของประชากรศาสตร์ในเอเชีย นี่คือครั้งแรกในยุคสมัยใหม่ที่จำนวนประชากรของอินเดียจะแซงหน้าจีน กลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก

ขณะที่ประชากรในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ที่กำลังเพิ่มขึ้นและอายุที่ยังน้อยเป็นสิ่งที่ทำให้เปิดโอกาสสำหรับการพัฒนา แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่สร้างความท้าทายในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยากจนไปจนถึงการศึกษา

ผู้เชี่ยวชาญมองว่าความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นอาจจะกระทบต่อการค้าขายของอินเดียกับนานาประเทศ ขณะที่ธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์ว่าอินเดียจะต้องลงทุนเพิ่มอีก 8.4 แสนล้านดอลลาร์ ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานสังคมเมืองในอีก 15 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

“สิ่งที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะเพิ่มแรงกดดันต่อความต้องการโครงสร้างพื้นฐานและบริการต่างๆ ของอินเดีย ด้วยความต้องการน้ำสะอาด ไฟฟ้าที่เสถียร ถนนที่ปลอดภัย และอื่นๆ” ธนาคารโลกระบุในรายงาน

สถานการณ์ที่ยากลำบากของอินเดียเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความยุ่งเหยิงและหลากหลายของประชากรในเอเชีย ความแตกต่างระหว่างประเทศที่ประชากรยังอายุน้อย, ประชากรกำลังเพิ่มขึ้น, สังคมผู้สูงอายุ และประชากรกำลังลดลง กลายเป็นช่องว่างของโอกาสและปัญหาไปพร้อมๆ กัน

The United Nations (UN) ประเมินว่าประชากรโลกเพิ่มขึ้นแตะ 8 พันล้านคน ไปเรียบร้อยแล้ว หลังจากที่เพิ่งจะก้าวผ่านระดับ 7 พันล้านคน ไปเมื่อ 11 ปีก่อนหน้านี้ ในขณะที่เอเชียเป็นบ้านของผู้คนกว่าครึ่งหนึ่งของคนทั้งโลก

ในปี 2022 นอกจากจีนที่มีประชากร 1.426 พันล้านคน อินเดีย 1.417 พันล้านคน ยังมีอีก 5 ประเทศในเอเชียที่มีประชากรมากกว่า 100 ล้านคน ได้แก่ อินโดนีเซีย 276 ล้านคน ปากีสถาน 236 ล้านคน บังกลาเทศ 171 ล้านคน ญี่ปุ่น 124 ล้านคน และฟิลิปปินส์ 116 ล้านคน ขณะที่เวียดนามซึ่งมีประชากร 98 ล้านคน คาดว่าจะเข้ามาอยู่รวมในกลุ่มนี้ในไม่ช้า

UN ระบุว่า การที่ประชากรโลกทะลุ 8 พันล้านคน เป็นสัญญาณว่าสาธารณสุขเป็นเรื่องที่ต้องเร่งพัฒนา แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าประชากรในเอเชียมีความแตกต่างและหลากหลายอย่างมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ในเอเชียมีประเทศที่ประชากรยังหนุ่มสาว ซึ่งมีอายุเฉลี่ยระหว่าง 20-29 ปี เช่น อินเดีย (27.9 ปี) ปากีสถาน (20.4 ปี) ฟิลิปปินส์ (24.7 ปี) ขณะที่บางประเทศอายุเฉลี่ยของประชากรอยู่ระหว่าง 40-49 ปี ได้แก่ ญี่ปุ่น (48.7 ปี) และเกาหลีใต้ (43.9 ปี) ซึ่งเป็นช่องว่างที่ถ่างออกมากขึ้นตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

ขณะที่อินเดียเผชิญกับปัญหาการว่างงานและโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากร ญี่ปุ่นกลับเผชิญกับอัตราการเกิดที่ต่ำ โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลกังวลอย่างมากและบอกว่านี่คือสถานการณ์ที่คับขัน เพราะเรื่องของแนวโน้มประชากรจะกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ทั้งนี้ UN คาดว่าจำนวนประชากรในอินเดียจะเพิ่มขึ้นราว 11 ล้านคน ในปี 2022-2023 เป็น 1.43 พันล้านคน คิดเป็น 17% ของประชากรโลก ซึ่งรัฐบาลอินเดียมองเป็นโอกาสของประเทศ โดยกล่าวว่า “โครงสร้างประชากรของอินเดีย พร้อมกับพลวัตของสังคมและเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น จะช่วยเปิดโอกาสให้กับประเทศจากคนหนุ่มสาวที่เพิ่มขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่เกิดขึ้นพร้อมกันคือการเข้าถึงการศึกษา การจ้างงาน ความเท่าเทียมทางเพศ บริการสาธารณสุข และปัญหาการตั้งครรภ์ของวัยรุ่น

แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์จะคาดว่า GDP ของอินเดียจะเพิ่มขึ้น 7% ในปีนี้ ถือเป็นประเทศที่เติบโตมากที่สุดในบรรดาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แต่ปัญหาการว่างงานจะยังคงรุนแรงด้วยอัตราว่างงานราว 8% อิงจากการประเมินของ Centre for Monitoring Indian Economy

Shotaro Kumagai นักเศรษฐศาสตร์ของ Japan Research Institute กล่าวว่า ความท้าทายของอินเดียคืออาหาร ซึ่งการผลิตอาหารสามารถถูกกระทบได้ง่ายมากจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ในมุมกลับกัน ความต้องการที่เพิ่มขึ้นในประเทศกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่ออาหารในประเทศไม่เพียงพอจะทำให้การส่งออกลดลง และนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนอาหารในประเทศอื่นๆ ด้วย

ในอีกด้านหนึ่ง ประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วมากที่สุดอย่างญี่ปุ่น เผชิญกับความท้าทายที่แตกต่างไปจากอินเดียอย่างสิ้นเชิง เช่น ชนบทที่ประชากรลดลง และการเสื่อมโทรม

ในปี 2018 มีบ้านในชนบทของญี่ปุ่นที่ถูกทิ้งร้าง 3.49 ล้านหลัง เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ขณะที่สถิติการเกิดในญี่ปุ่นล่าสุดมีแนวโน้มจะต่ำกว่า 8 แสนคน เป็นครั้งแรกในปี 2022 ซึ่งเป็นการลดลงของประชากรมากกว่าที่ญี่ปุ่นคาดไว้ โดย National Institute of Population and Social Security Research เคยคาดไว้เมื่อปี 2017 ว่า จำนวนการเกิดของญี่ปุ่นจะไม่ลดต่ำกว่า 8 แสนคน ภายในปี 2030

นอกจากญี่ปุ่นแล้ว ยังมีประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่กำลังเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุ เช่น เกาหลีใต้ จีน สิงคโปร์ และไทย

Kumagai กล่าวว่า แต่ละประเทศควรหันมาให้ความร่วมมือกันเพื่อจัดการปัญหาเกี่ยวกับความต้องการด้านอาหารและพลังงาน และแชร์องค์ความรู้ระหว่างกัน

“อย่างญี่ปุ่นซึ่งได้ริเริ่มโครงการประกันสำหรับผู้สูงอายุในระยะยาวเพื่อรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ อาจจะร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่กำลังเผชิญกับปัญหาเดียวกัน เพื่อร่วมออกแบบระบบประกันสังคมระหว่างประเทศ”

ทั้งนี้ ในช่วงที่ประชากรโลกแตะระดับ 8 พันล้านคน UN ได้เผยแพร่วิดีโอสั้นซึ่งมีใจความสำคัญว่า ประชากรโลกที่แตะระดับ 8 พันล้านคน ไม่ใช่จุดจบของโลก แต่เป็นความสำเร็จของโลกที่ช่วยให้ผู้คนอยู่รอดได้ อย่างไรก็ตาม มันอาจจะกลายเป็นจุดจบของโลกได้จริง ถ้ารัฐบาลของแต่ละประเทศไม่สามารถเตรียมการเพื่อรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า

 

อ้างอิง: