สถานการณ์เด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษา เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างมาอย่างยาวนาน หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างพยายามหาแนวทางในการให้เด็กเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เพราะปัญหาดังกล่าวไม่ใช่แค่เพียงปัญหาการศึกษา แต่ส่งผลกระทบสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วย
ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า หากประเทศไทยไม่มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษา จะทำให้ GDP เพิ่มขึ้น 3% และหากประเทศไทยแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาได้ จะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากกว่า 228,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่ง “ทุนมนุษย์” ที่สูญเสียไปทำให้เกิดการลดทอนในด้านศักยภาพและอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งการสะสมทุน ผลผลิตของประเทศ รวมไปถึงการลดลงของพัฒนาการในทุกด้าน
สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ ที่ได้แสดงความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงที่จะสนับสนุนและพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ผ่านการส่งเสริมระบบศึกษาในช่วงปลายปีที่ผ่านมาว่า “ประเทศจะเจริญรุ่งเรืองได้ขึ้นอยู่กับศึกษา เพราะการศึกษาคือการพัฒนาคน”
จากวิสัยทัศน์ดังกล่าว เมื่อย้อนกลับไปถึงเส้นทางการดำเนินธุรกิจของเครือซีพีมีเติบโตยาวนานกว่า 100 ปี ล้วนมีเรื่องราวที่ไม่เพียงด้านการทำธุรกิจ แต่รวมไปถึงสร้างประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ หนึ่งในนั้นคือ การให้โอกาสสนับสนุนทุนการศึกษาภายใต้ชื่อว่า “ทุนการศึกษาเครือเจริญโภคภัณฑ์” หรือ “ทุนซีพี” ที่มีการให้ทุนการศึกษามาอย่างต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 40 ปี เพื่อต้องการช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสที่มีความประพฤติดี เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้มีทุนการศึกษาจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี แบบเป็นทุนให้เปล่าไม่มีข้อผูกมัดใดๆ กับองค์กร ซึ่งเป็นเปรียบเสมือนการปิดทองหลังพระของภาคเอกชนไทยที่ให้ทุนยาวนานเพื่อหวังให้เกิด “การสร้างคนเพื่อตอบแทนสังคมและพัฒนาประเทศชาติ”
ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน อดีตนักศึกษาทุนเครือเจริญโภคภัณฑ์ รุ่นที่ 12 เปิดใจพร้อมบอกว่าด้วยความที่เป็นเด็กต่างจังหวัด จึงเข้าใจดีว่าเด็กต่างจังหวัดขาดโอกาสที่ดีต่างจากเด็ก กทม. ภายหลังจบการศึกษาปริญญาตรี นิเทศศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 จากภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วได้ทำงานด้านสื่อสารมวลชน พร้อมกับศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกสาขานิเทศศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ควบคู่กับการทำงานด้านสังคมมาโดยตลอด ผ่านการเป็นวิทยากรให้กับวิทยุชุมชนทั่วประเทศแบบไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ โดยหวังเสมอว่าความรู้ได้ที่เล่าเรียนมาจะเป็นประโยชน์ส่งกลับคืนสู่คนในสังคมต่อไป
เช่นเดียวกับนายกมล นัฎสถาพร เด็กทุนซีพีรุ่นที่ 35 หนุ่มวิศวกรด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ที่ได้นำความรู้จากการฝึกงานในสถานที่ปฏิบัติจริงช่วงระหว่างได้รับทุนซีพี และนำมาพัฒนานวัตกรรม จดได้สิทธิบัตร 2 ผลงานทีมีคุณภาพคือ ชุดบันไดปลดล็อคเหล็กตะแกรงเครื่องบด และชุดอุปกรณ์ช่วยเกี่ยวจับ ซึ่งเป็นการสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์นำพาประเทศชาติสู่ยุค 5.0
“การได้รับโอกาสที่ได้ทุนในวันนั้น ทำให้ทุกวันนี้สามารถมีรายได้สร้างคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ครอบครัวดีขึ้น จากอดีตเด็กสวน ทำเกษตรช่วยเหลือแม่เพื่อหารายได้ส่งเสียครอบครัว ได้มาเป็นวิศวกร ได้ใช้ศักยภาพในการพัฒนาสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับประเทศ เปรียบเสมือนการตอบแทนคุณแผ่นดิน เป็นความภาคภูมิใจที่สุดของชีวิต”
นางสาวรีซาวาตี มูซอ หญิงสาวมุสลิมชาวจังหวัดนราธิวาส เด็กทุนซีพีรุ่นที่ 40 ได้เปิดใจถึงความรู้สึกครั้งแรกในชีวิตที่ได้ทุนเรียนฟรีตลอดหลักสูตร เพราะหากไม่ได้รับทุนก็คงไม่มีโอกาสที่ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัย เพราะจะต้องทำงานหาเลี้ยงคุณยายที่เปรียบเสมือนแม่ผู้ดูแลสองพี่น้องมาตั้งแต่แรกเกิด การได้รับทุนซีพีทำให้ครอบครัวได้มีรอยยิ้มจากคุณยาย ที่หลานสาวคนเดียวได้เรียนต่อปริญญาตรี
“ทุนซีพีเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตที่ทำให้สามารถได้เรียนต่อในสิ่งที่รักคือการได้เป็นครูสอนหนังสือให้น้องๆ มุสลิม ซึ่งจริงๆ เป็นเรื่องไม่ง่ายที่เด็กผู้หญิงชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดภาคใต้จะได้รับโอกาสในการเรียนระดับปริญญาตรี การได้โอกาสในครั้งนี้ทำให้มีพลังในการนำความรู้ได้ไปพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้กับน้องที่หลุดจากระบบการศึกษาในนราธิวาสให้ได้มีโอกาสทัดเทียมเด็กคนอื่น”
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาของภาคเอกชนไทยผ่านการให้ “โอกาส” ด้วยการสนับสนุนทุนการศึกษาเพื่อสร้างคนที่พร้อมจะนำความรู้และศักยภาพมาพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้เกิดความยั่งยืนต่อไป