ทำไมคนรุ่นใหม่ถึง ‘ไม่อยากมีลูก?’ และการที่เด็กเกิดน้อยจะส่งผลกระทบในด้านเศรษฐกิจอย่างไร

ภาพโดย thedanw จาก Pixabay

เราจะคุยกับคนวัยทำงานในปัจจุบันว่าเขาฝันอยากมีอะไรในชีวิต คำตอบอาจจะเป็นการงานที่มั่นคง การเก็บเงินเพื่อเอาไปซื้อความสุข สุขภาพจิตที่ดีโดยไม่ต้องเป็นห่วงอะไรอีกแล้วในชีวิต การออกไปอาศัยอยู่ที่ต่างประเทศ และอีกมากมาย

หนึ่งในข้อสังเกตคือการมีลูกมักเป็นเรื่องท้ายๆ ในลิสต์ทั้งหมด แต่ว่ามันมีเหตุผลหรือเปล่า? อะไรทำให้คนหมู่มากในเจนหนึ่งๆ ละทิ้งสัญชาตญาณพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต เช่น การขยายเผ่าพันธุ์ได้? และมันหมายความว่าอย่างไรเมื่อมองในด้านเศรษฐกิจ

จากการสำรวจคน Gen Z โดย Ruby Home Real Estate พบว่า จากกลุ่มตัวอย่าง 1,024 คน มีเพียง 52% เท่านั้นที่นับว่าการมีลูกหรือรับเลี้ยงลูกเป็นเป้าหมายในชีวิตที่ต้องทำให้สำเร็จ ในงานวิจัยดังกล่าวยังบอกว่าเมื่อถามว่าอยากมีลูกกี่คน ซึ่ง 41% ตอบว่ามี 2 คนกำลังดี และมีอยู่ 27% ที่ตอบว่าไม่อยากมีเลยแม้แต่คนเดียว

เหตุผลที่ไม่อยากมีลูกนั้น โดยมากมาจากพวกเขาชอบการใช้ชีวิตที่ยืดหยุ่น และการมีลูกก็ใช้เงินมากเกินไป อีกทั้งพวกเขาให้ค่ากับเวลาที่ได้อยู่คนเดียวมากเกินกว่าจะอยากมีลูก ตรงกับเป้าหมายชีวิตสูงสุดของ Gen Z นั่นคือการมีชีวิตที่การเงินมั่นคงและสะดวกสบายที่ 98% ของกลุ่มตัวอย่างตอบ

และสถิติที่น่าสนใจอีกอย่างที่เอเจนซีทรัพยากรมนุษย์อย่าง Randstad ค้นพบก็คือ ผู้หญิงจาก Gen Y และ Gen Z มีโอกาสที่จะมีแรงผลักดันในอาชีพการงานมากกว่ารุ่นก่อน ทั้งความพยายามก้าวขึ้นไปยังตำแหน่งบริหาร การขอขึ้นค่าแรง เนื่องจากค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นสัญญาณว่าการทำงานไม่ใช่เพียงเรื่องของความทะเยอทะยานในอาชีพเท่านั้น แต่ในโลกปัจจุบันที่อะไรก็ขึ้นไปหมด การทำงานนั้นเป็นการเอาชีวิตรอด และการมีลูกคือค่าใช้จ่ายส่วนเกินที่อาจมีข้อเสียที่พวกเขาไม่พร้อมรับ

แต่จะให้วาดภาพที่แปลกตาเกี่ยวกับคน Gen Z คือสถิติเกี่ยวข้องกับความอยากมีบ้าน กล่าวคือโดยมากแล้วเราอาจจะคิดว่าความอยากมีบ้านมาจากความต้องการสร้างครอบครัว เช่นนั้นแล้วแปลว่าถ้าหาก Gen Z ไม่ต้องการมีลูก พวกเขาก็น่าจะไม่ต้องการมีบ้านไปด้วยตามระเบียบหรือเปล่า

แต่ในความเป็นจริง สถิติโดย Ruby Home ยังค้นพบว่า 87% ของกลุ่มตัวอย่างต้องการที่จะมีบ้านสักวันในชีวิตนี้ ไม่ได้เพราะพวกเขาต้องการครอบครัว แต่พวกเขาต้องการพื้นที่ส่วนตัว ที่พวกเขาควบคุมรูปลักษณ์ของมันได้ เราเรียกครัวเรือนเช่นนี้ว่า Dual Income, No Kid หรือย่อว่า DINK Household บ้านที่คู่รักอยู่ด้วยกัน แต่ทั้งคู่ทำงาน ไม่มีลูก

มนุษย์เรียนรู้จากอดีตของพวกเขา เหตุผลใหญ่ๆ ของความไม่ต้องการมีลูกของคนทำงาน Gen Z นั้นมาจากการสังเกตคนรุ่นก่อนหน้า จากสถิติโดย Duke University, Oxford Academy และ University of California ในอดีตพบว่า พ่อแม่จาก Gen Y รู้สึกกดดันจากหลากหลายปัจจัยในชีวิต

ทั้งค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ มาตรฐานของการเป็นพ่อแม่ที่ดีที่สูงขึ้น และการต้องเลี้ยงลูกในสถานการณ์โลกที่ไม่แน่นอน ไม่ว่าจะในเรื่องภาวะโลกร้อน สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง ไปจนการเมืองโลกที่โอนเอน และคน Gen Z จำนวนมากสังเกตประสบการณ์ของพวกเขา เทียบกับโลกที่ในหลายๆ มุมมองแย่ลงจากตอนรุ่นนั้นด้วยซ้ำ ทั้งจากภัยของสงคราม ไปจนโรคระบาดครั้งใหญ่ที่เปลี่ยนชีวิตคนทั้งโลก

แต่มัน (การไม่อยากมีลูก) จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง?

จากการวิเคราะห์โดยองค์กร International Strategic Analysis พบว่า อัตราการเกิดที่ต่ำลงอย่างเฉียบพลันทั่วโลกจะนำไปสู่การที่มีแรงงานเข้าสู่ตลาดงานน้อยลง ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีคนวัยทำงานต่ำลงจะต่ำไปอีก และในอีกฝั่งก็มีผู้บริโภคน้อยลงเรื่อยๆ และสังคมจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

อีกข้อที่น่าสนใจคือมันจะผลักโลกเข้าสู่ยุคแห่งอุตสาหกรรมอัตโนมัติ เมื่อมีคนทำงานได้น้อยลง อุตสาหกรรมย่อมต้องหาอะไรสักอย่างเพื่อมาทดแทนแรงงานที่หายไป โดยหนึ่งในตัวเลือกคือการสร้างหุ่นยนต์เพื่อทำงานแทนมนุษย์ในส่วนที่ความสามารถเฉพาะตัวของมนุษย์นั้นไม่ได้จำเป็น และจากข่าวคราวเกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์ รถยนต์ขับเคลื่อนตัวเอง และปัญญาประดิษฐ์ที่ดูเหมือนจะค่อยๆ เข้าถึงมือคนทั่วไปได้ และในหลายๆ กรณีเข้าถึงได้ฟรีๆ ผลกระทบข้อนี้ไม่ได้เกินจริงอีกต่อไปแล้ว

การแก้ปัญหาในประเด็นอัตราการมีลูกต่ำนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราสามารถชี้นิ้วบอกได้ว่าแก้ตรงนั้นแล้วทุกอย่างจะดีขึ้นได้ทันตา แต่ต้องเกิดความเปลี่ยนแปลงในหลากหลายแง่มุม ตั้งแต่นโยบายเกี่ยวข้องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นมากพอจะทำให้ประชาชนมั่นใจในการจะนำลูกของตัวเองเข้ามาในโลก การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ในบางประเทศไม่อนุญาตให้คนที่มีชีวิตอยู่ลืมตาอ้าปากได้ การจะมีลูกคงเป็นเรื่องที่ต้องเลิกนึกถึงไปก่อน และที่สำคัญคือการต้องเพิ่มความต้องการความมั่นคงในการเมือง ทั้งในระดับประเทศจนระดับโลก

ระหว่างนั้นในฐานะมนุษย์ เผ่าพันธุ์ที่เก่งในการแก้ปัญหาระยะสั้นด้วยการสร้างเครื่องมือที่อาจจะหรืออาจจะไม่ก่อปัญหาระยะยาว เราคงต้องจับตาการพัฒนาเอไอและเครื่องจักรว่ามันจะไปถึงไหนได้บ้างด้วยความระมัดระวัง ความตื่นเต้น ความกลัว และความพิศวงต่อไป

 

อ้างอิง: