นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ ส่งสัญญาณเตือนสารพัดความไม่แน่นอนขวางการเติบโตโลกในระยะยาว

ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay

เหล่านักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลกส่งข้อความเตือนนานาประเทศว่า นับต่อจากนี้เศรษฐกิจโลกดูเหมือนจะเปลี่ยนไปสู่ยุคที่ยากลำบากมากขึ้น ซึ่งอัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้น ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์สูงขึ้น และความไม่แน่นอนชัดเจนขึ้น

คำเตือนดังกล่าวมีขึ้นระหว่างการประชุมประจำปีของ American Economic Association หรือ AEA ที่นิวออร์ลีนส์ ที่บรรดาผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจระดับโลกอย่าง Lawrence Summers อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐอเมริกา, Kenneth Rogoff อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และ Kristin Forbes อดีตผู้กำหนดนโยบายของธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ เข้าร่วม โดยทั้งหมดต่างเห็นตรงกันถึงความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกที่รออยู่ข้างหน้า

ทั้งนี้ สิ่งที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญมองเห็นก็คือ เหล่านักลงทุนและผู้กำหนดนโยบายจะเผชิญหน้ากับโลกใหม่ที่การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนทวีความรุนแรงขึ้น ขณะที่ปัญหาเรื่องหนี้ระดับสูงจนอยู่ในระดับอันตรายเป็นเรื่องที่ปกติมากขึ้น

Rogoff อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF ซึ่งรับหน้าที่ศาสตราจารย์สอนในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปัจจุบันกล่าวว่า โลกอยู่ในยุคที่ภาวะช็อกเกิดขึ้นมากมาย และขณะนี้เศรษฐกิจโลกอาจมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ

ทั้งนี้ คำเตือนเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจโลกในระยะยาวเกิดขึ้นเนื่องจากนักลงทุนเริ่มมีความหวังมากขึ้นเกี่ยวกับความสามารถของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่สูงมากโดยไม่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หุ้นและคลังปรับตัวขึ้นในวันศุกร์ หลังจากรายงานการจ้างงานของกระทรวงแรงงานแสดงให้เห็นว่าค่าจ้างเพิ่มขึ้นลดลงในเดือนที่แล้ว ขณะที่การว่างงานกลับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ

ขณะเดียวกันการประชุมของเหล่ากูรูด้านเศรษฐศาสตร์ที่สามารถกลับมาจัดประชุมแบบพบปะหน้ากันเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี ยังมีขึ้นในช่วงเวลาที่วิกฤตความเชื่อมั่นที่มีต่อนักเศรษฐศาสตร์อยู่ในภาวะสั่นคลอน เนื่องจากการคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาค่อนข้างผิดเพี้ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของอัตราเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์ไว้แต่ต้น

David Romer ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในเบิร์กลีย์ ยอมรับว่าข้อมูลบันทึกในการทำความเข้าใจกับอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างแย่มาก ทำให้ความเป็นไปได้ของผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจมีค่อนข้างมากในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า รวมถึงโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อจะคลี่คลาย หรือฝังตัวติดแน่นอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ต่างก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นเท่าๆ กัน

ทั้งนี้ Bloomberg รายงานว่า ความเห็นของเหล่านักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำที่มีต่อธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะ Fed ค่อนข้างแตกต่างกันออกไป สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณความไม่แน่นอนที่ยากคาดเดาของเศรษฐกิจโลกมากขึ้นเรื่อยๆ

Joseph Stiglitz เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ เตือนว่าสินเชื่อที่ตึงตัวจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ และให้นานาประเทศหาวิธีอื่นนอกจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย มาจัดการลดอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เพราะแรงหนุนจากภาวะอุปทานตกต่ำกับการรุกรานยูเครนของรัสเซียอย่างจริงจังก่อนที่จะสายมากไปกว่านี้

ขณะที่ Pierre-Olivier Gourinchas หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF คนปัจจุบัน กลับเห็นต่างออกไป โดยเจ้าตัวย้ำถึงความสำคัญของ Fed และธนาคารกลางอื่นๆ ที่ยังคงมุ่งมั่นที่จะเอาชนะอัตราเงินเฟ้อแม้ในขณะที่การว่างงานเพิ่มขึ้น

ด้าน Raphael Bostic ประธาน Fed สาขาแอตแลนตา มองว่าธนาคารกลางยังคงจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปแม้ว่าค่าจ้างจะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็ตาม กระนั้นเจ้าตัวก็ยอมรับว่าเศรษฐกิจโลกในเวลานี้มีความไม่แน่นอนมากมาย และเพราะสิ่งต่างๆ ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะการระบาดของโควิด ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะมีความคาดหวังอย่างแน่วแน่ว่าสิ่งต่างๆ จะมีวิวัฒนาการอย่างไรเมื่อเวลาผ่านไป

อ้างอิง: