CPF สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทย ก้าวสู่นักพัฒนานวัตกรรมอาหารบนเวทีระดับสากล ร่วมถ่ายทอดความเชี่ยวชาญแก่เยาวชนไทย ประสบความสำเร็จคว้า 2 รางวัลจากเวทีการแข่งขันนวัตกรรมอาหารจากพืชในระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ปี 2565 (The ProVeg Food Innovation Challenge APAC 2022) ต่อยอดสร้างสตาร์ทอัพและนักนวัตกรรมรุ่นใหม่พัฒนาเมนูอาหารแห่งอนาคต ตอบโจทย์ผู้บริโภคทั้งความอร่อย สุขภาพ สวัสดิภาพสัตว์ และสิ่งแวดล้อม
ดร.ลลานา ธีระนุสรณ์กิจ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านนวัตกรรมอาหารและความสัมพันธ์องค์กร CPF กล่าวว่า CPF เป็นพันธมิตรกับ ProVeg ซึ่งเป็นองค์กรระดับภูมิภาคด้านอาหารที่สนับสนุนการผลิตเนื้อจากพืช (Plant based meat) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 สนับสนุนการยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร พร้อมสนับสนุนกิจกรรมการประกวด The ProVeg Food Innovation Challenge APAC 2022 ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหาร ซีพีเอฟ (CPF RD Center) ให้คำปรึกษาและถ่ายทอดความรู้แก่ทีมที่ส่งผลงานร่วมประกวด เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญของ CPF นำมาต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่และร่วมขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหาร โดยในปีนี้ 2 ใน 3 ทีมที่ CPF เป็นที่ปรึกษาจากผลงานที่ส่งเข้าประกวดรวม 179 ผลงาน จาก 16 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สามารถคว้า 2 รางวัลจากเวทีนี้
CPF ร่วมกำหนดหัวข้อการสร้างสรรค์นวัตกรรม คือ การพัฒนาเมนูอาหารท้องถิ่นของชาวเอเชีย โดยใช้เนื้อจากพืชที่มีรสสัมผัสเสมือนเนื้อจริง โดยนวัตรกรจะต้องสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองและวางแผนการเปิดตัวสินค้าให้ครบถ้วน ซึ่งบริษัทฯ จะร่วมเป็นโค้ชให้แก่นักศึกษาที่เข้ารอบผ่านการประชุมออนไลน์ร่วมกัน เพื่อติดตามความคืบหน้า ให้คำปรึกษาและช่วยแก้ปัญหาให้โครงการสำเร็จตามเป้าหมาย นอกจากนี้ โครงการที่เข้ารอบสุดท้ายมีโอกาสพัฒนาเพื่อนำออกขายในตลาดจริงในอนาคต เพื่อเป็นการสร้างนักนวัตกรรมรุ่นใหม่ เกี่ยวกับโปรตีนทางเลือกในเอเซีย-แปซิฟิก
ทั้งนี้ ทีม DE CRAB นิสิตปริญญาโทของภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 จากผลงาน “แกงคั่วเนื้อปูก้อนแพลนท์เบสใบชะคราม” ซึ่งเป็นการผสมผสานนวัตกรรมแพลนต์เบสเข้ากับอาหารพื้นบ้าน ขณะที่ทีม Hi-Burger นักศึกษาจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 3 จากผลงานเบอร์เกอร์เนื้อจากพืช ที่เน้นใช้วัตถุดิบท้องถิ่น เช่น ขนุน บีทรูท และถั่วเหลือง และราดด้วยน้ำซอสสะเต๊ะ ที่ให้รสกลมกล่อมแบบไทย โดยผลงานนี้ ยังได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมนำเสนอภายในงาน The UN Climate Change Conference (COP27) เวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“การแบ่งปันองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญแก่เยาวชนไทยของ CPF ถือเป็นการสร้างนักนวัตกรรมไทยรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก และมีโอกาสที่จะสามารถเติบโตไปเป็นสตาร์ทอัพในอนาคตได้ ให้มีความรู้และความเข้าใจอย่างรอบด้านในภาคอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อมาร่วมกันพัฒนาอาหารแห่งอนาคต เช่น เมนูเนื้อจากพืชซึ่งได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหาร” ดร.ลลานา กล่าว
งาน The ProVeg Food Innovation Challenge APAC 2022 เป็นเวทีการประกวดเพื่อเฟ้นหานวัตกรที่มีความรู้ และความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาเมนูอาหารเนื้อจากพืชที่ดีต่อสุขภาพและสร้างความยั่งยืนแก่สังคมและสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีของผู้บริโภคทั่วโลก
Cr.PR CPF