กูรูด้าน SME “หมู วรวุฒิ” เผยโอกาสไทยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ จากกระแส “Bangkok Blue” พฤติกรรมเศร้าเพราะคิดถึงเมืองไทยของชาวยุโรป พร้อมชู 4 สูตร การท่องเที่ยวสายมู “ไหว้พระ ท่องเที่ยว กินของอร่อย ช้อปปิ้ง” ส่งเสริมท่องเที่ยวต่อเนื่อง ขยับค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงขึ้น สร้างความมั่นใจ ปลอดภัยให้เทียบเท่าสากล
นายวรวุฒิ อุ่นใจ กูรูด้าน SME ผู้ก่อตั้ง officemate และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โลกหลังยุคโควิด “การท่องเที่ยว” ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดของแต่ละประเทศในการพลิกฟื้นระบบเศรษฐกิจให้กลับมาเดินหน้าต่อไปได้เร็วที่สุด เนื่องจากไม่ต้องลงทุนหรือรอการกลับมาของกำลังซื้อ แถมความต้องการหลังการอั้นให้อยู่กับที่ของแต่ละประเทศก็ยังเป็นส่วนเสริมให้การท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวได้เร็วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ประเทศไทยก็เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวประเทศต่างๆ จากทั่วโลก อีกทั้งยังมีกระแส “Bangkok Blue” ที่เกิดขึ้นจากการที่ชาวยุโรปที่เคยเดินทางเข้ามาเที่ยวเมืองไทย แล้วได้โพสต์ผ่านโลกโซเชียลแบบเศร้าๆ อารมณ์คิดถึงเมืองไทย อยากมา แต่ติดช่วงโควิด ทำให้เกิดการถวิลหาของนักท่องเที่ยว
“เราทราบกันดีว่าประเทศไทยอยู่ในช่วงเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มาตลอด 3 ปีในช่วงที่ผ่านมา เพราะด้วยการล็อกดาวน์จากภาวะการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด ซึ่งเราก็เพิ่งเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ในปี 2565 เป็นปีแรก โดยมีนักท่องเที่ยวกลับมา 12 ล้านคน แต่ก็ยังเป็นเพียงแค่ 1 ใน 4 ของช่วงก่อนโควิด ซึ่งก่อนโควิดเรามีนักท่องเที่ยวราว 40 ล้านคน โดยเรามีสถานะทางการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 4 ของโลก”
สำหรับในปี 2566 รัฐบาลตั้งเป้าในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศราว 25 ล้านคน นั่นหมายความว่าปีนี้จะเติบโต 100% ขึ้นไป และในปีหน้า 2567 รัฐบาลก็ตั้งเป้าที่จะดึงนักท่องเที่ยวกลับมาอยู่ที่กว่า 40 ล้านคน ดังนั้นถ้าพูดถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ก็น่าจะเป็นเพียงเซ็กเตอร์เดียวที่จะมีการเติบโต 100% ต่อเนื่องไปอีก 2 ปี ซึ่งก็เป็นโอกาสที่รัฐและเอกชนตองจัดการได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ประเทศไทย ติดอันดับจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งด้วยจิตใจบริการของคนไทย พร้อมทั้งทรัพยากรทางธรรมชาติ ขนบธรรมเนียมประเพณีและศิลปะวัฒนธรรมของไทย ก็เป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้อย่างต่อเนื่อง วันนี้ประเทศไทยอยู่ในโอกาสทองของการท่องเที่ยวที่หาได้ยากในรอบหลายสิบปี และไม่เคยอยู่ในเรดาร์ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกมากเท่ากับยุคหลังโควิดเช่นนี้มาก่อน ทำให้ต้องกลับมาโฟกัสที่การท่องเที่ยว
นายวรวุฒิ กล่าวว่า การวัดประสิทธิภาพของประเทศถูกกำหนดค่าด้วยตัวเลข GDP ซึ่งก็ประกอบไปด้วย C (การบริโภคภายใน) I (การลงทุน) G (การลงทุนภาครัฐ) X (ส่งออก) – M (นำเข้า) = ดัชนีมวลรวมภายในประเทศ แม้ว่าจะไม่มีเลขของการท่องเที่ยวเข้าไปเกี่ยวข้อง เหมือนกับตัวเลขการส่งออก เพราะมีรายได้จากต่างชาติ แต่จริง ๆ แล้วการท่องเที่ยวเข้าข่ายการส่งผลต่อทุกปัจจัยที่จะนำมาคำนวนเป็นสูตรการคิด GDP ทั้งหมด เนื่องจากเมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาก็จะกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศด้วย ขณะที่เมื่อการท่องเที่ยวเกิดภาคเอกชนก็มีการลงทุนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว อีกทั้งภาครัฐก็จะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน ซึ่งเชื่อว่าถ้าคิดทั้งระบบแล้ว การท่องเที่ยวมีผลต่อ GDP ไทยมากกว่า 20% เนื่องจากมีการไปแฝงอยู่กับหลายๆ ปัจจัยดังที่กล่าวว่า นี่คือความสำคัญต่อบทบาทการท่องเที่ยวที่มีต่อประเทศไทย
นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีความพร้อมด้านสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ทั้งภูเขา ทะเล น้ำตก ที่ครบครัน และยังมีการท่องเที่ยวเชิงศิลปะวัฒนธรรม ที่มีแนวทางศิลปะร่วมสมัยมากมายที่เกิดขึ้น แต่ยังทำได้ไม่ดีเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงช้อปปิ้ง ในการกระตุ้นค่าใช้จ่ายต่อหัวให้มากขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวที่เข้าไปที่เกาหลี กลับมีค่าใช้จ่ายต่อหัวมากกว่าไทยถึง 5 เท่า ไทยจึงต้องเตรียมพร้อม ความสะดวกให้การท่องเที่ยวเชิงช้อปปิ้งให้มากขึ้น ทั้งเรื่องของ 1.การมีสินค้าดี มีคุณภาพ 2. การมีเขตช้อปปิ้งปลอดภาษี (Duty Free) ที่หลากหลายมากขึ้น 3. การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีความสะดวก เฉกเช่นในประเทศญี่ปุ่นที่นักท่องเที่ยวสามารถของคืนเงินภาษีที่ร้านค้าได้เลย เรื่องเหล่านี้ถ้าเราทำได้ก็จะสามารถดึงดูดการช้อปปิ้งต่อหัวของนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น รายได้ก็จะเข้าประเทศไทยมากขึ้น
“การท่องเที่ยวสายมู เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มีมานานแล้ว โดยสามารถสร้างรายได้ได้อย่างยั่งยืน เพราะเพียงแค่ที่พระพรหมเอราวัณ จุดเดียวก็สร้างรายได้หมุนเวียนได้หลาย 1,000 ล้านบาท คนฮ่องกงแทบทั้งเกาะก็เข้ามาไหว้ และก็มีการมาไหว้ต่อเนื่อง หลังจากนั้นก็สามารถสร้างสูตรรูปแบบการท่องเที่ยวต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวสายมูได้ โดยสายมูที่ดีควรจะต้องมี 4 องค์ประกอบที่สำคัญ 1.ไหว้พระ 2. เยี่ยมชม ท่องเที่ยว 3. กินของอร่อย และ 4.ได้ซื้อของดีประจำถิ่นหรือช้อปปิ้งด้วย จะเห็นได้ว่า การท่องเที่ยวสายมู เป็นจุดเริ่มต้นและดึงดูดนักท่องเที่ยวจากการสนใจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของไทย แล้วไปท่องเที่ยวยังส่วนอื่นๆ ต่อได้ อีกทั้งสายมูจริงๆ คือ ซอฟต์พาวเวอร์ ที่แท้จริง โดยการที่จะต้องขายศิลปะ วัฒนธรรม ที่มีความเป็นไทย ให้กับทั้งต่างชาติ และคนไทยยอมซื้อ เชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพทั้งเรื่องอาหาร ศิลปะ วิถีชีวิต และวัฒนธรรม แต่เรื่องเหล่านี้ต้องมีการกระตุ้นอย่างจริงจัง”
ดังนั้นอย่ามองสายมูว่าเป็นเรื่องของความงมงาย แต่มองว่าเป็นเรื่องที่อยู่คู่คนไทยมานานแล้ว คนไทยชอบบนบานสานกล่าว ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อเกิดปัญหาก็จะไปบนบานสานกล่าว เมื่อสำเร็จก็จะไปบนบานสานกล่าวเช่นกัน ซึ่งก็จะวนเวียนเกิดซ้ำเช่นนี้เสมอไป วันนี้ประเทศจะพัฒนาสายมูให้กลายเป็นการท่องเที่ยวสายมู เพื่อต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวในส่วนอื่นๆ ต่อไป โดยใช้สายมูเป็นจุดเริ่มต้นดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทย เข้าไปในพื้นที่ต้องการก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งหากภาพสายมูชัดขึ้น เศรษฐกิจของประเทศก็จะสามารถเติบโตได้อีกเป็น 100%
ที่มา สยามรัฐ