ตลาดจับตาทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ ลุ้น Fed ‘ยุติ-เดินหน้า’ นโยบายดอกเบี้ยขาขึ้น

การประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 มีนาคมนี้ กลายเป็นสถานการณ์สำคัญที่นักลงทุนส่วนใหญ่ทั่วโลกต่างจับตามองอย่างใกล้ชิดในเวลานี้ หลังจากที่ตัวเลขเงินเฟ้อยังคงมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บวกกับปัญหาวิกฤตธนาคารชั้นนำอย่าง Silicon Valley Bank และ Signature Bank ล้มละลายเพราะสาเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อของ Fed

รายงานระบุว่า ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนตลาดให้น้ำหนักกับความเป็นไปได้ที่ Fed จะระงับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมประจำเดือนมีนาคมนี้

โดยข้อมูลจาก CME Group ระบุว่า ความเป็นไปได้ที่ Fed จะระงับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 65% หลังจากที่ก่อนหน้านี้เพียงไม่นาน ตัวเลขอยู่ที่ก้ำกึ่งกัน โดยมีผู้ที่เห็นว่า Fed จะระงับการขึ้นดอกเบี้ยอยู่ที่ 50% และผู้ที่มองว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 50%

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ประเมินว่ามีความเป็นไปได้ที่ เจอโรม พาวเวลล์ (Jerome Powell)  ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และคณะกรรมการ Fed จะตัดสินใจเกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยดูรายงานเศรษฐกิจมหภาคที่ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนข้อมูลจากธนาคารในภูมิภาคและราคาหุ้น ซึ่งน่าจะให้เบาะแสที่มากขึ้นเกี่ยวกับสถานะของภาคการเงินของสหรัฐฯ ในเวลานี้

โดยธนาคารขนาดเล็กได้รับแรงกดดันอย่างหนักในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา หลังจากการปิดตัวของ Silicon Valley Bank และ Signature Bank ซึ่งเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่เป็นอันดับสองและสามในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ

นอกจากนี้ รายงาน ETF ของธนาคารภูมิภาค SPDR ลดลงอีก 1.5% ในวันพุธ (15 มีนาคม) และลดลงมากกว่า 23% ในช่วง 5 วันทำการซื้อขายที่ผ่านมา

ยิ่งไปว่านั้น Fed ยังเตรียมประเมินแผนการให้ความช่วยเหลือภายใต้โครงการ Bank Term Funding Program (BTFP) ซึ่งจะอำนวยความสะดวกแก่ธนาคารในการแลกเปลี่ยนหลักประกันคุณภาพสูงสำหรับเงินกู้ เพื่อให้ธนาคารสามารถดำเนินการได้ โดย Fed เตรียมพิจารณาว่าโครงการช่วยเหลือดังกล่าวทำงานได้ดีเพียงใด รวมถึงสามารถรักษาความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมการเงินของสหรัฐฯ ได้มากน้อยแค่ไหน

ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า หากธนาคารใช้ BTFP ในระดับมาก อาจบ่งบอกถึงปัญหาด้านสภาพคล่องอย่างมีนัยสำคัญของภาคการเงินการธนาคารในสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยระลอกใหม่ของ Fed โดย Fed สามารถอัปเดตข้อมูลโครงการได้จนถึงสองวันก่อนเริ่มประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินของ Fed

ด้านนักกลยุทธ์ส่วนหนึ่งชี้ว่า Fed น่าจะใช้ความระมัดระวังในการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ แต่โดยรวมแล้ว Fed ยังคงให้น้ำหนักกับการปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป แล้วหามาตรการอื่นๆ เข้าไปจัดการแทน หลังรายงานข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุดของสหรัฐฯ อย่างดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index: PPI) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ลดลงเหลือ 4.6% จากเดิมที่ 5.7% ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ขณะที่ Ian Shepherdson หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Pantheon Macroeconomics กล่าวว่า ความเป็นไปได้สูงที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน PPI หลักจะขยายตัวอย่างรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง เป็นหัวใจสำคัญของการปรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และนโยบายของ Fed ต่อไป

 

อ้างอิง: