IMF คาดเศรษฐกิจโลกเติบโตชะลอเหลือ 2.9% มอง ‘อินเดีย-จีน’ ขยายตัวมากสุด

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับมุมมองต่อเศรษฐกิจโลกในปีนี้เป็นครั้งแรก โดยมองว่าการบริโภคในสหรัฐอเมริกาจะยังแข็งแกร่ง ขณะที่การเปิดประเทศของจีนช่วยหนุนความต้องการซื้อท่ามกลางความเสี่ยงหลายด้าน

IMF คาดว่า เศรษฐกิจโลกวัดจาก GDP ในปีนี้จะขยายตัว 2.9% ซึ่งเป็นมุมมองเชิงบวกมากขึ้นจากเมื่อเดือนตุลาคม เพิ่มอีก 0.2% อย่างไรก็ตามยังเป็นการเติบโตที่ชะลอตัวจากปี 2022 ที่ทำได้ 3.4% ส่วนปี 2024 IMF คาดการณ์ว่าจะเติบโตได้ 3.1%

การเติบโตที่ชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้เป็นผลจากการหดตัวของประเทศเศรษฐกิจใหญ่เทียบกับปีก่อน เช่น

  • สหรัฐฯ คาดเติบโต 1.4% จากปีก่อนที่ 2%
  • ยุโรป คาดเติบโต 0.7% จากปีก่อนที่ 3.5%
  • สหราชอาณาจักร คาดหดตัว 0.6% จากปีก่อนที่ 4.1%
  • บราซิล คาดเติบโต 1.2% จากปีก่อนที่ 3.1%
  • อินเดีย คาดเติบโต 6.1% จากปีก่อนที่ 6.8%

ส่วนประเทศที่เศรษฐกิจน่าจะเติบโตได้ในปีนี้เมื่อเทียบกับปีก่อน เช่น

  • ญี่ปุ่น คาดเติบโต 1.8% จากปีก่อนที่ 1.4%
  • จีน คาดเติบโต 5.2% จากปีก่อนที่ 3%
  • รัสเซีย คาดเติบโต 0.3% จากปีก่อนที่หดตัว 2.2%

ขณะที่กลุ่ม 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตเฉลี่ย 4.3% ในปีนี้ เทียบกับปีก่อนที่เติบโต 5.2%

 

ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในปีนี้ยังเป็นเรื่องของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารกลางแต่ละประเทศ และสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน

ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคของโลกคาดว่าจะชะลอตัวเหลือ 6.6% ในปีนี้ จากปีก่อนที่เพิ่มขึ้น 8.8% แต่เป็นคาดการณ์ที่ดีขึ้น 0.1% จากเดือนตุลาคม และคาดว่าจะลดลงต่อเนื่องไปเหลือ 4.3% ในปี 2024 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อใน 84% ของประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มว่าจะลดลงในปีนี้ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

Pierre-Olivier Gourinchas ประธานทีมเศรษฐกิจของ IMF กล่าวว่า “มุมมองต่ออนาคตในครั้งนี้ไม่ได้แย่ลง ซึ่งนับว่าเป็นข่าวดี แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ยังมีความท้าทายหลายด้านเพื่อไปสู่การฟื้นตัวอย่างยั่งยืน”

การต่อสู้กับเงินเฟ้อยังไม่จบลง นโยบายการเงินจำเป็นจะต้องเป็นแบบหดตัวต่อไป และบางประเทศจะต้องใช้นโยบายที่หดตัวมากขึ้นอีกก่อนที่ต้นทุนค่าครองชีพจะพุ่งขึ้นในทุกด้าน

ส่วนความเสี่ยงที่ต้องจับตาคือ การฟื้นตัวของจีน สงครามในยูเครน และหนี้ที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศเกิดใหม่และกำลังพัฒนา

เงินเฟ้อจะยังคงอยู่กับเราต่อไป ตลาดการเงินอาจจะผันผวน และความขัดแย้งระหว่างประเทศจะทำให้โลกแบ่งย่อยมากขึ้น

 

อ้างอิง: