วันเด็กแห่งชาติ จัดขึ้นทุกปีในวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่หลายประเทศทั่วโลกให้คำมั่นร่วมมือกันคุ้มครองและปกป้องสิทธิเด็ก ปัจจุบันไทยยังมีเด็กๆ ซึ่งเป็นลูกหลานของแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา จึงมีความเสี่ยงในการใช้ชีวิตและเข้าสู่วงจรการใช้แรงงานเด็กกฎหมาย CPF ชู “ห้องเรียนรู้เพื่อเด็กและครอบครัวแรงงานเพื่อนบ้าน” ของศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา หรือ ศูนย์ FLEC เป็นต้นแบบการบูรณาการที่สนับสนุนให้ลูกหลานของแรงงานข้ามชาติในภาคการประมงได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ตอกย้ำเป็นองค์กรที่มุ่งมั่นสนับสนุนและคุ้มครองสิทธิเด็กทั้งในองค์กร รวมทั้งในชุมชนและสังคมรอบข้าง
CPF เป็นหนึ่งในองค์กรที่ร่วมจัดตั้งขึ้นศูนย์ FLEC ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน เพื่อบูรณาการความร่วมมือและผนึกองค์ความรู้ของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ประกอบด้วย CPF องค์การสะพานปลา กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา (บ้านสุขสันต์) บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล และ บจ.จีอีพีพี สะอาด เพื่อจัดการและป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงที่ฝ่าฝืนและละเมิดกฎหมาย (Illegal Unreported and Unregulated Fishing หรือ IUU Fishing) ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและครอบครัวแบบครบวงจร ครอบคลุมถึงมิติต่างๆ และโอกาสทางการศึกษา ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นของ CPF ในการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิเด็ก ร่วมยกระดับอุตสาหกรรมอาหารทะเลและประมงไทยปลอดการใช้แรงงานเด็ก
คุณนาตยา เพชรรัตน์ ผู้จัดการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา ในฐานะกรรมการ ศูนย์ FLEC กล่าวว่า หนึ่งในการดำเนินงานหลักของศูนย์ FLEC คือ “ห้องเรียนรู้เพื่อเด็กและครอบครัวแรงงานเพื่อนบ้าน” เป็นความร่วมมือที่เปิดโอกาสให้ลูกหลานแรงงานข้ามชาติเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม ช่วยให้เด็กมีความรู้อ่านออกเขียนได้และมีทักษะอาชีพ เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ลดความเสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบหรือตกเป็นเหยื่อของการแรงงานเด็กผิดกฎหมาย
ห้องเรียนรู้ฯ ตั้งอยู่ชั้นล่างของอาคารสำนักงานท่าเทียบเรือประมงสงขลา (ท่าสะอ้าน) อ.เมือง จ.สงขลา มี คุณครู “พาตีเมาะ หะแว” เป็นครูประจำห้องเรียนรู้ฯ เปิดสอนทุกวันจันทร์-วันศุกร์ อย่างเป็นระบบและเหมาะสมกับวัยของเด็ก ได้แก่ วัยเด็กเล็ก การเรียนการสอนแบบบูรณาการเพื่อเสริมพัฒนาการ เด็กโตจะเรียนวิชาหลัก ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าเรียนในระบบการศึกษาของไทย นอกจากนี้ ยังได้เรียนภาษากัมพูชาจากเจ้าหน้าที่ศูนย์ FLEC และเรียนรู้นอกห้องเรียน เสริมสร้างทักษะการใช้ชีวิตและการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อาทิ การปลูกพืชผักสวนครัวเป็นอาหาร การปรุงอาหารปลอดภัย การคัดแยกขยะ เป็นต้น
นับตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ศูนย์ FLEC มีส่วนช่วยลูกหลานแรงงานข้ามชาติ 263 คน ได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา เรียนรู้ทักษะการส่งเสริมคุณภาพชีวิต และมากกว่าร้อยละ 80 สอบผ่านเกณฑ์ประเมินของศูนย์การเรียนรู้ฯ นอกจากนี้ ลูกหลานแรงงานข้ามชาติ 34 คน กำลังเรียนอยู่ในระดับชั้นอนุบาล-ประถมศึกษา ที่ ร.ร.เทศบาล 1 อ.เมือง จ.สงขลา อีกด้วย
“CPF และศูนย์ FLEC ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็กข้ามชาติอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและป้องกันการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก ให้ “เด็กข้ามชาติ” ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมต่อไป” คุณนาตยา กล่าว
จากการดำเนินงานเชิงรุกในการคุ้มครองสิทธิเด็กข้ามชาติอย่างต่อเนื่องของศูนย์ FLEC และ “ห้องเรียนรู้เพื่อเด็กและครอบครัวแรงงานเพื่อนบ้าน” เป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานระดับประเทศและสากลมาเยี่ยมชมดูงาน ส่งผลให้ CPF เป็นองค์กรในภาคเกษตรอุตสาหกรรมติดอันดับองค์กรสนับสนุนและดำเนินงานด้านสิทธิเด็ก จาก GLOBAL CHILD FORUM มูลนิธิด้านสิทธิเด็กและธุรกิจที่ดำเนินงานคุ้มครองสิทธิเด็กของสวีเดนอีกด้วย
Cr.PR CPF