สภาพัฒน์ชี้ ไทยจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ‘ต่ำเกินไป’ เทียบกับโลก หวั่นกระทบพื้นที่การคลังในอนาคต

 

สภาพัฒน์ชี้ ประเทศไทยจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ‘ต่ำเกินไป’ อาจกระทบพื้นที่การคลังในอนาคต เนื่องมาจากรัฐต้องจัดสรรงบประมาณด้านสวัสดิการแก่ประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aging Society)

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ได้เผยแพร่บทความ ‘ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา: แหล่งรายได้รัฐ และเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ’ โดยชี้ให้เห็นว่าปี 2564 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยคิดเป็นสัดส่วน 13.2% ของรายได้จากภาษีทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าภาษีที่จัดเก็บได้ทั้งสิ้น 337,779 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีมูลค่า 301,159 ล้านบาท แต่ถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศในโลก

โดยการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยในช่วงปี 2556-2564 มีสัดส่วนอยู่ระหว่าง 12.2-13.7% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในแถบเอเชียและแปซิฟิกที่มีสัดส่วน 16% ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว ไทยมีสัดส่วนต่ำกว่ามาก เช่น กลุ่มประเทศสมาชิก OECD ซึ่งมีสัดส่วนเฉลี่ยถึง 24.1% ขณะที่สหรัฐอเมริกามีสัดส่วนสูงถึง 51% ในปีงบประมาณ 2566

และเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ พบว่ามูลค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของไทยในปี 2564 อยู่ที่ 2.09% เท่านั้น ขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD มีสัดส่วนถึง 8.3% ซึ่งประเทศที่มีสัดส่วนสูงที่สุดคือเดนมาร์ก ซึ่งสูงถึง 24.5%

โดยหากพิจารณาแนวโน้มของสัดส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อ GDP ของไทย ยังพบอีกว่า ระหว่างปี 2556-2562 (ก่อนโควิด) สัดส่วนมีแนวโน้มลดลงทั้งที่เป็นช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งรัฐควรจะจัดเก็บรายได้มากขึ้น

 

ทำไมภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาถึงสำคัญ?

ภาษีถือเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐ เป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เช่น การแก้ปัญหาเงินเฟ้อ โดยการปรับเพิ่มอัตราภาษี เพื่อดึงเงินออกจากระบบและลดการใช้จ่ายของประชาชน หรืออาจควบคุมพฤติกรรมของประชาชน โดยการเก็บภาษีในสินค้าบางประเภท อาทิ สินค้าฟุ่มเฟือย

นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือกระจายรายได้ของคนในสังคม ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax) ซึ่งใช้หลักการจัดเก็บตามกำลังความสามารถ มีอัตราภาษีแบบอัตราก้าวหน้า (Progressive Tax) ที่เป็นการจัดเก็บภาษีกับผู้มีเงินได้สูงในอัตราที่สูงกว่าผู้มีเงินได้ต่ำ และภาษีที่จัดเก็บได้จะถูกนำไปจัดสวัสดิการต่างๆ ให้กับคนในสังคม โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย

 

การเก็บภาษีได้น้อยส่งผลต่อฐานะการคลังอย่างไร

ตามข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) สะท้อนให้เห็นว่าสัดส่วนรายได้ภาษีต่อ GDP ของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐเริ่มไม่เพียงพอกับรายจ่าย (ขาดดุลงบประมาณ) มาตั้งแต่ปี 2540 และมีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และตามข้อมูลฐานะทางการคลังของกระทรวงการคลังพบว่า ปีงบประมาณ 2565 ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุลสูงถึง 6.5 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2546 ที่ขาดดุลเพียง 4.1 หมื่นล้านบาท

โดยตามรายงาน Sustainable Financing of Social Protection in Thailand 2022 จัดทำโดย UNICEF ร่วมกับ TDRI ยังระบุว่า การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จาก 3 ล้านล้านบาทในปี 2566 เป็น 6.5 ล้านล้านบาทในปี 2585 เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของงบประมาณด้านสวัสดิการที่ให้กับประชาชน ท่ามกลางจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

เปิด 3 ปัญหาและสาเหตุ ‘ไทยเก็บภาษีเงินได้ต่ำ’

1. แรงงานไทยเกือบ 3 ใน 4 อยู่นอกระบบภาษี ตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ในปี 2564 ประเทศไทยมีผู้มีงานทำทั้งสิ้น 38.8 ล้านคน แต่จากข้อมูลผู้ยื่นภาษีของกรมสรรพากรกลับพบว่าปี 2564 มีผู้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ 91 เพียง 10.8 ล้านคนเท่านั้น และคิดเป็นสัดส่วนเพียง 27.7% ต่อผู้มีงานทำทั้งหมด อีกทั้งสัดส่วนดังกล่าวยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561

2. เงินได้บางประเภทไม่ต้องเสียภาษี ตามกฎหมายประมวลรัษฎากร มาตรา 40 ปัจจุบันระบุว่า รายได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีจำนวนทั้งสิ้น 8 ประเภท เช่น เงินได้จากการจ้างแรงงาน ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร อย่างไรก็ตาม เงินได้บางประเภทที่ได้รับการยกเว้นภาษียังเป็นแหล่งรายได้ที่มีมูลค่าสูง และสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้มีเงินได้อย่างมาก โดยเฉพาะกำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

3. การหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนเกินจำเป็น โดยจะเห็นได้จากกลุ่มผู้มีรายได้สูงมีแนวโน้มที่จะจ่ายภาษีลดลง เนื่องจากได้รับประโยชน์จากการหักค่าใช้จ่ายที่มากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ แม้ว่าการหักค่าใช้จ่ายจะเป็นการช่วยลดภาระทางภาษีให้แก่ประชาชน แต่เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนการใช้ประโยชน์จากการหักค่าใช้จ่ายของประชาชนแต่ละกลุ่มพบว่า กลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลางได้รับประโยชน์น้อยกว่ากลุ่มผู้มีรายได้สูง (ผู้มีเงินได้พึงประเมิน 4 ล้านบาทขึ้นไป) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ควรจ่ายภาษีมากที่สุด แต่กลับมีแนวโน้มที่จะจ่ายภาษีลดลงเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากมูลค่าค่าใช้จ่ายที่สามารถหักได้จะเพิ่มมากขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น

 

ข้อเสนอแนะ

1. นำคนทุกกลุ่มเข้ามาอยู่ในระบบภาษี โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ โดยต้องพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่กำหนดเกณฑ์รายได้ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องยื่นภาษี ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการเข้าสู่ระบบภาษีของคนบางกลุ่ม เพื่อให้ผู้มีเงินได้ทุกคนเข้าสู่ระบบภาษี ซึ่งจะช่วยทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้มากขึ้น และจะเป็นประโยชน์ในการทำฐานข้อมูล เพื่อจัดทำนโยบายและมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ที่เหมาะสมมากขึ้นด้วย

2. ทบทวนการยกเว้นภาษีให้แก่รายได้บางประเภท เนื่องจากการกำหนดการยกเว้นในอดีตนั้นเป็นไปเพื่อหวังผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือสังคมบางประการ จึงควรทบทวนถึงความจำเป็นที่สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและไม่เป็นการเอื้อประโยชน์กลุ่มคนเพียงบางกลุ่ม

3. ทบทวนสิทธิประโยชน์การหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น โดยที่ยังสามารถช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนได้ และไม่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้มากเกินจำเป็น อีกทั้งจะต้องทบทวนรายการลดหย่อนบางประการที่อาจเอื้อต่อผู้มีรายได้สูงมากเกินไป

4. สื่อสารให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการจ่ายภาษี โดยการกำหนดนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการจ่ายภาษี อันจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มมากขึ้นและมีความมั่นคงทางการคลังตามมา และจะช่วยให้รัฐสามารถดำเนินกิจการในการยกระดับความเป็นอยู่ของคนในประเทศ รวมถึงพัฒนาในมิติต่างๆ ได้ต่อไป

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

ภาพประกอบ: กริน วสุรัฐกร