กองทุนอนุรักษ์พลังงาน ตัวเลือกที่น่าสนใจสอดรับกระแส ESG

ภาพโดย Steve Buissinne จาก Pixabay

ประเด็นด้านการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม (Environment: E) สังคม (Social: S) และธรรมาภิบาล (Governance: G) ที่เรียกรวมสั้นๆ ว่า ESG ได้รับความสนใจมากขึ้นตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา จากการที่หน่วยงานกำกับของรัฐในหลายพื้นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ มีการออกกฎเกณฑ์กำกับดูแลด้านนี้เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด นำมาซึ่งความสนใจและความตื่นตัวของภาคประชาชนและภาคเอกชนด้วย

ในโลกการลงทุนก็เช่นกัน SCB CIO ได้ดำเนินการศึกษาอย่างละเอียดเกี่ยวกับการลงทุนที่คำนึงถึงประเด็น ESG พบว่า นักลงทุนให้ความสำคัญในการพิจารณาประเด็น ESG ก่อนที่จะลงทุนมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (AUM) ของกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนเกี่ยวข้องกับประเด็น ESG เติบโตอย่างมาก โดยจากข้อมูลของ Morningstar พบว่า AUM ของกองทุน ESG ช่วงปี 2016-2021 เติบโตเฉลี่ย 26% ต่อปี ส่งผลให้สัดส่วนกองทุน ESG ต่อมูลค่า AUM ทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 3% เป็น 6% ในช่วงสิ้นปี 2021 

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความสนใจเรื่อง ESG ก็มีกระแส ‘Greenwashing’ หรือการฟอกเขียว เป็นความท้าทายที่น่าจับตา

Greenwashing ใช้เรียกกรณีที่บริษัทต่างๆ สร้างภาพสวยงามว่าธุรกิจปฏิบัติภายใต้แนวทางของ ESG แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ปฏิบัติตาม หรือปฏิบัติตามไม่ได้อย่างที่สื่อสารสู่สาธารณชน หรืออาจจะพยายามทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดว่า ผลิตภัณฑ์ของตัวเองมีความยั่งยืนสอดคล้องกับ ESG ทั้งที่จริงแล้วเป็นการกล่าวอ้างเอง โดยไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานอื่น และจากความท้าทายประเด็นนี้ ส่งผลให้การวัดผลด้าน ESG หรือ ‘ESG Rating’ มีความสำคัญเพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ JPM พบว่า หน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ประเมิน ESG มี 4 รายใหญ่ ครองส่วนแบ่งตลาด ESG Rating เกือบ 70% ได้แก่ อันดับ 1 คือ MSCI (ส่วนแบ่งตลาด 31%) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลมากที่สุด ครอบคลุมหุ้นและตราสารหนี้มากกว่า 680,000 รายการ ของบริษัทกว่า 8,500 แห่งทั่วโลก อันดับ 2 คือ ISS ESG (ส่วนแบ่งตลาด 17%) ส่วนอันดับ 3 และ 4 มีส่วนแบ่งตลาดเท่ากันที่ 10% คือ Sustainalytics ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ Morningstar เข้าร่วมมือด้วยเพื่อดำเนินการประเมิน ESG Rating ร่วมกัน และ S&P Global Ratings

 

กลุ่มบริษัทที่ได้รับ ESG Rating สูง มักให้ผลตอบแทนดีกว่าบริษัทที่มี ESG Rating ต่ำ

มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ESG Rating โดยพบว่า กลุ่มบริษัทที่ได้รับ ESG Rating ที่สูง มักให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีกว่าบริษัทที่มี ESG Rating ต่ำ ซึ่งหากพิจารณาจากงานศึกษาของ Fidelity International Proprietary ที่จำแนกผู้ออกหุ้นและหุ้นกู้ (Equity Issuers และ Credit Issuers) เป็น 5 ระดับ ตั้งแต่ A-E โดย A คือดีที่สุดในแง่ของ ESG Rating) พบว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดปรับลดลงมากจากการระบาดของโควิดอย่างหนัก หุ้น / หุ้นกู้ที่มี ESG Rating ระดับสูงที่ A-B จะให้ผลตอบแทนติดลบน้อยกว่าหุ้น / หุ้นกู้ที่ ESG Rating ระดับต่ำที่ C-E และหุ้นที่มี ESG Rating ระดับสูงที่ A-B ยังสามารถทำผลตอบแทนชนะตลาด S&P 500 ในช่วงเวลาดังกล่าว

นอกจากนี้ จากรายงานของ Morningstar ก็ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า 50 บริษัทในสหรัฐฯ ที่มีคะแนน ESG สูงสุด (จัดอันดับโดย Sustainalytics) ให้ผลตอบแทนในปี 2021 สูงถึง 33% ซึ่งมากกว่าภาพรวมตลาดสหรัฐฯ ที่วัดจากดัชนี Morningstar US Market ให้ผลตอบแทนเพียง 26%

อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นความสัมพันธ์ของผลตอบแทนจากการลงทุนกับ ESG Rating อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ ตามผลกระทบของเศรษฐกิจในช่วงเวลาต่างๆ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2022 ที่ราคาน้ำมันโลกเร่งตัวขึ้นมาก ท่ามกลางแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนในบริษัท / ผู้ออกตราสารที่ได้รับ ESG Rating สูง อาจไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่มากกว่า เนื่องจากราคาน้ำมันโลกที่เร่งตัว ส่งผลให้กลุ่มผู้ผลิตพลังงานจากฟอสซิล และบริษัทที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมัน ซึ่งมี ESG Rating ที่ต่ำกว่า ให้ผลตอบแทนในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 ค่อนข้างโดดเด่น

ขณะที่บริษัทที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ / นวัตกรรมใหม่ที่ลดทอนการทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งมี ESG Rating ที่สูงกว่า กลับให้ผลตอบแทนที่แย่กว่ากลุ่มพลังงานจากฟอสซิล รวมถึงดัชนีชี้วัดผลตอบแทนตลาดหุ้นทั่วโลกอย่าง MSCI World (ไม่นับรวมกลุ่มพลังงานจากฟอสซิล) เนื่องจากส่วนใหญ่ของบริษัทเหล่านี้จะเป็นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี (Tech Firm) หรือมีอัตราส่วนการก่อหนี้อยู่ในระดับสูง (High Leverage) ทำให้ผลตอบแทนอ่อนแอลงในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น

กรณีตัวอย่าง ได้แก่ หุ้นกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Tesla ที่ราคาลดลง 65% ในปี 2022 เนื่องจากเป็นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการที่ผลตอบแทนตราสารหนี้ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้นักลงทุนรับความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นเติบโตได้น้อยลง ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานอย่าง Chevron แม้จะมี ESG Rating ที่ต่ำกว่า แต่เมื่อราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น ก็กลับให้ผลตอบแทนค่อนข้างดี

แม้ว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจในระยะสั้น อย่างเช่น ทิศทางดอกเบี้ยและราคาน้ำมัน อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของผลตอบแทนของหุ้นหรือกองทุนรวมที่มี ESG Rating ที่ดี ไม่สอดคล้องกับ Rating ได้อย่างเด่นชัด แต่ในระยะยาวแล้ว การที่บริษัทหรือกองทุนรวมได้รับ ESG Rating ที่ดี ก็ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนสนใจเข้าไปลงทุน

ทั้งนี้ ในภาวะที่เศรษฐกิจและการเงินโลกมีความผันผวนสูง แม้ในระยะสั้นผลตอบแทนของกลุ่ม ESG และ Non-ESG อาจไม่สามารถสะท้อนถึงความสัมพันธ์ของผลตอบแทนกับ ESG Rating ได้ตามปกติ แต่หากพิจารณาผลตอบแทนในกรณีที่พิจารณาถึงความผันผวนด้วย (Risk-Adjusted Return) กลับพบว่า ผลตอบแทนที่ได้จากผลิตภัณฑ์ทางการเงินในกลุ่ม ESG มีความน่าสนใจกว่ากลุ่ม Non-ESG พิจารณาจาก Sharpe Ratio ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่วัดประสิทธิภาพการลงทุนหลังพิจารณาเรื่องความผันผวน / ความเสี่ยงด้วย พบว่ากองทุนพันธบัตรที่อยู่ในกลุ่ม ESG Bond Fund ยังให้ผลตอบแทนที่มากกว่ากลุ่ม Non-ESG Bond Fund ยิ่งไปกว่านั้น ประเด็น ESG จะค่อยๆ ทยอยเพิ่มความสำคัญในระยะข้างหน้า ทั้งบทบาทของภาครัฐที่มีการกำกับที่มากขึ้น อีกทั้งกลุ่มนักลงทุนก็ยังคงให้ความสำคัญ

 

แม้ปัจจัยผลตอบแทนมีความสำคัญอันดับหนึ่งในการพิจารณาลงทุน แต่ ESG ก็สำคัญไม่แพ้กัน

แม้ว่าปัจจัยด้านผลตอบแทนจากการลงทุนยังคงเป็นปัจจัยแรกในการพิจารณาลงทุน แต่ ESG ก็ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนให้ความสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Y และ Gen Z ซึ่งจากมุมมองของนักลงทุนดังกล่าว ก็อาจเพิ่มโอกาสที่จะมีเม็ดเงินลงทุนเข้าไปในหุ้น / พันธบัตร / หุ้นกู้ ในกลุ่ม ESG อย่างต่อเนื่อง และหากผลิตภัณฑ์ทางการเงินเหล่านั้นสามารถสร้างผลกำไรที่โดดเด่นในทุกสภาวะตลาด ก็จะยิ่งได้รับความสนใจมากขึ้น

โดยรวมแล้ว SCB CIO มีมุมมองว่า ESG Rating เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ลงทุนมีโอกาสรับผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างยั่งยืนในระยะยาว หากผู้ลงทุนต้องการรักษาความมั่งคั่งที่มีอยู่ให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการลงทุนโดยพิจารณาปัจจัยเรื่องผลตอบแทน รวมถึงการจัดพอร์ตลงทุน กระจายเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย (Asset Allocation) อีกประเด็นที่ต้องคำนึงถึงไปพร้อมกันก็คือ ESG Rating ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงอย่างหุ้น หรือสินทรัพย์เสี่ยงต่ำอย่างตราสารหนี้

 

Climate Change เป็นกองทุนธีม ESG ที่ได้รับความสนใจที่สุด

สำหรับกองทุน ESG ในปัจจุบัน แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ (1) กองทุนรวมที่มีนโยบายเกี่ยวข้อง ESG แบบผสมผสาน E-S-G ในกองทุนเดียว (General ESG Fund) และ (2) กองทุนที่ลงทุนเฉพาะเจาะจงประเด็นใดประเด็นหนึ่งภายใต้ ESG (Thematic ESG Fund)

ทั้งนี้ General ESG Fund จะมีสัดส่วนที่สูงอยู่ที่ 85% ของกองทุน ESG โดยรวม และอีก 15% เป็น Thematic ESG Fund ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ประเด็นเรื่องการดำเนินการเพื่อจัดการประเด็นด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Action)

จากภาพรวมตลาดปัจจุบัน ดูเหมือนเราจะหากองทุนที่เกี่ยวข้องกับประเด็น E ได้ค่อนข้างง่าย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ E เป็นประเด็นที่จับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม รักโลก ไม่ทำให้เกิดมลพิษ นอกจากนี้ E ยังเป็นประเด็นที่สอดคล้องกับเวทีการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติปี 2022 หรือ COP27 ซึ่งต้องการผลักดันการดูแลสิ่งแวดล้อม ในส่วนของ Thematic ESG Fund ในประเด็นที่ได้รับความสนใจรองลงมาคือ ประเด็น S ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเกี่ยวข้องกับการทำให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โดยรวมแล้ว ประเด็น ESG มีประเด็นปลีกย่อยค่อนข้างมากและกระจายไปในหลายด้าน แต่หากพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ ESG ที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลกมากที่สุดในเวลานี้ คงหนีไม่พ้นการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ Stakeholders ทั่วโลกให้ความสนใจ รวมถึงนักลงทุน โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรปและเอเชียอย่างจีน ประเด็นรองลงมาก็คือ ประเด็นด้านทุนมนุษย์ (Human Capital)

สำหรับธีม Climate Change เรามองว่าเป็นประเด็นที่โลกกังวล ภายในประเด็นนี้ประกอบด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของมลพิษ สภาวะอากาศ การขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลง โดยมีเวที COP27 เป็นปัจจัยเร่ง ทำให้ฝ่ายการเมืองทั้งยุโรป สหรัฐฯ และจีน ต้องการผลักดันให้ประเทศตัวเองเป็นประเทศที่ลดโลกร้อน ลดภาวะเรือนกระจก ตามเป้าหมายการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission) ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (Energy Transition) และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เกิดประโยชน์กับกลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และการจัดเก็บพลังงาน (Energy Storage) ที่ปัจจุบันก็มีสัดส่วนการใช้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ขณะที่ภาครัฐต่างก็ให้ความสำคัญกับประเด็น Zero Emission และมีแนวโน้มออกนโยบายมาสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ เช่น พลังงานหมุนเวียน รถยนต์ทางเลือก โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นในอนาคตก็จะได้เห็นเงินลงทุนเข้ามาในกลุ่มนี้ต่อเนื่องระยะยาว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกในปี 2030 ให้อยู่ที่ไม่มากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส และให้เป็น Zero Emission ให้ได้ภายในปี 2050 โดยเฉพาะการลงทุนโรงงานผลิตไฟฟ้าต่างๆ ที่ต้องลดการปล่อยคาร์บอนค่อนข้างมาก ตาม COP27

ทั้งนี้ Renewable Energy เป็นอุตสาหกรรมที่มีความคืบหน้าในการดำเนินการตาม Zero Emission มากที่สุด ซึ่งเราเชื่อว่าท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจถดถอยที่ลดลง รวมถึงวิกฤตพลังงานที่เริ่มบรรเทาลง จะทำให้เรื่องพลังงานสะอาดกลับมาถูกให้ความสำคัญมากขึ้น เช่นเดียวกับเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าที่จะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะเป็นการขนส่งที่สะอาด มีส่วนช่วยให้บรรลุเป้าหมาย Zero Emission ได้ โดยการลงทุนในธีม ESG นี้ เหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาวมากกว่าคาดหวังผลตอบแทนในระยะสั้น

สำหรับกองทุนรวมที่น่าสนใจ สอดคล้องกับธีม ESG ได้แก่ กองทุนเปิดเอ็มเอฟซีรีนิวเอเบิล เอนเนอร์จี (MRENEW-A) ซึ่งเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงระดับ 7 คือเสี่ยงสูง

กองทุนนี้ลงทุนใน BGF Sustainable Energy Fund เพียงกองทุนเดียว เป็นกองทุน ESG หุ้นต่างประเทศ เน้นลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับพลังงานยั่งยืน โดยเน้นลงทุนในกลุ่ม Clean Energy, Clean Transportation และ Energy Efficiency โดยจะลงทุนแบบ High Conviction ลงทุนในหุ้นเพียง 30-60 บริษัท

ทั้งนี้ MRENEW-A มีการลงทุนในหุ้นหลายประเภท ทั้ง NextEra บริษัทผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ หรือบริษัท LG Chem และ Samsung SDI ที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ต่างๆ เช่น Tesla, BMW ซึ่งกำลังได้รับความสนใจทั้งจากภาครัฐและเอกชนทั่วโลก

สำหรับผลการดำเนินงานของกองทุนนั้น มีการฟื้นตัวตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจากการที่ตลาดคลายความกังวล Bond Yield และการที่ราคาพลังงานในยุโรปสูงขึ้น ส่งผลให้หุ้นพลังงานทางเลือกเป็นกลุ่มที่นักลงทุนเริ่มเล็งเห็นความสำคัญมากขึ้น และการที่ Valuation ยังถูกอยู่ จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้กองทุนปรับตัวขึ้นได้ดีต่อเนื่อง ในระยะยาวนั้นมีโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนจากเทรนด์พลังงานสะอาด และ ESG ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ระยะสั้นก็มีโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการที่ปีนี้ Fed จะหยุดขึ้นดอกเบี้ย

โดยรวมแล้ว หากนักลงทุนต้องการลงทุนเพื่อคาดหวังผลตอบแทนที่น่าสนใจในระยะยาว ควบคู่ไปกับการใส่ใจในประเด็นสิ่งแวดล้อมด้วย การลงทุนในธีม ESG ที่เน้นกลุ่มธุรกิจอนุรักษ์พลังงาน เช่น MRENEW-A ก็คือทางเลือกที่น่าสนใจ

 

คำเตือน

  • กองทุนเปิดเอ็มเอฟซีรีนิวเอเบิล เอนเนอร์จี หรือ MRENEW-A มีความเสี่ยงระดับ 7 คือเสี่ยงสูง
  • การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
  • ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
  • เนื่องจากกองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
  • ศึกษาข้อมูลกองทุนหลักและหนังสือชี้ชวนกองทุนรวมได้จากเว็บไซต์ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ www.mfcfund.com

อ้างอิง:

  • SCB CIO NOTE เรื่อง 6 ประเด็นสำคัญในการลงทุนกับกระแส ESG เผยแพร่เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566
  • Morningstar
  • JPM