ความเสียหายจากวิกฤตใหญ่บีบให้ฝ่ายที่ได้รับผลกระทบต้องปรับตัว หรือเปลี่ยนแปลงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง พร้อมย้ำสัจธรรมที่ว่าไม่มีสิ่งใดยั่งยืน
เช่น วิกฤตโควิดที่ทำให้การหมุนของโลกตะกุกตะกัก ผู้คนต้องใช้ชีวิตอย่างอึดอัดใต้มาตรการล็อกดาวน์ โดยวิกฤตดังกล่าวบีบให้คนวัยทำงานทั่วโลกต้องทำงานอยู่แต่ในบ้าน จน Work from Home เป็นคำที่ทุกคนรู้จักและเข้าใจดีผ่านการปฏิบัติ
หลังโควิดซาลงไป โลกของชาวออฟฟิศก็เปลี่ยนอีกครั้ง สู่การทำงานแบบผสมผสาน (Hybrid Workspace) ปรับเป็นกลับเข้ามาทำงานในบริษัทสลับกับการทำงานอยู่บ้านหรือที่อื่น ๆ อย่างร้านกาแฟ
หรือโรงแรมที่รายล้อมด้วยทิวทัศน์ของธรรมชาติ เพื่อไม่ต้องรู้สึกอุดอู้อยู่แต่ในห้องจนความคิดตีบตัน ซึ่งเป็นปัญหาที่ชาวออฟฟิศต่างก็เคยเจอ
Hybrid Workspace ส่งผลต่อเนื่องให้เกิด Hybrid work disruption ที่โลกการทำงานไม่เหมือนเดิม เพราะชาวออฟฟิศไม่ได้นั่งประจำอยู่ที่โต๊ะตัวเอง ‘ตกแต่ง’ ที่ประจำด้วย รูปครอบครัว หนังสือที่อ่าน
และแผ่น Post-it พาดเสื้อโค้ตพาดสูทตัวเก่งไว้บนหลังเก้าอี้ เหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต
พฤติกรรมดังกล่าว เป็นการแสดงตัวตน ความเป็นเจ้าของ และสามารถเปิดบทสนทนา ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศในการทำงานและทำให้ประสิทธิภาพทำงานดีขึ้นได้อีกด้วย
Hybrid work disruption ทำให้หลายบริษัทจำเป็นต้องจัดผังโต๊ะทำงานกันใหม่ จึงแทบไม่มีโต๊ะประจำของพนักงานแต่ละคนอีกต่อไป จนผู้บริหารและเจ้าของบริษัทกังวลกันว่าประสิทธิภาพการทำงานจะลดลงไป
ทางออกของปัญหานี้คือการปรับไปเป็นผังโต๊ะทำงานแบบยืดหยุ่น (Flexible workspace) พร้อมปรับเปลี่ยนได้อยู่เสมอ เน้นความเปิดโล่ง แต่ก็ยังมีตู้ล็อกเกอร์หรือมีโซนให้ได้เก็บของใช้ส่วนตัว
ขณะเดียวกันก็มีโซนไว้ให้คุยงานส่วนตัวหรือทำงานแบบใช้สมาธิมาก ๆ ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจนจากพื้นที่ทั่วไป ผ่านการจัดแสงหรือกั้นให้เป็นสัดส่วน เป็นห้องเอาไว้ต่างหาก
Flexible workspace ยังมีประโยชน์เห็นได้ชัดอีกสองอย่าง โดยอย่างแรกคือ ความเปิดโล่ง ให้ความรู้สึกโปร่งช่วยให้ผุดไอเดียดี ๆ ออกมาง่ายขึ้น ต่างจากความอุดอู้อยู่ในคอกทำงานแบบออฟฟิศยุคเก่า
ส่วนอย่างที่สองคือ ทำให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกและความเสี่ยงโรคที่ติดต่อผ่านเชื้อที่ลอยในอากาศ หลังไอ-จามออกมา ซึ่งโควิดก็เป็นหนึ่งในนั้น
Hybrid work disruption ยังทำให้เกิดอีกเทรนด์ตามมา คือการเปิดบ้านตัวเองให้เพื่อนร่วมบริษัทเข้ามาทำงานด้วย (Home co-working)
แบบเดียวกับการเปิดสำนักงานพร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบครัน ให้หลาย ๆ คนในบริษัทมาใช้ร่วมกัน (Co-working space)
จนกลายเป็นธุรกิจทำเงินและมี WeWork เป็นบริษัทเบอร์ต้น ๆ ของวงการก่อนเกิดวิกฤตโควิดนั่นเอง
Home co-working ช่วยให้ Work from home ไม่เหงาจนเกินไปเหมือนที่ทำกันเต็มพิกัดช่วงติดล็อกดาวน์ เพราะสามารถพบปะพูดคุยเรื่องงานแบบเจอหน้าค่าตากันได้เลย ลดความเข้าใจผิดผ่านการติดต่องานผ่านออนไลน์ เครียดกับการต้องอยู่แต่กับตัวเอง
และตัดปัญหาการอยู่ท่ามกลางวงล้อมของคนไม่รู้จักตามร้านกาแฟ ส่วนหากอยากจะสังสรรค์หลังเลิกงานก็ทำได้เลยอีกด้วย
Home co-working ยังเปิดโอกาสให้พนักงานรุ่นต่าง ๆ ได้คุยกันบ้าง และเปิดทางให้ Gen Z พนักงานรุ่นใหม่สุด ได้พบปะกับรุ่นพี่ ๆ เพื่อสอนงานและกระชับความสัมพันธ์ ซึ่งที่สุดจะช่วยให้ความอึดอัดจากการถูกบีบให้อยู่แต่ในโลกออนไลน์ ตั้งแต่สมัยเรียนและเริ่มสู่วัยทำงาน
อันเป็นหนึ่งในสาเหตุให้เกิดความเครียดสะสมจากวิกฤตรุมประดัง ของ Gen Z ลดลงไปได้บ้าง
ที่มา marketeeronline