กรุงเทพฯ 28 มีนาคม 2566 – รายงานการศึกษาล่าสุดของยูนิเซฟ ซึ่งจัดทำโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยและได้รับการเผยแพร่ในวันนี้ ระบุว่า เด็กในประเทศไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเด็กในจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช และนราธิวาส คือกลุ่มที่เผชิญความเสี่ยงสูงสุด
การศึกษา การประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมต่อเด็กในประเทศไทย เป็นรายงานฉบับแรกในประเทศไทยที่ศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเด็กเป็นการเฉพาะ โดยจำแนกตามจังหวัด รายได้ ความพิการ และอายุ รายงานดังกล่าวยังนำเสนอดัชนีความเสี่ยงต่อสภาพภูมิอากาศของเด็ก (Child-Sensitive Climate Risk Index) ซึ่งสะท้อนปัจจัยต่าง ๆ ในประเทศไทย ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ อากาศร้อนจัด ความหนาวเย็น น้ำท่วม ภัยแล้ง รวมทั้งการมีสถานบริการสุขภาพและบริการสังคมในแต่ละจังหวัด เพื่อสนับสนุนภาครัฐบาล ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจในการจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินการเพื่อบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและชุมชน
รายงานการประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมต่อเด็กในประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่าเด็ก ๆ ทีเปราะบางต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ ภัยแล้ง คลื่นความร้อน และน้ำท่วม มากที่สุด อาศัยอยู่ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหลือและภาคใต้ของประเทศไทย
แผนที่ความเสี่ยงจากการศึกษาฉบับนี้เผยให้เห็น 10 จังหวัด (อุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีษะเกษ นครศรีธรรมราช นาราธิวาส สุรินทร์ สงขลา บุรีรัมย์ ขอนแก่น และสุราษฎร์ธานี) มีความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2578 โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ RCP4.5 (มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับปานกลาง)
รายงานดังกล่าวระบุว่า ภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อเด็กในประเทศไทย คือ ภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง และอากาศร้อนจัด ซึ่งอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ การแพร่กระจายของเชื้อโรค และความไม่มั่นคงทางอาหาร ปัญหาดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพ พัฒนาการ และความเป็นอยู่ของเด็ก ซึ่งมีความเปราะบางต่อภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากพวกเขามีระบบภูมิคุ้มกันและระบบประสาทที่อ่อนแอกว่า อีกทั้งยังต้องพึ่งพิงผู้ใหญ่ในเรื่องความปลอดภัยและความเป็นอยู่โดยรวม
นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการ องค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย กล่าวในงานแถลงผลการศึกษาชิ้นนี้ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ โดยยูนิเซฟและกรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่า “ทุกวันนี้ เราเห็นผลกระทบของน้ำท่วม ภัยแล้ง ฝุ่นมลพิษ และสภาพอากาศร้อนจัดในประเทศไทยอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาวะทั้งทางร่างกายและจิตใจของเด็ก และกระทบต่อพัฒนาการของเด็กในระยะยาว ทำให้เด็ก ๆ เสี่ยงที่จะไม่สบาย ขาดเรียน หรือเข้าไม่ถึงบริการต่าง ๆ ที่จำเป็น ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ การขาดสารอาหาร ความเครียด และความตื่นตระหนก หรือแม้กระทั่งการเสียชีวิตได้ เราอาจพูดได้ว่าภาวะเหล่านี้กำลังพรากอนาคตของเด็ก ๆ ไป อย่างไรก็ตาม แม้เรื่องนี้จะเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสิทธิเด็ก แต่กลับยังไม่ได้รับความสนใจและการแก้ไขเท่าที่ควร”
รายงานดังกล่าว ระบุว่า เด็กแต่ละกลุ่มกำลังเผชิญผลกระทบจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน โดยเด็กจากครอบครัวยากจน เด็กในชนบท เด็กพิการ และเด็กโยกย้ายถิ่นฐาน คือกลุ่มที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบมากที่สุด
รายงานของยูนิเซฟเมื่อปี 2564 จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 50 จาก 163 ประเทศที่เด็กมีความเสี่ยงสูงสุดต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ รายงาน The Coldest Year of the Rest of their Lives: Protecting Children from the Escalating Impacts of Heatwaves ของยูนิเซฟ ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2563 เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ในประเทศไทย จำนวน 10.3 ล้านคน หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 75 ของเด็กทั่วประเทศต้องเผชิญคลื่นความร้อนที่เกิดบ่อยครั้งขึ้น และหากยังไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง เด็กเกือบทุกคนในประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนสูงบ่อยครั้งขึ้นและยาวนานขึ้นภายในปี 2593
อย่างไรก็ดี รายงานดังกล่าวพบว่า นโยบายและแผนที่มีอยู่ในประเทศไทย เช่น แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558-2593และแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ยังไม่มีมาตรการเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง และยังขาดมาตรการเฉพาะเพื่อปกป้องเด็กจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม
รายงาน การประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมต่อเด็กในประเทศไทย ได้เสนอแนะแนวทางการดำเนินการเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเด็กในประเทศไทย ดังนี้
นโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องให้ความสำคัญกับเด็ก โดยต้องคำนึงถึงความต้องการของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ และต้องมีมาตรการที่จะปกป้องพวกเขาจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม
ส่งเสริมความตระหนักรู้ ความรู้ และทักษะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการดูแลสิ่งแวดล้อมให้แก่เด็ก ซึ่งรวมถึงกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา เพื่อให้พวกเขาเข้าใจว่ากำลังได้รับผลกระทบอย่างไร และจะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาได้อย่างไร
เสริมสร้างความเข้มแข็งและความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในชุมชนที่มีความเสี่ยงสูง ผ่านการเสริมสร้างความรู้และทักษะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสนับสนุนการเตรียมความพร้อม การป้องกัน และการตอบสนองต่อภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาระบบเตือนภัยและเฝ้าระวังที่มีประสิทธิผลและทันต่อเหตุการณ์ ที่ทุกคนรวมทั้งเด็กในกลุ่มเปราะบางที่สุด สามารถเข้าถึงและปฏิบัติตามได้ง่าย
สร้างพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วม ในการแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับวิธีการป้องกันและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตัวเอง
ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 27 หรือ COP 27 ที่จัดขึ้นในประเทศอียิปต์เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนมีบทบาทสำคัญมากขึ้น โดยเป็นครั้งแรกที่พวกเขาได้มีพาวิลเลียนและเวทีถกเถียงในประเด็นนี้เป็นของตัวเอง ที่ซึ่งพวกเขาได้เรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายและภาคธุรกิจเพิ่มความมุ่งมั่นและลงมือปฏิบัติอย่างแท้จริงเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก
ในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้เปิดตัว U-Report ซึ่งเป็นแชทบอทในแอพพลิเคชัน LINE ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้แบ่งปันแนวคิดและแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขา จากการสำรวจความคิดเห็นเยาวชนจำนวน 517 คน เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบว่า เกินครึ่งหนึ่งของเยาวชนที่ตอบแบบสอบถามบอกว่าพวกเขามีความรู้แค่ระดับพื้นฐานหรือแทบไม่มีความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลย และร้อยละ 63 บอกว่าพวกเขาไม่รู้ว่าจะต้องรับมือภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศอย่างไร
ในปี 2566 นี้ คณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติจะให้ข้อคิดเห็นทั่วไป (General Comment no.26) ด้านสิทธิเด็กและสิ่งแวดล้อม โดยเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอ้างอิงจากเสียงของเด็กและเยาวชนในชุมชนต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ข้อคิดเห็นทั่วไปนี้มุ่งเน้นให้รัฐบาลทั่วโลกมีมาตรฐานสากลในการปกป้องสิทธิเด็กจากผลกระทบของวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม
นางคิมกล่าวเสริมว่า “ทุกคนและทุกภาคส่วนของสังคมล้วนมีบทบาทในการสนับสนุนการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่ออนาคตของเด็กในวันนี้และเพื่อโลกที่อยู่อาศัยได้ในวันพรุ่งนี้ การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการเผยแพร่ข้อมูลและข้อเท็จจริง และที่สำคัญที่สุดคือ การให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับเด็กทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
ที่มา ไทยพับลิก้า