(10 พ.ค. 66) มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ผนึกกำลังร่วมกับภาคีเครือข่าย Kick off สร้างบ้านปลา เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ จำนวน 100 ซั้ง รอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ภายใต้โครงการพัฒนาอาชีพ ตามดำริ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นำโดย นายธนา ไชยานุวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากรอ นายสัน และตี ประธานกลุ่มประมงอาสาชุมชนบ้านบางไหน นายบรรจง นะแส ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง สมาคมรักษ์ทะเลไทย และนายกฤตยรัฐ ปารมี ผู้ช่วยเลขาธิการ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท รวมทั้งชาวบ้าน ชาวประมงอาสา และเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลปากรอ ได้เข้าร่วมกิจกรรม สร้างบ้านปลา ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เพื่อรณรงค์สร้างจิตสำนึก และตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาด้านการลดลงของทรัพยากรสัตว์น้ำ แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมและชุมชนในพื้นที่ ให้เห็นความสำคัญของ การปกป้องและฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา จ.สงขลา
ตลอดระยะเวลา 35 ปี ที่ผ่านมา มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ได้ดำเนินงานตามแนวทางพระราชดำริฯ ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัญชา 3 ประโยชน์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยมุ่งเน้นสร้างประโยชน์ให้แก่ ประเทศชาติ ประชาชน และองค์กร โดยการเดินหน้ายุทธศาสตร์ 5 ปี ฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา ก็เป็นหนึ่งแผนงานที่ได้ดำเนินงานเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง พัฒนา ประชาชน ชุมชน ให้เกิดความเข้มแข็ง อันเป็นเสาหลักสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศชาติ ให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองต่อไปในอนาคต
โดยนำร่องสร้างบ้านปลา ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ 3 จุด จุดละ 20 ซั้ง บริเวณรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ได้แก่ ทะเลสาบตอนบน ชุมชนบ้านหัวป่าตก ต.บ้านขาว อ.ระโนด ทะเลสาบตอนกลาง ชุมชนบ้านบางไหน ต.ปากรอ อ.สิงหนคร, และทะเลสาบตอนล่าง ชุมชนวัดแหลมจาก ต.ป่าขาด อ.สิงหนคร ซึ่งต่อจากนี้จะดำเนินการสร้างบ้านปลา ในอีก 2 จุด คือ ชุมชนวัดป่าขาด ต.ป่าขาด อ.สิงหนคร และ ชุมชนบ้านท่าหิน ต.ท่าหิน อ.สทิงพระ จ.สงขลา ให้แล้วเสร็จ รวม 100 ซั้ง
ก่อนเริ่มสร้างบ้านปลา ได้มีสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระหว่าง ผู้นำชุมชน ภาคประชาสังคม มูลนิธิฯ และภาคประชาชน ร่วมกันให้ข้อคิดเห็น และแนวทางการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา นอกจากนี้ยังจัดพื้นที่ให้ชาวบ้านทุกคนได้เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นว่า “คุณอยากให้มูลนิธิฯ เข้ามาสนับสนุนงานด้านไหนมากที่สุด” อีกด้วย ถือเป็นการรับฟังข้อเสนอแนะ และความต้องการของชุมชนโดยตรง เพื่อนำมาปรับเป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านฟื้นฟูทะเลสาบสงขลาต่อไป
นายกฤตยรัฐ ปารมี กล่าวว่า “วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินหน้า ยุทธศาสตร์ทะเลสาบสงขลา ที่เราได้มาร่วมแรงร่วมใจกันสร้างบ้านปลา และรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน มูลนิธิฯ จะขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการฟื้นฟูและอนุรักษ์ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยผนึกกำลังร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้ง ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยในพื้นที่ นอกจากนี้มูลนิธิฯ ยังมีแนวทาง การพัฒนาอาชีพ คน และชุมชน ที่จะมาสนับสนุนชุมชนทะเลสาบสงขลา ให้มีความเข้มแข็งในทุกมิติ เพราะเราเล็งเห็นว่าลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและวิถีของชุมชนโดยรอบ ถือเป็นสมบัติอันดีงามควรค่าแก่การอนุรักษ์และฟื้นฟูให้ยั่งยืนต่อไป”
ด้านผู้นำชุมชน นายธนา ไชยานุวงศ์ กล่าวว่า “รู้สึกยินดีอย่างมากที่ทางมูลนิธิฯ ได้เข้ามาสนับสนุนด้านการฟื้นฟูทะเลสาบ สร้างบ้านปลา เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ปลา และขยายพันธุ์ปลา ทำให้ทะเลสาบของเรากลับมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง และที่เลือกบริเวณนี้เป็นจุด Kick off เพราะเป็นเขตโรงเรียน ที่นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปลูกฝัง สร้างความตระหนักรู้ ให้กับเด็ก และเยาวชนในชุมให้เกิดความรัก ความหวงแหนในทะเลสาบสงขลาที่ซึ่งเป็นบ้านเกิดของตนต่อไป”
และทางด้าน นายบรรจง นะแส ตัวแทนภาคภาคประชาสังคมยังให้ข้อคิดเห็นว่า “ทะเลสาบสงขลา เปรียบเสมือนมดลูกครรภ์มารดา ที่ให้ชีวิตได้ลืมตาอ้าปาก เป็นอู่ข้าว อู่น้ำ สร้างอาชีพ มีรายได้ และทุกๆ ชีวิตล้วนแล้วแต่พึ่งพาท้องทะเลแห่งนี้ ถึงเวลาที่เราจะหันกลับมาหวงแหน ฟื้นฟู อนุรักษ์ทะเลสาบสงขลาให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และจัดการแก้ปัญหา ไม่ควรกลับไปซ้ำรอยเดิม”
การจัดกิจกรรมสร้างบ้านปลา ถือเป็นกิจกรรมนำร่อง ตามวิสัยทัศน์ของมูลนิธิฯ ในการขับเคลื่อนงานปี 2566 “จาก ภูผา ผืนนา สู่ มหานที” ผ่านโครงการพัฒนาอาชีพ ตามดำริ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ภายใต้แผนงาน “ยุทธศาสตร์ทะเลสาบสงขลา” ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรอันสำคัญของประเทศไทย ครบคลุม 5 ล้านไร่ ใน 3 จังหวัด จึงเกิดเป็นแผนงานขับเคลื่อน 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การปกป้องฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสาบสงขลา การพัฒนาอาชีพ และยกระดับรายได้ชุมชน และการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ปัจจุบันทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ กับหลัก SDGs ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งที่ผ่านมามูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบทได้ดำเนินงานสอดรับกับหลัก SDGs มาโดยตลอด และนี่จะเป็นอีกหนึ่งโครงการฯ ที่มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท จะได้ตอบแทนคุณแผ่นดิน สร้างความเปลี่ยนแปลงใช้กับชุมชน สังคม คน และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาความยั่งยืนให้เกิดแก่สังคมไทยต่อไปในอนาคต